“หมาน้อย” ไม่ใช่ “หมาตัวเล็ก” แต่เป็นจานเด็ดของอิสาน

ลาบหมาน้อย หมาน้อย อาหาร อิสาน
ลาบหมาน้อย

“หมาน้อย” ไม่ใช่ “หมาตัวเล็ก” แต่เป็นจานเด็ดของ “อิสาน”

อิสาน มีวัฒนธรรมการกินอาหารที่แปลกมาแต่อดีต กล่าวคือ ชาวอิสานสามารถแสวงหาอาหารได้รอบตัวเช่น แมลงต่างๆ นก หนู และสัตว์อื่นๆ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมของชาวอิสานเองที่ชอบการเป็นอยู่หรือการดำรงชีวิตอิงอยู่กับธรรมชาติโดยมีป่าเป็นเสมือนแหล่งวัตถุดิบหลักในการนำมาประกอบอาหาร และ/หรือการที่ชาวอิสานเหล่านั้นต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจากธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง แหล่งน้ำเหือดแห้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดน้ำหลาก และความทุกข์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอื่น ทำให้บางครั้งไม่พอกิน ส่งผลให้ต้องหาอะไรได้ก็กินเพื่อประทังชีวิตไป

ถึงแม้ว่าในอดีตแผ่นดินอิสานจะแห้งแล้ง แต่ก็บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของชาวอิสานเองในการที่จะปรับตัวให้อยู่รอดต่อไป ส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์มากมายในบริเวณภูมิภาคนี้

เมื่อเรารู้ถึงธรรมชาติการกินของชาวอิสานคร่าวๆ แล้ว วันนี้ผู้เขียนขอหยิบยกเมนูอาหารพื้นบ้านชื่อแปลกของชาวอิสานที่ชื่อ “ลาบหมาน้อย” มานำเสนอให้ชมกัน หมาน้อยที่ว่านี้ไม่ใช่ลูกสุนัข 4 ขาที่เพิ่งคลอดมาจากท้องแม่สุนัข หากแต่เป็นพืชตระกูลหนึ่ง ที่นอกจากจะนำมารับประทานเป็นอาหารแล้วยังแฝงด้วยสรรพคุณในการเป็นยารักษาโรคร้อนในอีกด้วย

ลาบหมาน้อยนั้นทำมาจาก เครือหมาน้อย (ชื่ออื่นๆ กรุงเขมา กลาง นครศรีธรรมราช, หมอน้อย อุบลราชธานี, ก้นปิด ตะวันตกเฉียงใต้, ขงเขมา พระพาย ภาคกลาง, เปล้าเลือด แม่ฮ่องสอน, สีฟัน เพชรบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.) จัดเป็นพืชป่าตระกูลไม้เลื้อย มักอาศัยพันกับหลักหรือต้นไม้ พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทยโดยเฉพาะทางแถบภาคอีสานจะพบมาก มีลักษณะใบเดี่ยวรูปหัวใจ มีขนปกคลุมทั่วทั้งใบและท้องของใบดูคล้ายๆ ย่านางแต่ต่างกันที่ใบย่านางไม่มีขน

ที่มาของชื่อหมาน้อยนั้นสาเหตุที่แท้จริงไม่อาจทราบได้ แต่ก็มีบางคนบอกว่า เพราะใบของหมาน้อยมีขนนุ่ม เวลาเอามือลูบและจับจะมีลักษณะการสัมผัสนุ่มๆ เหมือนขนลูกสุนัขที่เพิ่งคลอด ชาวบ้านอิสานจึงเรียกต้นเครือนั้นว่า “ต้นเครือหมาน้อย”

เครือหมาน้อย (ภาพจากเว็บไซต์ 40 สรรพคุณและประโยชน์ต้นกรุงเขมา ! (เครือหมาน้อย) https://medthai.com/กรุงเขมา)

ส่วนวิธีการทำ หมาน้อย ก็ไม่ยากเพียงแค่เตรียมวัตถุดิบหลักได้แก่

ใบหมาน้อย 1 กำมือ, ป่น 1 ถ้วย, ตะไคร้ 1 ต้น, มะเขื่อขื่น 1/2 ผล, น้ำ 1/2-1 ถ้วย, ข้าวคั่ว, ต้นหอม, ใบผักชี, น้ำปลาร้า, เครื่องปรุงรสอื่นๆ

วิธีการทำ

1. ล้างใบหมาน้อยให้สะอาด ตะไคร้ มะเขื่อขื่น ต้นหอม ใบผักชี หั่นฝอย

2. ขยำใบหมาน้อยกับน้ำ จนออกเป็นเขียว เหลอเฉพาะกากใบสีขาวๆกรองเอากากออก

3. น้ำป่น (เครื่องจิ้มที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบตำละเอียด) ตะไคร้ มะเขื่อขื่น ข้าวคั่วลงผสม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา แต่งหน้าด้วยใบหอมและผักชี หมาน้อยที่ปรุงแล้วถ้าตั้งทิ้งไว้นานจะจับตัวเป็นวุ้น ชาวอิสานเรียกว่า “เป็นตัว” จะรับประทานอร่อย

หมาน้อย นั้นนอกจากจะเป็นอาหารแล้วยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาแก้ร้อนใน ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในด้านการใช้เป็นยาอาจะมีวิธีการปรุงแต่งไม่เหมือนกัน เพราะบางครั้งอาจใช้เฉพาะราก ใช้เฉพาะใบ หรือเฉพาะเครือ เป็นต้น

ในปัจจุบันนั้น เราอาจไม่คุ้นชื่อกันแต่หากถามคนเฒ่าคนแก่แถวอีสานแล้ว จะรู้จักกันเป็นอย่างดีว่านี้คืออาหารสุดแซ่บอย่างหนึ่งที่ตกทอดกันมา เป็นสิ่งแสดงถึงการดัดแปลงปรับตัวของบรรพบุรุษอีสานอันชาญฉลาดที่นำเครือพืชมาประกอบอาหารและเป็นยาได้อย่างลงตัว ควรเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นหลัง (โดยเฉพาะชาวอิสาน) จะอนุรักษ์และสืบสานต่อไป เพื่อเยาวชนรุ่นหลังจะได้สัมผัสถึงคุณค่าอาหารที่มากกว่าอาหาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอิสาน เล่ม 14

ครัวชาวบ้าน/ “หมาน้อย” อาหารพื้นบ้านชาวอิสาน : เทคโนโลยีชาวบ้าน คอลัมน์ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2558

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=146


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2562