เบื้องหลังความนัยของสำนวน “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง”

ปิดร้านหนี ก่อน “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง”  (ภาพจากหนังสือพิมพ์มติชน วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2547)

ในปี 2547 รัฐบาลขณะนั้นจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ภายหลังจากวันที่ 10 มีนาคม 2547 ทักษิณ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปรับ ครม. เป็นชุดที่ 8 มีรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่สองกระทรวงถูกปรับด้วย คือกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสื่อได้กล่าวถึงกันมากกว่ากระทรวงอื่นๆ

ในเดือนมีนาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีกำหนดการไปประชุมครม. ที่จังหวัดปัตตานี ขณะเดียวกันก็มีข่าว ร้านอาหารปิดหนีการมาเยือนของคณะรัฐมนตรี อันเป็นที่มาให้ อาจารย์ล้อม เพ็งแก็ว เขียนบทความชื่อ “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ-กองบก.ออนไลน์]

Advertisement

 “…สำนวน ‘ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง’

ทั้งสัตว์และบุคคลที่เป็นผู้กระทำในสำนวนนี้ คนไทยรู้จักกันดี ช้างนั้นเป็นสัตว์ใหญ่ ในขณะที่พระยาก็เป็นบุคคลมีระดับ คือเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทยแต่ก่อน

ส่วนกริยาเหยียบ คือย่ำ ดังที่เคยมีหนังสือสำคัญหลังการจับจองที่ดินว่าพร้อมเข้าไปหักร้าง เรียกว่าใบเหยียบย่ำ

เฉพาะเหยียบนานั้นยังมีความหมายถึงการทำนาให้เป็นเทือก เพื่อพร้อมจะปักดำอีกด้วย วิธีทำก็คือต้อนฝูงควายให้ย่ำไปมา จนนาลุ่มนั้นกลายเป็นเทือกโดยไม่ต้องไถต้องคราด วิธีทำที่นาแบบนี้ผมรู้จักดี เพราะตอนเด็กๆ ผมช่วยพ่อทำนาโดยวิธีนี้

แต่วลีช้างเหยียบนาในสำนวนที่กล่าวนี้ มิใช่การเตรียมที่นาเพื่อปักดำ แต่หมายถึงช้างลงไปย่ำในนาที่ข้าวกำลังออกรวง จนกลายเป็นนาลุ่ม

แม้หลายท้องถิ่นพยายามจะตีความว่า ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง ถือเป็นมงคลอย่างหนึ่ง

แต่ในข้อเท็จจริงที่รับรู้กันทั่วไป ทั้งสองเรื่องนี้ถือกันว่าจะได้ยากแก่ไพร่ คือแฝงความแหลกลาญให้ได้กล่าวขานกันถึง ส่งต่อให้ลูกหลานได้รับรู้ ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ผูกเป็นกลอนไว้ว่า

ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง

หมดเปลืองถ้วนทั่วทุกตัวไพร่

หญ้าแพรกแหลกย่ำระยำไป

ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง

(มติชน ฉบับ 19 ตุลาคม 2546)

ผมเองเคยเห็นเคยสัมผัสทั้งสองเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก กล่าวคือนาที่พ่อและพี่น้องของผมได้ลงแรงทำ พอออกรวงสะพรั่งใกล้ถึงหน้าเก็บเกี่ยว ช้างป่าโขลงใหญ่ได้เข้ามาถอนทึ้งกินเสียแหลกลาญไปหมด กลายเป็นนาล่มไปชั่วไม่ทันข้ามคืน ผมจึงรู้ซึ้งถึงผลของช้างเหยียบนามาตั้งแต่ตอนเด็ก

ส่วนพระยาหรือพญานั้น ทุกวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองระดับเสนาบดีนั่นเอง เพียงเมืองใดรู้ว่าท่านจะมาตรวจราชการ ก็เกณฑ์เอาสรรพกำลังปรับปรุงตกแต่งสถานที่ ที่รู้จักเรียกขานกันว่าผักชีขายดี โดยเฉพาะนักเรียนและครู มักถูกเกณฑ์ไปตั้งแถวต้อนรับให้เอิกเกริก ต้องทนร้อนทนหิวกันกว่าจะเสร็จเรื่อง และผมก็มีประสบการณ์ตรง ทั้งตอนที่ยังเป็นนักเรียน และตอนเป็นครู”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564