ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เหมาไถ” (Maotai) เป็นแบรนด์ “สุราจีน” ขึ้นชื่อ จนสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม แห่งมณฑล “กุ้ยโจว” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เคยระบุว่า มณฑลกำลังพิจารณากฎระเบียบ เพื่อปกป้องแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตเหมาไถ แบรนด์สุราชั้นนำของประเทศ
รายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหัวเผยว่า กฎระเบียบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในการผลิต สุราจีน “เหมาไถ” และส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรม เนื่องจากน้ำในแม่น้ำชื่อสุ่ยถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสุราเหมาไถ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับโรงกลั่นสุรามากกว่าพันแห่งด้วย
ภูมิอากาศและพืชพันธุ์ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ในท้องถิ่น ทำให้รสชาติของสุราเหมาไถมีความพิเศษ โดยจัดเป็น สุรา ประเภท “เจี้ยงเซียง” (sauce-fragrances) เนื่องจากจะทิ้งกลิ่นหอมคล้ายซอสถั่วเหลือง ที่มีความบริสุทธิ์ อ่อนละมุน
เหมาไถซึ่งเป็นแบรนด์เหล้ายักษ์ใหญ่ของจีน คือสุราจากข้าวฟ่าง ผลิตโดยบริษัทกุ้ยโจว เหมาไถ (Kweichow Moutai) และเป็นแบรนด์เหล้าขาวชั้นยอดของจีน ซึ่งมักถูกเสิร์ฟบ่อยครั้งในโอกาสทางการและงานจัดเลี้ยงระดับประเทศ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มหรูและเป็นของขวัญที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนาน
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ในโอกาสสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ประเทศจีน (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518) การลงนามเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ทางการจีนเป็นเจ้าภาพเสียส่วนใหญ่ รายการเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่เลี้ยงแขกเมือง นอกจาก “เบียร์ไทยตราสิงห์” เบียร์ยี่ห้อเดียวของไทยในเวลานั้น ยังมี เหมาไถ สุราจีน, ไวน์แดง, น้ำส้มของจีนยี่ห้อเมฆขาว และน้ำดื่ม
เหมาไถเป็นตำบลขนาดเล็กที่กลายเป็นแหล่งผลิตเหล้าขาวเหมาไถชื่อดัง ซึ่งทำมาจากข้าวฟ่างและข้าวสาลี รวมถึงใช้เวลามากถึง 1 ปี กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตอันประกอบด้วยการนึ่ง 9 ครั้ง การหมัก 8 ครั้ง และการกลั่น 7 ครั้ง ก่อนจะนำไปบ่มในไหดินเผา
เหมาไถมีโรงกลั่นสุราที่ตำบลเหมาไถ เมืองเหรินหวย มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งมีทั้งการตรวจสอบสภาพยีสต์ ผสมธัญพืชกับยีสต์ ให้ความชื้นแก่ธัญพืช และบรรจุหีบห่อ
รายงานข่าวจากสื่อจีนเผยว่า รายได้จากการขายของกุ้ยโจวเหมาไถในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 มีตัวเลขมากกว่า 7.46 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตขึ้นร้อยละ 11.05 เมื่อเทียบเป็นรายปี
ด้วยชื่อเสียงและความนิยมของแบรนด์ ทำให้ที่ผ่านมามีการปลอมแปลงลอกเลียนแบบสินค้าขึ้น ศาลประชาชนระดับสูงในเมืองจุนอี้ของกุ้ยโจวได้ตัดสินลงโทษกลุ่มผู้ต้องสงสัยซึ่งมีความผิดฐานผลิตสุราเหมาไถปลอมจำนวนมาก ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ซึ่งอยู่ติดกับกุ้ยโจว เมื่อปี 2019
กลุ่มผู้ต้องสงสัยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 พร้อมยึดสุราปลอมได้มากกว่า 27,000 ขวด โดยตำรวจพบว่ารายได้จากการทำผิดกฎหมายครั้งนี้รวมอยู่ที่มากกว่า 41 ล้านหยวน (ราว 189 ล้านบาท) โดยพวกเขาได้รับโทษจำคุกระหว่าง 1 ปี ไปจนถึง 5 ปีครึ่ง
ในเดือนพฤศจิกายน 2017 เหมาไถเปิดตัวในตลาดแอฟริกาเป็นครั้งแรก ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และนี่เป็นครั้งที่สองที่เหมาไถได้เดินหน้าบุกทวีปแอฟริกาอีกครั้ง
จีนมีวิสัยทัศน์ที่จะดำเนินธุรกิจกับต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือและพัฒนาร่วมกัน ส่งเสริมความจริงใจ ศรัทธา และผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน
บริษัทเหมาไถเข้าสู่แทนซาเนีย ด้วยการจัดตั้งสมาคมผู้ชื่นชอบเหมาไถ (Moutai Fans Alliance) แห่งแรกในแอฟริกา ทำให้วิสัยทัศน์ของผลประโยชน์ที่มีร่วมกันลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมด
ในปี 2018 เหมาไถ มีรายได้ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.97 แสนล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.83 แสนล้านบาท) สินทรัพย์รวมในเวลานั้นมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.46 แสนล้านบาท)
เมื่อปี 2018 กุ้ยโจว ประกาศแผนจะพัฒนาตนเองสู่การเป็นฐานอุตสาหกรรมสุราระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายผลิตเหล้าขาวไป่จิ่ว (baijiu) ซึ่งเป็นเหล้าบริสุทธิ์ทำจากข้าวฟ่างและธัญพืชอื่นๆ ให้ได้ 600,000 กิโลลิตรต่อปี ภายในปี 2025
ขณะเดียวกันกุ้ยโจวจะผลักดันให้มูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมสุราแตะ 2.5 แสนล้านหยวน (ราว 1.18 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025 ด้วย
นอกเหนือจาก สุราจีน อย่าง “เหมาไถ” แล้ว กุ้ยโจวยังจะมุ่งมั่นส่งเสริมแบรนด์สุราในประเทศให้มากขึ้น รวมถึงรับรองการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อขยายกำลังการผลิตสุราอย่างต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม :
- ของดี? ของอร่อย? ของไทยที่ขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน
- “แม่โขง” ชื่อยี่ห้อวิสกี้ที่มาจากเพลงปลุกใจ เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน
- เปิดชีวิต ประจวบ ภิรมย์ภักดี นักปรุงเบียร์คนแรกของไทย ผู้สืบทอดตํานาน “ตราสิงห์”
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจากรายงานในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว (‘กุ้ยโจว’ เล็งออกกฎปกป้องแม่น้ำที่ใช้ในการผลิต ‘เหล้าเหมาไถ’) เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบกับเนื้อหาอื่นจากบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565