โป๊ยเซียน-วรรณกรรมที่เขียนให้เซียนทั้งแปดแทนกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

วรรณกรรมจีน โป๊ยเซียน

เมื่อกล่าวถึง “โป๊ยเซียน” เราส่วนใหญ่มักนึกถึง เทวดา 8 องค์ (บ้างเรียก 8 เซียน หรือเรียกทับศัพท์ โป๊ยเซียนก็มี) ได้แก่ ทิก๋วยลี้, ฮั่นเจงหลี, ลือท่งปิน, เจียงกั๋วเล้า, น่าไฉ่หัว, ฮ่อเซียนโกว (ผู้หญิง), ฮั่นเซียงจื๊อ และเช่าก๊กกู๋  

แต่ “โป๊ยเซียน” ในบริบทของจีน ไม่ได้จำกัดเพียงเซียนคณะดังกล่าว และไม่ได้จำกัดเพียงเซียน 8 องค์นี้เท่านั้น เพราะโป๊ยเซียนของจีนมี 3 คณะ แต่ละคณะมีเซียนที่เป็นสมาชิกแตกต่างกัน แต่ทุกคณะมีลักษณะที่ต้องมีเซียนหญิง 1 องค์ เป็นสมาชิกในคณะโป๊ยเซียนชาย

ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะโป๊ยเซียนคณะที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทย ที่มีสมาชิก 8 องค์ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

เรื่องของโป๊ยเซียนทั้ง 8 องค์นี้ เริ่มปรากฏตั้งแต่ ยุคห้าราชวงศ์ (พ.ศ. 1450-1503) แต่ละตำรากล่าวถึงชื่อและประวัติเซียนแต่ละองค์ต่างกันไปบ้าง ถึงยุคกลางราชวงศ์หมิงจึงลงตัวเป็นแบบเดียวกัน “วรรณกรรมจีน” เล่มที่แพร่หลายมากคือเรื่อง “ตังอิ๋วกี่” ซึ่งแต่งตามแบบเรื่อง “ไซอิ๋วกี่” วรรณคดีเอกที่ยกย่องพระพุทธศาสนา จนฝ่ายศาสนาเต๋าต้องแต่งเรื่อง “ตังอิ๋วกี่” และ “ห้องสิน” ขึ้นมาแข่ง เนื้อเรื่องกล่าวถึงประวัติชีวิต กับการบรรลุธรรมของเซียนทั้งแปด

ในยุคที่นิยายจีนเฟื่องฟู นายตันเซี่ยมหมินและผู้ใช้นามปากกาว่า “จุยเซียน” ต่างก็แปลเรื่อง “โป๊ยเซียน” จากต้นฉบับภาษาจีนเล่มเดียวกันคือ “ตังอิ๋วกี่” โดยเป็นการแปลเก็บความมาเรียบเรียง

โป๊ยเซียนสำนวนแปลของนายตันเซี่ยมหมิน เน้นประวัติการปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผล, การโปรดเวไนยชนของเซียนแต่ละองค์ ตัดส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับธรรมะออก โดยแปลให้พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ) เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์เผยแพร่

ส่วนสำนวนแปลของจุยเซียน เน้นความสนุกสนาน เล่าประวัติเซียนแต่ละองค์ และกิจกรรมเชิงอิทธิปาฏิหาริย์ของเซียนเหล่านี้ คงจะแปลลงหนังสือพิมพ์ก่อน ต่อมาจึงรวมเล่มแจกในงานกฐินพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2474

เสน่ห์ของนิยายโป๊ยเซียนคือ การสร้างภาพลักษณ์เซียนแต่ละองค์ได้โดดเด่น เป็นตัวแทนของคนในสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หนุ่ม เด็ก ชาย หญิง คนรวย คนจน คนมีฐานทางสังคมสูง คนต่ำต้อยในสังคม นักรบ บัณฑิต คนพิการ

เจียงกั๋วเล้า เป็นตัวแทนคนแก่ น่าไฉ่หัว เป็นตัวแทนเด็กวัยรุ่น, คนจน, กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ลือท่งปิน เป็นตัวแทนผู้ชาย, บัณฑิตบู๊ ฮ่อเซียนโกว เป็นตัวแทนผู้หญิง เช่าก๊กกู๋ เป็นตัวแทนคนรวยมีฐานะดี ฮั่นเจงหลี เป็นตัวแทนคนสูงศักดิ์ มีฐานะทางสังคม, นักรบ ทิก๋วยลี้ เป็นตัวแทนคนชั้นรากหญ้า คนต่ำต้อย, คนพิการ และ ฮังเซียงจื๊อ เป็นตัวแทนคนหนุ่ม, บัณฑิตบุ๋น

ความหลากหลายที่สะท้อนถึงสังคมมนุษย์นี้เอง ทำให้ วรรณกรรมจีน เรื่อง “โป๊ยเซียน” ได้รับความนิยมแพร่หลาย กราบไหว้บูชากันตลอดมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. “ชวนอ่านตำนานโป๊ยเซียน”ใน, ตังอิ๋วกี่ ตำนานโป๊ยเซียน ตันเซี่ยมหมินและจุยเซียน แปล, สำนักพิมพ์ สร้างสรรค์บุ๊คส์, มีนาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2564