“มาดามโบวารี” นิยายถูกตีตราไร้ศีลธรรมเพราะเล่าความต้องการทางเพศ-คบชู้ ไฉนรอดถูกฟ้อง

ภาพวาดประกอบเนื้อหานิยาย Madame Bovary ด้านขวาสุดคือ Emma ภาพโดย Charles Léandre ภาพจากหนังสือนิยาย ไฟล์ภาพ public domain

เมื่อสองสามศตวรรษที่ผ่านมา การที่นักเขียนสักคนในยุโรปจะลุกขึ้นมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการนอกใจ การคบชู้ หรือการเบื่อหน่ายในชีวิตสมรสของผู้หญิง ถือเป็นเรื่องไม่สมควร เนื่องจากคนทั่วไปมองว่าการกระทำเหล่านี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม และจะนำพาผู้อ่านไปสู่ความตกต่ำ

ซึ่งในตอนที่ กุสตาฟ โฟลแบร์ (Gustave Flaubert – เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1821-8 พฤษภาคม ค.ศ. 1880) นักเขียนชาวฝรั่งเศสตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง Madame Bovary (ฉบับภาษาไทยคือ มาดามโบวารี แปลโดย วิทย์ ศิวะศริยานนท์ สำนักพิมพ์ทับหนังสือ) ในปี ค.ศ. 1857 ผลงานของเขาก็ถูกรัฐบาลตีตราว่าเป็นงานที่ “ไร้ศีลธรรม” เพราะมาดามโบวารี หรือ เอ็มม่า ตัวละครเอกในนวนิยายเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว ทว่า เธอกลับคบชู้ ซึ่งพฤติกรรมของเธอเป็นเรื่องผิดบาปเมื่อวัดจากสถานะของเพศหญิงตามบรรทัดฐานในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม โฟลแบร์รอดพ้นจากการถูกฟ้องร้อง (ข้อหาเผยแพร่เอกสารและส่งเสริมการกระทำที่ผิดศีลธรรม) มาได้ เพราะนวนิยายของเขาใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านบุคคลที่ 3 โดยไม่ได้เน้นเพียงฉากวาบหวิว เช่น นวนิยายประโลมโลกย์ร่วมสมัย รวมถึงบทบรรยายที่สละสลวย ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของตัวละคร ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เข้าถึงความรู้สึกของผู้อ่านในศตวรรษที่ 18 ที่ความปรารถนาในเรื่องเพศรสและความต้องการมีพื้นที่ในสังคม ถูกกดเอาไว้ด้วยจารีตประเพณี

โฟลแบร์เล่าเรื่องราวของตัวละคร 4 ตัวที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ ชาร์ลส์ เอ็มม่า บาทหลวงบูร์นิเชียง และโอเมส์ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง เริ่มมาจากเอ็มม่า เด็กสาวช่างฝัน แต่งงานกับ ชาร์ลส์ โบวารี หลังจากมารดาของเธอเสียชีวิต

ทว่า ชีวิตแต่งงานนั้นกลับต่างกันโดยสิ้นเชิงจากนวนิยายประโลมโลกย์ที่เธอเคยอ่านสมัยอยู่ในคอนแวนต์ แม้จะมีสามีที่รักใคร่ แต่เอ็มม่าก็ยังพบว่าชีวิตรักช่างแสนจะจืดชืด น่าเบื่อ เธอโหยหาชีวิตเฉกเช่นในภาพฝัน เธอมีความปรารถนาในเพศรสเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง

ทว่า เมื่อการแต่งงานไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่ต้องการ เอ็มม่าจึงก้าวสู่หล่มกิเลสที่ทำให้เธอกระทำในเรื่องผิดศีลธรรม อย่างการคบชู้สู่ชายมากหน้าหลายตา ซึ่งนำไปสู่โศกนาฏกรรม ไม่เพียงแต่กับตัวเธอ แต่ยังส่งผลถึงคนรอบข้างที่รักและหวังดีกับเธอด้วย

หากเทียบกับงานเขียนสมัยใหม่ มาดามโบวารี อาจมีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างจากงานทั่วไปที่สะท้อนด้านมืดในใจมนุษย์และการกระทำอันผิดพลาดเพราะปล่อยให้กิเลสมาเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต

ทว่าหากมองบริบทสังคมในยุคนั้น จะเห็นว่าการบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งคนทั่วไปพยายามกลบฝังเอาไว้ ถือเป็นงานเขียนที่มีความท้าทายและผู้นำเสนอนั้นกล้าหาญอย่างยิ่ง ซึ่งตัวละครเอ็มม่าก็เปรียบเสมือนภาพสะท้อนชีวิตปุถุชนอย่างเราๆ นั่นเอง

นอกจากนี้กลวิธีการบรรยาย 2 เหตุการณ์คู่กันไปโดยตัดสลับไปมา การฉายภาพย้อนหลัง (flash back) การใช้ประโยคสั้น กระชับ ยังทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความลึกซึ้งและสมจริง ซึ่งความงดงามในเชิงวรรณศิลป์เหล่านี้ยังส่งอิทธิพลต่องานของนักเขียนในรุ่นต่อๆ มา

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2564