อีโมะ : มาจากภาษาผู้ไท? ไฉนจึงหมายถึงของลับสตรี

อีโมะ : มาจากภาษาผู้ไท? ไฉนจึงหมายถึง “ของลับสตรี”

อ่าน “รายงานจากสำนักศิลปวัฒนธรรม” ที่คณะกรรมการผู้จัดทำ “พจนานุกรมฉบับมติชน” ชี้แจงในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนเมษายน 2547 (หน้าที่ 60 แล้ว) ก็สะกิดใจและสนใจ เพราะตัวเองก็ “ลืมสนิท” เหมือนคณะกรรมการเช่นกัน

เมื่อคุณนพรัตน์ พูนเสริม จากปากช่องเตือนมาก็ดีใจด้วยที่จะมีคำนี้อยู่ในพจนานุกรม แต่ในรายงานบอกว่าทำไมต้องเป็น อีโมะ” ไม่มีใครตอบได้…ก็จึงอยากจะลองตอบเล่นๆ เผื่อจะเอาไปปรับเป็นคำอธิบายอีโมะได้บ้าง

ต้องบอกก่อนว่าตั้งแต่ปี 2520 ผมทำตัวเป็น “ไทยเทียว” ไปกินไปนอนอยู่แถวอำเภอเขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประจำ แรกๆ ก็ฟังภาษาผู้ไทไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องใช้ล่ามเสมอ เพราะสำเนียงต่างจากคนพื้นลาวล้านช้าง พยัญชนะบางตัว สระหลายตัว และวรรณยุกต์หลายเสียง ฯลฯ เช่น ออกเสียง ก ไก่ เป็น ค ควาย ข ไข่ เป็น ห หีบ หรือ ฮ นกฮูก ออกเสียงสระใอไม้ม้วน เป็นสระเออ คำเสียงต่ำจะออกเสียงสูง และคำเสียงสูงจะออกเสียงต่ำ เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของชาวผู้ไท จะออกเสียงสะกด ก ไก่ เป็น สระอะ เสมอ ซึ่งน่าจะใช้อธิบายได้ว่าทำไมต้องเป็นอีโมะนี่แหละ

ก่อนอื่นคงต้องแยกคำนี้ก่อน คือคำว่า อี ย่อมจะบ่งบอกได้ว่าหมายถึงของผู้หญิงแน่ๆ ส่วนคำว่า “โมะ” น่าจะมีเหตุที่มาจากการออกเสียงสะกด ก ไก่ เป็นเสียงสระ อะ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างตรงนี้คำหนึ่ง คือ

“เหล็กเปียก” ที่ชาวผู้ไทจะออกเสียง “เละเป๊ะ” เพราะเหล็กสะกดด้วย ก ไก่ ออกเสียงสะกด อะ ตามปกติจะเป็นเสียง “เหละ” แต่เมื่อออกเสียงต่ำเป็นเสียงสูงจึงเป็น “เละ”

ส่วน เปียก ก็สะกดด้วย ก ไก่ เมื่อออกเสียงสะกด อะ ตามปกติก็จะเป็น “เปะ” แต่เมื่อออกเสียงต่ำเป็นสูงก็จะเป็นเสียง “เป๊ะ” ด้วยเหตุนี้ชาวผู้ไทจึงเรียกเหล็กเปียกว่า “เละเป๊ะ”

ถ้าเดาเชื่อตามเสียงดังกล่าวนี้ แล้วคิดทวนกลับจากคำว่า “โมะ” ซึ่งเป็นเสียงสูง ก็จะเห็นได้ว่า “โมะ” น่าจะมาจากคำว่า “หมก” คือ หมก สะกดด้วย ก ไก่ เสียงออกเป็น “โหมะ” แต่เมื่อออกเสียงสูงจึงออกเป็นเสียง “โมะ” เมื่อใช้ประกอบกับคำว่า อี เป็น อีโมะ จึงหมายถึง โมะ หรือ หมก ของผู้หญิงเท่านั้น ไม่ใช้กับของผู้ชาย

ประเด็นต่อไปก็คือ แล้วทำไมต้องเอาคำว่า “หมก” มาใช้เปรียบเทียบกับของผู้หญิงด้วย? ตรงนี้ก็พออธิบายได้ว่า ในอดีตนั้นชาวผู้ไทก็เป็นกลุ่มชนนักเดินทางข้ามภูมิภาคผู้ยิ่งใหญ่กลุ่มหนึ่ง ไม่แพ้ชาวกุลาและชาวข่าทั้งหลาย วิถีวัฒนธรรมของชาวป่าดงทั้งบนภูเขาและในหุบเขาใกล้แหล่งน้ำตามที่สูง ในเรื่องการกินจะใช้วิธีการปรุงแบบง่ายๆ เช่น จี่ ปิ้ง ย่าง ขาง ลน หมก ฯลฯ

การปรุงอาหารที่เรียกว่าหมก แต่ก่อนนั้นได้อาหารอะไรมาไม่ว่าจะเป็นกบ เขียด ปลา หน่อไม้ ฯลฯ ก็เอาไปทำหมกได้หมด แล้วเรียกชื่อหมกตามนั้น จะใส่เครื่องปรุงหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ชอบแล้วแต่จะหาได้

ลักษณะการทำหมกก็คือ เอาอาหารที่ได้วางบนใบตอง (ใบกล้วย) แล้วพับปลายใบตองเข้าหากันทั้งสี่ด้าน ห่ออย่างง่ายๆ ที่สุด ถ้าใบตองอ่อนตัวก็พับง่ายไม่ต้องกลัดก็ได้ ถ้าใบตองแข็งก็กลัดด้วยไม้ ไม่ให้ปลายใบตองดีดขึ้น เอาไปเผาไฟให้สุก อาหารจะหอมกลิ่นใบตอง…แซบเป็นตางึด! ขนาดของหมกส่วนใหญ่จะไม่เกินฝ่ามือ เหตุที่ไม่นิยมทำหมกใหญ่ เพราะอาหารข้างในจะสุกไม่เท่ากัน กว่าข้างในจะสุกข้างนอกก็ไหม้

ส่วนลักษณะเมื่อห่อแล้วจะมีลักษณะข้างบนลาดนูนอูมขึ้นไปตรงกลางเล็กน้อยคล้ายหลังกระดองเต่าหรือตะพาบ ตรงนี้ไหม? ที่คนมีจินตนาการเปรียบเทียบกับลักษณะขนาดของอวัยวะเพศของผู้หญิงที่พบเห็นกัน เพราะแต่ก่อนไม่ได้คิดรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอับอายเหมือนปัจจุบัน ก็เลยเอาลักษณะของหมกไปใช้เรียกแทนตรงส่วนนั้นเป็น อีหมก แต่การออกเสียงของชาวผู้ไทจะเป็น อีโมะ ตามเสียงของชาวผู้ไท

ครั้นเมื่อคิดว่าคนแต่ก่อนคิดเปรียบเทียบเช่นนั้นแล้ว ก็ชวนให้คิดและน่าพิศจินตนาการต่อไปอีกได้ว่า ลักษณะของหมกที่ห่อด้วยใบตองก่อนเอาใส่ไฟนั้น น่าจะคล้ายของผู้หญิงวัยเด็ก-วัยรุ่น และเมื่อเอาห่อหมกออกจากไฟแล้ว ก็ดูจะกระเดียดไปทางผู้หญิงที่มีอายุมากเลยวัยรุ่นไปแล้วก็ได้อีก (ตรงนี้ผู้เขียนคิดเลยเถิดเอง ไม่มีข้อมูลว่าชาวบ้านคิดหรือไม่)

ในรายงานของคณะกรรมการยังถกเถียงในที่ประชุมด้วยว่า “บางคนชอบพูดเล่นเลียนเสียงเด็กๆ เช่น เวลาฝนตกเสื้อผ้าเปียกก็ว่า เปียะโหมะเลย แทนที่จะว่าเปียกหมดเลย โหมะหรือโมะที่แกล้งทำเสียงนั้นก็คือตรงนั้นแหละ”

ถ้าโดยนัยความหมายแล้วก็เห็นด้วยกับคณะกรรมการว่าใช่เลย แต่จะมีติดใจอยู่ก็ตรงคำออกเสียง “เปียะโหมะ” เท่านั้น เพราะถ้าเห็นคล้อยเชื่อตามการออกเสียงของชาวผู้ไทดังกล่าวแล้ว เสียงพูดคำนี้น่าจะต้องเป็น “เปี๊ยะโมะ” คือ เปียก เปี๊ยะ และ หมก โหมะ โมะ เพราะมาจากคำว่า “เปียกหมก” ไม่น่าจะเป็นเปียกหมด

ส่วนประเด็นเรื่องเวลาที่ว่า “ใช้กันมาแต่เมื่อไรก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน” นั้น ถ้าพิจารณาตามแนวคิดว่า คำนี้มาจากการออกเสียงของชาวผู้ไทแล้ว ก็น่าจะต้องดูที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าชาวผู้ไทถูกกวาดต้อนลงมาอยู่แถบภาคกลางหลายรุ่นด้วยกัน ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี-สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 และมากที่สุดในรัชกาลที่ 3 ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แล้วหลังจากนั้นชาวผู้ไทดำที่ถูกคนภาคกลางเรียกว่า “โส้ง” หรือลาวโส้ง (โส้งดำ…เพราะนุ่งกางเกงสีดำ : โส้ง-ส้ง คือ กางเกง) ก็อพยพเคลื่อนย้ายแยกชุมชนออกไปในบริเวณกว้างขวางในเขตนครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี พิจิตร เป็นต้น

การลงไปอยู่ภาคกลางเหมือนชนกลุ่มน้อยในระยะแรกๆ ก็ย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนภาคกลางทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ก็ย่อมต้องมีทั้งส่วนที่ตัวเองยอมรับวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบข้าง และคนภาคกลางเองก็ย่อมต้องรับวัฒนธรรมบางอย่างของชาวผู้ไทไปใช้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็น่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีการรับคำว่า โมะ ของชาวผู้ไท ที่หมายถึงหมกไปใช้ หมายถึง ของลับสตรี หรืออวัยวะเพศของผู้หญิง จนเป็นคำว่า “อีโมะ”

ถ้าตามเวลาในประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ คำว่า “อีโมะ” ก็น่าจะมีการใช้กันมาเมื่อไม่เกินสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีตอนปลายนี้ คือไม่น่าจะเกิน 200 ปีเศษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2560