เส้นทาง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ สู่ราชาเพลงแหล่ และแต่งเพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ภาพจาก มติชน, https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3128744

บรรดาศิลปินเพลงพื้นบ้านที่โดดเด่นของไทยยุคนี้ ย่อมต้องมีชื่อ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ อย่างแน่นอน กว่าจะมาเป็น “ราชาเพลงแหล่” ซึ่งคนทั่วประเทศรู้จักคุ้นเคย ตำนานศิลปินท่านนี้ผ่านเส้นทางมามากมาย

ข้อมูลเกี่ยวกับนายไวพจน์ ในเอกสาร “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี” อธิบายไว้ว่า เดิมทีมีชื่อ-นามสกุลว่า ไวพจน์ สกุลนี (พาน สกุลนี) เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ในจังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวังน้ำเย็น ในบ้านเกิด

เมื่ออายุ 12 ปี ไวพจน์ เริ่มฝึกและหัดร้องเพลงอีแซว อันเป็นเพลงพื้นบ้านในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี จนสามารถร้องได้ในที่สุด กระทั่งอายุ 14 ปี ไวพจน์ สามารถร้องเพลงแหล่ได้ และเริ่มหัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง

ต่อมาในวัย 16 ปี ไวพจน์ เข้าประกวดงานร้องเพลงครั้งแรก และสามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 มาได้ จากบทเพลง “จันทโครพ” ซึ่งเป็นเพลงแหล่ของพร ภิรมณ์

ในช่วงเวลาหนึ่ง เพลงลูกทุ่งเป็นที่นิยมและอยู่ในความสนใจของประชาชน ช่วงเวลานั้นมีนักร้องลูกทุ่งโด่งดังกันมากมาย หนึ่งในนั้นมี “ชัยชนะ บุญณะโชติ” และเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้นายไวพจน์ได้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง อีกทั้งยังตั้งชื่อ “ชื่อใหม่” ให้ว่า “ไวพจน์ เพชรสุวรรณ”

เอกสารดังกล่าวเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เมื่อชัยชนะ บุญณะโชติ นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตง และเปิดรับสมัครประกวดร้องเพลงไปด้วย นายไวพจน์ ก็เข้าร่วมสมัคร เมื่อร้องไปแล้วได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม ชัยชนะ บุญณะโชติ จึงชักชวนให้เข้าวงการลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่

นอกจากนี้ ยังมี “ครูสำเนียง ม่วงทอง” นักแต่งเพลงชาวสุพรรณบุรีซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลง และทำเพลงให้แก่นายไวพจน์ จนทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพลงนั้นมีชื่อว่า “ให้พี่บวชเสียก่อน”

นอกจากความสามารถการร้องเพลงลูกทุ่งได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ไวพจน์ สามารถร้องเพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย เพลงแซว เพลงเรือ และสามารถตอบโต้ปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะเมื่อร้องเพลงแหล่ เวลาต่อมาจึงทำให้ไวพจน์ มีผลงานแผ่นเสียงเพลงแหล่มากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการยกย่องเป็น “ราชาเพลงแหล่” (วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี, 2542)

ไวพจน์ เป็นนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ที่ทำผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดอีกคนหนึ่ง เอกสารดังกล่าวระบุตัวเลขโดยคร่าวไว้ว่าประมาณ 2,000 เพลง รวมทั้งเพลงที่แต่งเอง และครูเพลงแต่งให้

นอกจากผลงานของตัวเองแล้ว ไวพจน์ ยังแต่งเพลงและสร้างชื่อเสียงให้แก่ลูกศิษย์จำนวนมาก มีศิษย์เอกที่โด่งดังอย่าง ขวัญจิต ศรีประจันทร์, เพชร โพธาราม และพุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลง แก้วรอพี่ และ นักร้องบ้านนอก) แถมยังมีบทบาทเป็น “หมอทำขวัญ” และได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540

กระทั่งวันที่ 12 มกราคม 2565 มีรายงานข่าวจากสื่อหลายแห่งว่า ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิตแล้ว


อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2565