ข้าวร่วน ก็คือข้าวเจ้า หรือข้าวจ้าว อีกหนึ่งมุมมองของภาษา

ความสนุกจากการเรียนภาษาของชนต่างวัฒนธรรม มีอยู่ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาตระกูลไท ทำให้พบเห็นคำ ความหมาย ตลอดจนเห็น (รูป) ร่างพัฒนาการทางภาษา ว่ามีความสอดร้อยเกี่ยวโยงอย่างน่าสนใจ

เมื่อถามคำศัพท์ภาษาไทยใหญ่ จากผู้บอกภาษาถึงคำว่า จ้าว๑ แปลว่าอะไร

Advertisement

เจ้าของภาษานิ่งคิดอยู่สักครู่ แล้วทำนิ้วทั้งห้าชุมกันไว้ แล้วก็ดีดนิ้วออกโดยเร็ว (คล้ายกับการเอานิ้วทั้งห้าไปจุ่มน้ำ แล้วดีดให้น้ำซ่านกระเซ็นเป็นฝอยๆ) จึงชวนให้เดาคำจำกัดความว่า แปลว่า ดีด? กระเด็น? กระเซ็น? เปียก? ชุ่ม? ฝอยๆ? ใช่หรือไม่

เจ้าตัวส่ายหน้าทุกความหมายที่ทายลงไป ในที่สุดก็โพล่งคำตัวอย่างที่ใช้ออกมาได้ว่า “อย่างข้าวจ้าวไง”

ตัวอย่างการใช้คำ ก็ช่วยทำให้คลำเห็นทางของความหมาย

อ้อ…งั้น จ้าว ก็ต้องแปลว่า ไม่เหนียว

เจ้าของภาษาพยักหน้ารับคำแปลที่เสนอขึ้นมา แต่สังเกตว่าอาการพยักหน้าไม่เต็มที่นัก จนต้องตั้งคำถามใหม่อีกว่า

มีอะไรที่ใช้กับ “จ้าว” ได้อีก

ผู้สันทัดภาษาไทยใหญ่ยกตัวอย่างว่า อย่างกรณีที่ต้มมันหรือต้มเผือกให้สุก แล้วเนื้อของเผือกหรือมันก็มีลักษณะที่เรียกว่า จ้าว

เมื่อได้รู้ตัวอย่างความหมายเช่นนี้แล้ว จึงทราบว่า จ้าว แปลว่า ร่วน หรือ ซุย

เพื่อย้ำถึงความแน่ใจว่า จ้าว จะแปลว่า ร่วน หรือ ซุย ได้หรือไม่นั้น จึงถามอีกว่า ถ้านำเสียมไปพรวนดินต้นไม้ แล้วทำให้ดินนั้น “จ้าว” ได้หรือไม่

ผู้บอกภาษาพยักหน้าและรับว่า ใช่แน่นอน ใช่ได้เลยทีเดียว

ข้าวเหนียว ภาษาไทยใหญ่ใช้ว่า เข้าเหนว

ข้าวเจ้า ภาษาไทยใหญ่ใช้ว่า เข้าจ้าว

โปรดสังเกตว่า จ้าว ใช้สระ -า ไม่ใช้สระ เ-า ครั้นตกมาถึงภาษาไทยปัจจุบัน เรามีการจำแนกความหมายของคำว่า เจ้า กับ จ้าว

คำว่า เจ้า ปัดความหมายให้เกี่ยวเนื่องกับคน เช่น หมายถึงผู้เป็นใหญ่ เจ้าของ เจ้าผัก เจ้าปลา เจ้าหน้าที่ เจ้าพ่อ ฯลฯ

คำว่า จ้าว ระบุว่า มี ๒ ความหมาย

อย่างแรกเป็นภาษาถิ่น (ไหนไม่ทราบ) หมายถึง หุง หรือ ทอด ซึ่งใช้ว่า จาว ก็มี (แต่ในภาษาลาวปัจจุบันใช้คำว่า จืน แปลว่า ทอด ขอบอก..)

อีกความหมายหนึ่ง ระบุว่าเป็นคำโบราณ ความหมายเดียวกันกับคำว่า เจ้า

เมื่อภาษาไทยใช้คำว่า เจ้า ในคำว่า ข้าวเจ้า จึงหาแก่นความหมายของคำว่า ข้าวเจ้า ไม่เจอ ไปเจอในภาษาถิ่นไทยใหญ่ดังกล่าวข้างต้น จึงช่วยไม่ได้ที่จะมีผู้ตีความว่า ข้าวเจ้า คือข้าวที่ผู้เป็นใหญ่กิน (อาจรวมทั้งเจ้านาย และเสนาข้าอำมาตย์) ส่วนข้าวเหนียว สำหรับผู้เป็นไพร่กิน

ถ้าคิดไม่ต้องลึกนัก คำว่า จ้าว จึงควรแปลว่า ร่วน, ซุย (ตรงกันข้ามกับคำว่า เหนียว) และต้องนับว่าเป็นความหมายเด่น (main meaning) ประจำคำนี้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เรา (ไทยภาคกลาง) ไปยืมภาษาไทยใหญ่มาใช้ แต่เป็นเพราะว่า ภาษาในตระกูลเดียวกัน มีการใช้คำร่วมกันมาแต่เดิม มีความหมายร่วมกันมาก่อน เมื่อพัฒนาการทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ภาษา (รวมถึงการเขียน) ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมไปด้วย ยิ่งเป็นสังคมเปิด การเปลี่ยนแปลงจึงมีมาก ส่วนสังคมปิด การเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะเชื่องช้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาก็เชื่องช้าไปด้วย

ความเชื่องช้าในที่นี้คือความหมายเดียวกันกับ การเก็บรักษาลักษณะเดิมๆ หรือคงสภาพความหมายและการใช้คำในภาษาได้มากกว่า เมื่อเทียบกับภาษาที่เป็นสังคมเปิด ซึ่งภาษาไทยใหญ่ได้ทำหน้าที่ เก็บลักษณะเดิมทางความหมายไว้ได้มากกว่าภาษาไทยภาคกลาง

ถึงวันนี้ไม่ว่าเมล็ดข้าวจะสั้นหรือยาว ป่วยการที่จะถอยไปวิเคราะห์ถึงเมล็ดข้าวในสมัยสุโขทัย-อยุธยา ความเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้านั้น เขาเรียกจากลักษณะประจำเนื้อข้าว ไม่ได้เรียกตามสัณฐานของรูปร่างเมล็ดข้าว เพราะเมล็ดข้าวที่ชาวเขาชาวดอยปลูกตามภูดอยหรือที่ลาดเชิงเขา ซึ่งเป็นข้าวเจ้านั้น เมล็ดสั้นก็มี เมล็ดยาวก็มี

ถ้าเป็นข้าวสารที่เนื้อเมล็ดข้าวขาวขุ่น เมื่อปรุงให้สุก (โดยวิธีการนึ่ง) ข้าวนั้นมียางเหนียวติดกัน เราจึงเรียกกันว่า ข้าวเหนียว

ถ้าเป็นข้าวสารที่เนื้อเมล็ดมีสีขาวใส เมื่อปรุงให้สุก (โดยวิธีหุง) แล้ว ข้าวไม่มียางเหนียวติดกันมากเท่าข้าวเหนียว เราก็เรียกกันว่า ข้าวเจ้า [ซึ่งควรเขียน (ข้าวจ้าว)]

ข้าวร่วน ก็คือข้าวเจ้าด้วยเหตุฉะนี้


ขอขอบคุณ

พระอธิการ อินตา อินฺทวีโร เจ้าอาวาสวัดป่าเป้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ชาวไทยใหญ่ที่มาร่วมงานและออกร้านค้าในเทศกาลออกพรรษา ณ วัดป่าเป้า ซึ่งเป็นผู้บอกภาษาไทยใหญ่

 


 

 

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2560