ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดชะตาชีวิตของ “หลี่ว์เหมิงเจิ้ง” บัณฑิตตกยาก ที่มีแค่น้ำต้มหมูไว้สำหรับไหว้เจ้าในช่วง “ตรุษจีน”
ช่วงเทศกาลตรุษจีน มีคำแนะนำมากมายว่า ต้องใช้อะไรไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษ, ควรไหว้อย่างไร ฯลฯ จะได้เฮง จะได้รวย จะได้สมหวัง ที่เริ่มตั้งแต่ข้าวของทั่วไปจนถึงของหายากราคาแพง แต่ใช่ว่าของที่น้อยด้อยค่าไหว้แล้วจะไม่สมปรารถนา
พงศาวดารกระซิบของจีน มี “บัณฑิตตกยาก” ที่ไหว้เพียง “น้ำต้มหมู” จนเทพเซียนเห็นใจมาแล้ว
เขาก็คือ หลี่ว์เหมิงเจิ้ง (พ.ศ. 1487-1554) เสียงจีนแต้จิ๋วว่า หลื่อหม่งเจ่ง บ้านเกิดอยู่ที่ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน หลี่ว์เหมิงเจิ้ง มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีตำแหน่งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดีที่มีผลงานยอดเยี่ยมชื่อเสียงดีงาม ทั้งยังเป็นบุคคลที่เปาบุ้นจิ้นยกย่องถือเป็นแบบอย่างที่ต้องการเจริญรอยตาม
หากชีวิตก่อนหน้านี้ของหลี่ว์เหมิงเจิ้งนั้นยากจนข้นแค้นยิ่ง
เขายากจนขนาดที่เรียกว่า “ไม่มีบ้านให้อาศัย” จึงได้แต่อาศัยเตาเผาถ้วยชามร้างเป็นที่พักพิง หลี่ว์เหมิงเจิ้งรับจ้างเขียนหนังสือ แต่งโคลงกลอนยังชีพ เพราะมีความรู้ดี ดีชนิดที่ว่าได้เข้าสอบจอหงวนทีเดียว ภายหลังแม้หลี่ว์เหมิงเจิ้งแต่งงานกับแม่นางจากตระกูลหลิวที่มั่งคั่ง แต่ครอบครัวฝ่ายหญิงรังเกียจ จึงต้องอยู่อย่างยากจนต่อไป
ความจนของหลี่ว์เหมิงเจิ้งสะเทือนฟ้าสะเทือนดิน จนเทพเซียนทนไม่ได้
ตำนานเล่าว่า ใกล้ เทศกาลตรุษจีน เขาไม่มีเงินจะจับจ่ายซื้อหาข้าวของมาไหว้พระเจ้าบรรพชน แม่นางหลิว ผู้เป็นภรรยา มอบตุ้มหูทองสมบัติติดกายชิ้นสุดท้ายให้ไปใช้ซื้อของไหว้ แต่พ่อค้าของใจร้ายให้หมูมาชิ้นเดียว หลี่ว์เหมิงเจิ้งนำกลับมาต้ม เตรียมจะไหว้เจ้าเตาไฟในวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์
แต่พ่อค้าที่ขายหมูให้กลับคิดเอาเองว่า หลี่ว์เหมิงเจิ้งยากจนถึงเพียงนี้ ตุ้มหูทองที่เอามาแลกของ เห็นทีจะเป็นของปลอมเป็นแน่ จึงตามชิงเอาหมูที่ต้มเสร็จกลับไป ด้วยความโมโหก็หยิบขี้เถ้าซัดใส่น้ำต้มหมูด้วย หลี่ว์เหมิงเจิ้งเสียใจมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้แต่เพียงใช้น้ำต้มหมูปนขี้เถ้าไหว้เทพเจ้าด้วยความเคารพเต็มเปี่ยม
เจ้าเตาไฟนำเรื่องไปรายงานบนสวรรค์ เหล่าเทพเซียนต่างตื้นตันใจมาก
การสอบจอหงวนในฤดูใบไม้ผลิปีใหม่ที่กำลังจะถึง หลี่ว์เหมิงเจิ้งหนุ่มอายุ 20 ปีได้คะแนนเท่ากับ เหลียงเฮา เฒ่าอายุ 77 ปี ผู้สอบตกมาหลายครั้งแต่ไม่ท้อ ทว่าทวยเทพซาบซึ้งในศรัทธาของหลี่ว์เหมิงเจิ้ง ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า เหลียงเฮาเป็นคนมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แต่หลี่ว์เหมิงเจิ้งยากจนถึงเพียงนี้ หากไม่เร่งช่วยเหลือ ชีวิตนี้คงจบสิ้น
เทพเซียนจึงดลใจฮ่องเต้ให้เลือกหลี่ว์เหมิงเจิ้งเป็นจอหงวนในปีนั้น ส่วนเหลียงเฮาเข้าสอบอีกในรอบถัดไปซึ่ง 3 ปีสอบครั้ง จึงได้เป็นจอหงวนเมื่ออายุ 80 ปี (ตามประวัติศาสตร์จริง เหลียงเฮา (พ.ศ. 1506-1547) สอบจอหงวนได้เมื่ออายุ 22 ปี หลี่ว์เหมิงเจิ้งสอบได้เมื่ออายุ 33 ปี)
เรื่องเล่าของหลี่ว์เหมิงเจิ้ง มีการนำเนื้อหาไปแสดงเป็น “บทเบิกโรงอวยพร ป่วงเซียง(扮仙)” เป็นสิริมงคล ชื่อเรื่องว่า จิงเฉิงหุ้ย (京城会) แต้จิ๋วว่า “เกียเซี้ยหวย” แปลว่า “พบกันที่เมืองหลวง” โดยให้ตัวพระตัวนางแสดงเป็นหลี่ว์เหมิงเจิ้งเมื่อสอบจอหงวนได้แล้ว รับฮูหยินมาอยู่ที่เมืองหลวง มีความหมายถึงความสุขสมหวัง
อ่านเพิ่มเติม :
- วันจ่ายช่วงตรุษจีน เมื่อก่อนเคยซื้อเป็ด-ไก่ตัวเป็นๆ หิ้วกลับบ้าน
- ไหว้อะไร? ในเทศกาลตรุษจีนที่ไทยมี แต่ที่จีนแทบไม่มีการไหว้
- “เจ้าเตา” สั่งมนุษย์ทำความสะอาดบ้านรับ ตรุษจีน เมื่อ “เง็กเซียนฮ่องเต้” หมายหัว!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557
พรพรรณ จันทโรนานนท์. “งิ้วเบิกโรง: เรื่องสิริมงคลของชาวจีน” ใน, งิ้ว, โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ร่วมกับคณะศิลปะศาสตร์ และโครงการจัดตั้งคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2543
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565