ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน ๒๕๓๕ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวชนบทอีสานนิยมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย สร้างแบบหยาบๆ เพียงเพื่อการอยู่อาศัยชั่วคราว เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยของครอบครัวเดี่ยวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าชาวอีสานจะมีวิถีการปลูกเรือนอาศัยที่เรียบง่ายไม่เรื่องมาก แต่แท้จริงแล้วการครอบครอง “เรือน” หรือ “เรือนใหญ่” ซึ่งน่าจะหมายถึง ที่อยู่อาศัยที่มีบริเวณกว้าง และมีความคงทนถาวร ก็เป็นความความมุ่งหวัง และเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของชาวอีสานในอดีตเช่นกัน
“เรือนใหญ่” ต้องมีห้องอะไรบ้าง?
เรือนใหญ่ หรือเรือนประธานต้องมีห้อง ๓ ห้อง ได้แก่ ห้องเปิง (ห้องผีหรือห้องพระ) ห้องกลาง (ห้องนอนพ่อและแม่) และห้องส้วม
ห้องส้วม
ห้องส้วมในเรือนอีสานไม่ได้หมายถึงห้องน้ำ หรือห้องสำหรับถ่ายหนักเบาตามที่เข้าใจในสังคมปัจจุบันแต่หมายถึง “ห้องนอน” เป็นห้องสำหรับให้ลูกผู้หญิงที่โตเป็นสาวแล้วนอนรวมกัน สำหรับลูกที่ยังเล็กๆ ให้นอนรวมกับพ่อแม่ หรือบางครั้งก็นอนรวมกับพี่ๆ ตามความสะดวกของแต่ละบ้าน ส่วนลูกชายนั้นไม่มีห้องที่แน่นอน จะให้ไปนอนห้องไหนเรือนใครก็ตามสบาย เพราะถือว่าไม่เสียหายในทางสังคมเท่าลูกสาว
ห้องส้วม จะถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บ่อนนอนพี่อ้าย” หรือที่แปลได้ว่า “ห้องนอนพี่เขย” เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานและฝ่ายชายย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิงตามธรรมเนียมการแต่งเขยเข้าบ้านของชาวอีสาน โดยห้องที่ฝ่ายชายจะใช้อาศัยร่วมกับลูกสาวคนโตของบ้านนี้ก็คือห้องส้วม หลังจากที่ลูกเขยคนโตของบ้านย้ายเข้ามาอยู่ในห้องส้วมแล้ว ลูกสาวคนอื่นๆ ก็ต้องย้ายไปนอนที่ห้องกลางของพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ต้องย้ายไปนอนที่หน้าห้องกลางไม่ก็ที่ห้องเปิงเลย
จะเห็นได้ว่าเมื่อแต่งเข้าเขยคนหนึ่งก็ต้องขยับขยายย้ายที่นอนกันทั้งบ้าน ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ ถ้าลูกสาวคนถัดมาแต่งเขยเข้ามาอีกคน พ่อแม่และลูกคนอื่นๆ จะย้ายไปนอนที่ไหนได้อีก? เพราะห้องส้วมก็มีเพียงห้องเดียว
ปัญหาข้อนี้ชาวอีสานมีทางแก้ไขตามผญาภาษิตที่กล่าวว่า “น้ำใหม่เข้า น้ำเก่าออก” หมายถึงหากมีเขยใหม่เข้ามาอยู่ร่วมเรือนแล้ว เขยเก่าก็ต้องแยกเรือนออกไปทำมาหากิน สร้างเนื้อตัวใหม่เอง โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบที่นาให้เป็นทุน ดังนั้นน้ำใหม่ไล่น้ำเก่าในที่นี้ก็หมายถึงเขยใหม่ไล่เขยเก่า ไล่กันต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
ข้อมูลจากบทความ “ส้วม ห้องนอนในเรือนอีสาน” เขียนโดย สมชาย นิลอาธิ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน ๒๕๓๕
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2562