ดราม่า “ตาเล็ก”? ชาวเน็ตจีนโวยโฆษณาใช้ภาพสตรีตาเรียวเล็ก ขั้นกล่าวหาไม่รักชาติ?

Cai Niangniang นางแบบที่ปรากฏในภาพโฆษณาซึ่งถูกวิจารณ์-โจมตีสืบเนื่องจากลักษณะตาเรียวเล็กของเธอ (ภาพจาก WEIBO/Three Squirrels ใช้เพื่อประกอบเนื้อหาเท่านั้น)

“ภาพลักษณ์” ของคนเอเชียซึ่งปรากฏในสื่อตะวันตกอันทรงอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ส่วนหนึ่งมักแสดงเป็นภาพบุคคลซึ่งมีองค์ประกอบบนใบหน้าหลายประการที่แตกต่างจากคนตะวันตก เอกลักษณ์ที่แตกต่างบางจุดนี้เองกลับกลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างรุนแรงในศตวรรษที่ 21 กรณีล่าสุดคือใบหน้าของคนเอเชียในภาพโฆษณาถูกผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในจีนวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากใช้ภาพใบหน้าคนที่มี “ตาเล็ก” (หรือบ้านเรามักใช้คำว่า “ตาตี่” ในความหมายว่ารูปทรงของตาที่เรียวยาวและแคบ)

ช่วงปลายปี 2020 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวจีนว่าด้วยเรื่องภาพลักษณ์ของบุคคลที่ปรากฏในภาพสื่อโฆษณาต่อเนื่องกัน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ภาพโฆษณาของสินค้าแบรนด์หรูจากฝรั่งเศสถูกวิจารณ์ว่า สตรีที่อยู่ในภาพโฆษณามีลักษณะ “ตาตี่” จนช่างภาพผู้ผลิตชิ้นงานต้องออกมาขอโทษ

ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2020 เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับภาพลักษณ์บุคคลในภาพโฆษณาเช่นเดียวกัน คราวนี้เป็นภาพโฆษณาจากรถหรูในเยอรมนีและสินค้าแฟชั่นหรูหราชื่อดังจากอิตาลี ซึ่งล้วนถูกวิจารณ์เรื่องบุคคลที่ปรากฏในภาพโฆษณามีลักษณะดวงตาขนาดเล็ก

อีกกรณีที่เพิ่งปะทุเมื่อปลายเดือนธันวาคมคือสื่อสังคมออนไลน์ที่โจมตีนางแบบในภาพโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวแบรนด์หนึ่งซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2019 โดยที่นางแบบซึ่งมีดวงตาเรียวเล็กในภาพชื่อว่า Cai Niangniang ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางรายถึงกับโจมตีโดยใช้คำที่สื่อสารทำนองว่า “ไม่มีความรักชาติ” (unpatriotic) จนนางแบบโพสต์ข้อความลงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ (Weibo) ใจความตอนหนึ่งว่า

“ฉันไม่ใช่ชาวจีนเพราะฉันมีดวงตาเล็กเท่านั้นหรือ?”

เธออธิบายต่อไปว่า เธอแค่ทำงานเท่านั้น และไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เธอทำถูกมองว่าเป็นการดูถูกจีนไปได้อย่างไร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อปี 2020-2021 มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ประการแรก จากมุมมองในฝั่งผู้วิจารณ์(ที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์)กลุ่มหนึ่งให้ความคิดเห็นว่า การใช้ภาพบุคคลที่มีลักษณะดวงตาเช่นนี้เสมือนเป็นการช่วยตอกย้ำ “ภาพเหมารวม” ที่ชาวตะวันตกมีต่อใบหน้าของคนจีน

พวกเขาตั้งคำถามว่า ทำไมโฆษณาเหล่านี้ไม่เลือกบุคคลที่มีลักษณะ “พบเห็นได้ทั่วไป” ในโฆษณาฝั่งจีน ซึ่งมักเป็นบุคคลที่มีดวงตาขนาดใหญ่ โทนสีผิวอ่อน (fair skin) รายงานข่าวจากบีบีซี (BBC) ระบุว่า ภาพลักษณ์นี้ โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นไปตามคติความงามซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมจีน

รายงานข่าวจากบีบีซีวิเคราะห์ไว้ว่า ประเด็นหลักของ “ดราม่า” เรื่องนี้คือ ภาพที่ปรากฏขึ้นเป็นส่วนที่ไปกระตุ้นแนวคิดต่อภาพจำเรื่อง “รูปทรงของดวงตา” ของชาวเอเชียซึ่งเป็นภาพจำที่มักไปปรากฏในสื่อตะวันตกยุคศตวรรษที่ 19 ภาพจำเหล่านี้เองที่ถูกชาวเอเชียมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจให้พวกเขา

ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีตัวร้ายชาวเอเชียนามว่า Fu Manchu ตัวละครหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามภาพลักษณ์ “ตาตี่/ตาเล็ก” ซึ่งภาพลักษณ์ของตัวละครนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากคนผิวเหลือง” ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียโดยมองว่าวัฒนธรรมเอเชียเป็นภัยคุกคามต่อสังคมตะวันตก

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือคติเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมความงามในแบบฉบับของจีน กล่าวคือ นอกเหนือจากกลุ่มที่มองว่าการใช้ภาพบุคคลตาตี่ในงานโฆษณาจนทำให้เกิดความไม่พอใจ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่กลับมองว่า คนกลุ่มที่ไม่พอใจนั้นสะท้อนถึงการปฏิเสธแนวคิดแง่หนึ่งว่า หากจะสื่อสารถึงบุคคลที่ดูเป็น “จีน” ก็มีอีกหลากหลายวิธี

ในมุมหนึ่ง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist นามว่า Luwei Rose Luqiu ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า การปฏิเสธ(ภาพจำ)ลักษณะขนาดของตาที่ค่อนข้างเรียวเล็ก (slanted eyes) ค่อนข้างเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันคือการปฏิเสธคติความงามที่แตกต่างหลากหลายด้วย

ทั้งนี้ ค่านิยมความงามแบบจีนในอดีตเคยนิยมดวงตาแบบเรียวเล็กมาก่อน สะท้อนจากชิ้นงานศิลปะในช่วงเวลาที่ถือเป็นยุคทองของศิลปะและวัฒนธรรมจีนอย่างราชวงศ์ถัง (Tang) สตรีที่ปรากฏในชิ้นงานก็มีลักษณะดวงตาเรียวยาว ขณะที่แม้ภาพของสตรีจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย แต่ Jaehee Jung ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัย Delaware ก็มองว่า ลักษณะดวงตาแบบเรียวยาวเป็นที่นิยมกว่าลักษณะอื่นในสังคมจีนโบราณ

บทวิเคราะห์จากรายงานข่าวของบีบีซียังระบุว่า ค่านิยมความงามของดวงตาที่ให้น้ำหนักกับดวงตากลมโต กลับเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งเสียมากกว่า เพราะความนิยมนี้อาจได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าค่านิยมเรื่องค่านิยมในความงามของดวงตาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปลายยุค 70s จากการเปิดรับความบันเทิงและชิ้นงานโฆษณาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาภายหลังจีนเปิดประตูเชื่อมต่อโลกภายนอก

ภายหลังจากเกิดประเด็นข้อถกเถียง Three Squirrels บริษัทผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวได้ถอดโฆษณาชิ้นนี้ออกและขออภัยที่ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น รายงานข่าวเผยว่า โฆษณาที่เป็นต้นเหตุนี้ถ่ายทำตั้งแต่เมื่อปี 2019 แต่เพิ่งมาตกเป็นข่าวช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2021 หลังมีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หยิบภาพโฆษณามาโพสต์กันอีกครั้ง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : โรคระบาดโบราณกับอิทธิพลต่อแฟชั่น จากชุดแพทย์ สู่อาการที่ทำให้ร่างกายตรงคติ “ความงาม”


อ้างอิง

Waiyee Yip. “China: Why some think ‘small eyes’ are not beautiful”. BBC. Online. Published 2 JAN 2022. Access 3 JAN 2022. <https://www.bbc.com/news/world-asia-china-59807019>

Kayla Wong. “Chinese model hits back at critics who say her ‘small’ eyes play into ‘Western stereotypes’ & ‘insult China’ “. Mothership. Online. Published 31 DEC 2021. Access 3 JAN 2022. <https://mothership.sg/2021/12/chinese-model-small-eyes-hits-back/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2565