“อุ้มหมูเข้าเล้า” การละเล่นโบราณของคนไทย

(ภาพประกอบเนื้อหา) การละเล่นตีลูกล้อ จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนฯ

งานรื่นเริงปีใหม่ไทย มักมีประเพณีและแสดงการละเล่นต่าง ๆ มากมายของแต่ละท้องถิ่น แต่ช่วงหลังปรากฏว่า “ชักจะเนือย ๆ กันเสีย ประเพณีอันดีงามนี้จึงได้ค่อย ๆ ศูนย์หายไป” ดังนั้นในช่วงหลัง พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา รัฐบาลจึงจัดให้มีการฟื้นฟูงานรื่นเริงปีใหม่ไทย ความมุ่งหมายเพื่อให้ประเพณีและการละเล่น หรือที่เรียกว่ากีฬาพื้นเมืองนั้นได้กลับมามีชีวิตคงคืนอีกครั้ง ทั้งยังจะแพร่หลายออกไปทั่วพระนครตลอดจนหัวเมืองชนบท

ในงานรื่นเริงปีใหม่ไทย วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 จัดแสดงที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ก็ได้มีการแสดงการละเล่นต่าง ๆ เช่นที่คุ้นหูกันดีอย่าง ขี่ม้าชิงเมือง, ชักคะเย่อ, ปิดตาตีหลัก, วิ่งเปรี้ยว, ลิงชิงหลักฯลฯ ในที่นี้ยังมี “อุ้มหมูเข้าเล้า” อีกหนึ่งการละเล่นโบราณ ที่มีอายุมาไม่ต่ำกว่า 80 ปี

รายละเอียด “อุ้มหมูเข้าเล้า” (วิธีการเล่นตามประเพณีนิยม แสดงที่ท้องสนามหลวง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480. โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2480) มีดังนี้

“อุ้มหมูเข้าเล้า โดยหลวงประสิทธิ์นนทเวท

การเล่นอุ้มหมูเข้าเล้า จะเป็นกีฬาสืบเนื่องมาแต่โบราณกาลหรืออย่างไร ข้อนี้ยังสงสัย แต่วิธีเล่นและระเบียบต่าง ๆ เกือบเหมือนการเล่นวิ่งเก็บของที่เล่นกันอยู่ทุกวันนี้

เครื่องใช้

1. สยามเล่น ต้องการส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง ซึ่งกว้างประมาณ 6-10 เมตร ก็พอ ยาวอย่างน้อย 20 เมตร โดย

2. กระดาษ ดินสอ และด้ายฟอกสักเข็ดหนึ่ง

จํานวนผู้เล่น

1. เด็กเล็ก ๆ อายุขนาด 5-10 ขวบ สัก 20-30 คน มีผ้าผูกตาไม่ให้แลเห็น สมมุติให้เป็นหมู

2. เด็กโต 4-5 คน สมมุติเป็นเจ้าของหมู

วิธีเล่น

1. เจ้าของหมูมีกี่คน จัดขึ้นเป็นราย ๆ ไปรายละคน ในที่นี้สมมติว่า 4 ราย คือ ก.ข.ค.ง.

2. เจ้าของหมูรายหนึ่งจะให้มีหมูกี่ตัว ในที่นสมมุติให้มีรายละ 5 ตัว

3. ลูกหมูที่จะใช้การนี้ มีกระดาษป้ายเขียนนามเจ้าของหมูแขวนคอทุกตัว (ติดหลังก็ได้) คือบ้าย ก.ข.ค.ง. อย่างละ 5 ป้าย แขวนคอหมูในจำนวน 20 นั้นให้ทั่วทุกตัว

4. เจ้าของหมูพึ่งเข้าใจว่า หมูตัวใดมีป้ายชื่อของตนแขวนคอ หมูตัวนั้นคือตนเป็นเจ้าของ

5. ให้หมู 20 ตัวนี้ไปรวมปะปนกันอยู่ปลายสนามด้านหนึ่งในเขตต์จำกัด (ต่างว่าไปเที่ยวหากิน) ส่วนอีกด้านหนึ่งไกลจากที่หมูอยู่ประมาณ 20 เมตร ให้เจ้าของอยู่ และต่างคนมีเขตต์จำกัดเหมือนกัน สมมุติว่าเล้าหมู

6. พอให้สัญญาเริ่มเล่น เจ้าของหมูต่างคนต่างวิ่งไปอุ้มหมูของตน (ตามป้ายชื่อ) มาเข้าเล้าทีละตัวโดยเร็ว แล้ววิ่งกลับไปอุ้มมาอีกจนครบ 5 ตัว

7. ใครอุ้มมาเข้าเล้าได้ครบถ้วนถูกต้องก่อน ผู้นั้นเป็นฝ่ายชะนะ

8. หมูทั้ง 20 ตัวนั้น ให้คุกเข่าคลาน 4 เท้า ทำอาการเหมือนหมู ปะปนพลุกพล่านและส่งเสียงร้องอู๊ดอี๊ดไปตามภาษาหมู ทั้งนี้เพื่อให้เป็นความลำบากแก่เจ้าของที่จะไปคัดเลือกหมูของตนแลดูขบขันยิ่งขึ้น

กติกา

1. เจ้าของหมูรายใดไปอุ้มหมูของผู้อื่นมาเข้าเล้าตน แม้เสร็จก่อนก็ชะนะมิได้

2. เมื่อเจ้าของหมูทราบว่าไปอุ้มหมูของผู้อื่นเขามา อาจอุ้มกลับไปไว้ตามเดิม และอุ้มหมูอันเป็นของตนมาใหม่ให้ครบถ้วนก็ได้

3. เจ้าของหมูรายใด อุ้มหมูมาไม่ถึงที่ซึ่งสมมุติว่าเล้า จะเรียกว่าชะนะมิได้ นอกจากจะได้จัดการเสียให้เป็นที่เรียบร้อยตามระเบียบ

4. การ จูง ดัน ลาก ฉุด หรือกระทำการทารุณต่อหมูโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามขาด

5. การผูกตาหมู ควรให้มิดชิด เพื่อประโยชน์มิให้หมูเห็นป้ายชื่อ และร้องบอกเจ้าของหมูว่า ‘ฉันเป็นหมูของเธอ’ หรือช่วยเจ้าของให้ได้รับการได้เปรียบ”

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2565