สำนวน “อุ้มหมูทั้งมุ้ง” หมายความว่าอย่างไร?

(ภาพประกอบเนื้อหา, PATRICK KOVARIK / AFP)

เพื่อนครูรุ่นน้องถามผมว่า มุ้งนี่ เขากางให้หมูนอนด้วยหรือ?

ผมก็ตอบไปตามความจริงว่า ไม่เคยทราบ เพราะเท่าที่เคยรู้เคยเห็นที่ชาวบ้านกางมุ้งให้สัตว์นอนนั้น ก็มีแต่วัวแต่ไก่ตัวโปรดพิเศษเท่านั้น

Advertisement

แต่เธอก็แย้งว่า ก็สำนวน “อุ้มหมูทั้งมุ้ง” ไง ถ้าไม่มีใครจัดมุ้งให้หมูแล้ว จะเกิดสำนวนเช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร?

ที่จริงสำนวน “อุ้มหมูทั้งมุ้ง” แม้คนแต่ก่อนจะใช้พูดจาเปรียบเทียบกันอยู่ แต่สำนวนนี้ ราชบัณฑิตยสถานมิได้เก็บอธิบายไว้ในพจนานุกรม

ในส่วนความหมายนั้น สำนวนนี้มุ่งเปรียบเทียบอธิบายคนที่ไม่รู้จักจำแนก ไม่ใส่ใจว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ จึงมักไปคว้าเอาสิ่งไร้สาระประกอบเข้ามาด้วยเสมอ 

ดังเช่นที่พรรคฝ่ายค้านไปเห็นปกแฟ้มและเอกสารกู้ยืมเงินมีตราธนาคารกรุงไทย ไปทิ้งไว้ในสวนเมืองนนท์ ก็นำเสนอเป็นข่าวว่า ผู้ใหญ่ในธนาคารรีบทำลายหลักฐานก่อนที่ฝ่ายค้านจะนำไปประกอบอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่หากพิเคราะห์ให้ดีแล้วในปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครคิดทำลายเอกสารหลักฐานโดยขนไปทิ้งเช่นนั้นอย่างแน่นอน

แสดงว่า นักการเมืองคนที่สร้างข่าวไม่รู้จักจำแนก ไม่รู้จักคิดให้รอบคอบ จะเรียกว่าไปอุ้มหมูมาทั้งมุ้งก็ย่อมได้

ที่ผมบอกว่า คนแต่ก่อนเคยใช้สำนวนนี้…เพราะมีข้อเขียนในหนังสือพิมพ์กะดึงทอง ฉบับเดือนกรกฎาคม 2498 โดยผู้ใช้นาม พ.น.พ. เล่าถึงหนังสือพิมพ์ประตูใหม่ ครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ว่ามีการจัดประกวดโคลงกระทู้ และได้ยกสำนวนที่ได้รางวัลชมเชยให้เป็นตัวอย่าง มีโคลงกระทู้ อุ้ม หมู ทั้ง มุ้ง ดังนี้

อุ้ม ออต่ออุไม้   โทมอ สะกดเอย

หมู สระอูมอหอ   เช่นชี้

ทั้ง ทอสะกดงอ   ไม้ผัด โทพ่อ

มุ้ง สระอุโทนี้   กับด้วยมองอ ฯ

อุ้ม แฟมิลี่ขึ้น   รถโม เตอร์นอ

หมู ไขว่ขวางถนนโน   ติซชี้

ทั้ง คู่นั่งเคียงโส   ภาพิศ ผ่องเฮย

มุ้ง เซอะเอาม่านชี้   ฝุ่นฟุ้งบังบ๋อย ฯ

อุ้ม ชะลอมตักน้ำ   ดูขำ จริงเวย

หมู ผัดกะทิมัน   หมั่นไส้

ทั้ง จับเป็ดพนัน   ขันไก่

มุ้ง ม่านทำด้วยไม้   แบบนี้เบาเต็ง ฯ

การที่ในสมัยก่อนจัดประกวดโคลง โดยใช้สำนวน อุ้ม หมู ทั้ง มุ้ง เป็นกระทู้ ย่อมแสดงชัดเจนว่า สำนวนนี้เคยใช้กันในหมู่คนแต่ก่อนจริง ผมนำเสนอไว้เพื่อไม่ให้สูญ

คุณภาษิต จิตรภาษาบอกว่า ได้เคยเห็นโคลงกระทู้สำนวนนี้เช่นเดียวกัน และนำหนังสือ “โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” มาให้ดู มีโคลงกระทู้ว่าดังนี้

อุ้ม หมูมักห่อมุ้ง   นุงนัง

หมู หมกมุ้งมิดยัง   ไม่แย้ม

ทั้ง ผู้โอบอุ้มฟัง   ไม่ทราบ ชัดนา

มุ้ง ดุจความอ้อมแอ้ม   ดุจอ้างสว่างไฉน ฯ

เมื่อวันปีใหม่ พ.ศ. 2537 ผมอยู่ที่เมืองเติ๊ก อันเป็นศูนย์กลางชาวไทยขาวในเวียดนามเหนือ อากาศค่อนข้างหนาว ผมเห็นคุณแม่ของอาจารย์เหลือง หอบกุมฝอยเดินมุ่งไปที่เล้าหมู ผมจึงลองถามเป็นคำอีสานว่า เอาไปเฮ็ดหยัง ได้รับคำตอบว่า ให้หมูเย็ดมุ้ง

อย่าแปลกใจเลยครับ คำที่ในเมืองไทยพูดสู่กัน ฟังไม่ได้ ถือเป็นคำหยาบ แต่คนไทยทางเวียดนามเหนือเขาใช้กันทั่วไป ในความเกี่ยวกับเฮ็ด ทางอีสาน และทำ ในภาษาไทยกลาง

อาจารย์เหลืองบอกว่า มุ้ง นั้น หมู หมา มันทำกันหนาว ส่วนที่คนไทยขาวกางกันยุงนั้น เขาเรียกว่า เป้ย

ผมเดินไปดูที่เล้าหมู ว่ามันจะทำมุ้งอย่างไร พอได้เห็นก็นึกถึงตอนเป็นเด็ก อาการที่หมูมันทำนั้น ชาวสะตอเรียกว่า หมูกัดซุ้ม และมันจะทำเช่นนั้นตอนมันออกลูก

ก็เป็นอันได้ข้อสรุปว่า แต่เดิมนั้น คำ มุ้ง มิได้หมายถึงสิ่งกางกันยุงอย่างเดียว แต่หมายถึง ซุ้ม ได้อีกด้วย และมีพืชสมุนไพรอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า มุ้งกระต่ายบ้าง ซุ้มกระต่ายบ้าง แสดงว่า มุ้ง กับซุ้มนั้น แทนที่กันได้…

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “อุ้มหมูทั้งมุ้ง” เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2565