ตัวตนทางวัฒนธรรมของ “อิสราเอล” ใน Netflix หน่วยมอสซาด-สงครามโลก-ชนกลุ่มน้อย

อดอล์ฟ ไอค์มาน นาซีเยอรมัน และอาชญากรสงคราม ขึ้นศาลอิสราเอล ในเยรูซาเล็ม เมื่อ 5 พฤษภาคม 1961 ภาพจาก AFP

วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการเผยแพร่ ถ่ายทอด หรือช่วยให้เข้าถึงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคล-กลุ่มบุคคลนั้นๆ ได้ หากเข้าใจเรื่องนี้ คงไม่แปลกที่ประเทศต่าง ๆ พยายามส่งออกวัฒนธรรมของตัวเองหลากหลายรูปแบบผ่านช่องทางต่างๆ

ตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือการใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารเป้าหมายต่างๆ ในบรรดาวัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้ “ความบันเทิง” มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เราจึงมักเห็นสื่อบันเทิงสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์ ซีรีส์ และบทเพลงต่างๆ ข้ามมาเผยแพร่กันมากมาย ทั้งจากยุโรป เอเชีย อเมริกา ตะวันออกกลาง แม้แต่อิสราเอลก็เริ่มมีมาแล้วเช่นกัน

Advertisement

เมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงชื่อดังอย่าง “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ประกาศขยายบริการกระจายไปทั่วโลกแล้ว สถานทูตอิสราเอลในสหรัฐฯ ยังรีทวีตแสดงความยินดีที่อิสราเอลจะสามารถใช้บริการนี้ได้

หลังจากนั้นอีกไม่นานนัก ในปี 2017 เน็ตฟลิกซ์ประกาศเพิ่มเนื้อหาท้องถิ่นอิสราเอลเข้าไป, ระบบภาษาอิสราเอล และบริการในท้องถิ่น โดยจับมือกับพันธมิตรจากท้องถิ่นอิสราเอล

ในแถลงการณ์ยังระบุถึงผลงานสื่อบันเทิงร่วมสมัยโดยอิสราเอลซึ่งเป็นที่รับรู้ในระดับโลก อาทิ Fauda, Hostages (Bnei Aruba) และ Devout Love (Srugim)

Fauda เป็นซีรีส์ที่เรื่องราวเกี่ยวกับสายลับอิสราเอลที่หวนคืนวงการหลังจากอำลางานไปแล้วเพื่อมาตามล่านักรบปาเลสไตน์ซึ่งเขาคิดว่าเคยสังหารไปแล้ว

 

Hostages (Bnei Aruba) เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์ที่ถูกจับตัวไปและโดนบังคับข่มขู่ให้สังหารนายกรัฐมนตรีในกระบวนการผ่าตัด โดยครอบครัวของศัลยแพทย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่เอ่ยถึงในแถลงการณ์ ภายหลังจากนั้น เน็ตฟลิกซ์ ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับอิสราเอลมากมาย ทั้งภาพยนตร์ สารคดี ไปจนถึงซีรีส์ สำหรับผู้ชมที่ผ่านตามาบ้าง เนื้อหาที่เกี่ยวกับอิสราเอลส่วนใหญ่แล้ว มักเอ่ยถึงหน่วยมอสซาด (Mossad) หน่วยข่าวกรองชื่อก้องโลกของอิสราเอล

สารดคีที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ Inside the Mossad สารคดีที่เผยเบื้องหลังปฏิบัติการของหน่วยมอสซาด เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่ากรณีที่โด่งดังของหน่วยนี้อย่างเช่นการติดตามตัวและปฏิบัติการเข้าควบคุมตัวอดีตเจ้าหน้าที่นาซีซึ่งหลบหนีจากเยอรมนีมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เนื้อหาจากสารคดียังมาปรากฏในภาพยนตร์ Operation Finale ซึ่งเจาะจงถึงปฏิบัติการยุค 60s ควันหลงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสายลับอิสราเอลติดตามไปจับกุมตัวอดอล์ฟ ไอค์มาน (Adolf Eichmann) อดีตเจ้าหน้าที่ของนาซีเยอรมันมาดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม

สื่อร่วมสมัยที่ไม่ว่าจะเชื่อมโยงกับอิสราเอลในแง่หยิบยกเรื่องจริงแง่มุมต่างๆ ของอิสราเอลมาผลิต หรือผลิตโดยกลุ่มผู้สร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับอิสราเอล ล้วนมีปรากฏให้เห็นในแพลตฟอร์มเช่นเดียวกับเนื้อหาจากท้องถิ่นต่างๆ

แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มของเนื้อหาเกี่ยวกับอิสราเอลซึ่งผู้ใช้งานมักพบเห็นเป็นอันดับแรกๆ  มักเป็นเรื่องราวซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องจริง ในปี 2018 มีภาพยนตร์ The Angel หยิบยกเรื่องราวของ อัชราฟ มาร์วาน (Ashraf Marwan) นักการเมือง นักธุรกิจ ที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอียิปต์ เขาเป็นลูกเขยของผู้นำอียิปต์อย่างประธานาธิบดี อับดุล นัสเซอร์ (Abdul Nasser) ในด้านหนึ่งเขาต้องหาทางเข้าไปใกล้ชิดกับประธานาธิบดีอียิปต์คนต่อไป ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทเป็น “สายลับ” ให้กับมอสซาด หน่วยข่าวกรองของอิสราเอล

บทบาทของมาร์วาน ยังไม่แน่ชัดด้วยซ้ำว่า แท้จริงแล้วเขาทำงานรับใช้อียิปต์ด้วยการเข้าไปเล่นงานมอสซาด หรือเขาทรยศอียิปต์ด้วยการเข้าทำงานให้มอสซาดจริงๆ

ปี 2018 ยังมีซีรีส์เรื่อง When Heroes Fly เนื้อหาเกี่ยวกับนายทหารอิสราเอล 4 คนที่กลับมารวมตัวกันทำภารกิจค้นหาคนในโคลอมเบีย

ปี 2019 มีภาพยนตร์เรื่อง The Spy Who Fell to Earth ซึ่งเล่าถึงการเสียชีวิตของอัชราฟ มาร์วาน ที่ตกจากชั้น 5 ของอพาร์ตเมนต์ในลอนดอนเมื่อปี 2007

เมื่อปี 2019 ยังมีภาพยนตร์เรื่อง The Spy เล่าเรื่องของเอเยนต์หน่วยมอสซาดนามว่า อีไล โคเฮน (Eli Cohen) ซึ่งแทรกซึมเข้าไปปฏิบัติงานในซีเรีย

ปีเดียวกัน ภาพยนตร์ The Red Sea Diving Resort ฉายใน Netflix เช่นกัน และยังเล่าถึงปฏิบัติการจริงของกลุ่มเอเยนต์จากนานาชาติใช้รีสอร์ทในทะเลทรายที่ซูดานเป็นหน้าฉากสำหรับขนย้ายชาวยิวในเอธิโอเปียลี้ภัยไปยังอิสราเอล

นี่เป็นเพียงกลุ่มเนื้อหาตัวอย่างที่เกี่ยวกับอิสราเอล (โดยเฉพาะหน่วยมอสซาด) ซึ่งปรากฏในแพลตฟอร์มสตรีมมิงชื่อดังของโลก เบเลน เฟร์นันเดซ (Belen Fernandez) นักเขียนที่เคยมีบทความเผยแพร่ลงเว็บไซต์ Middle Ease Eye เล่าว่า เธอเคยติดต่อกับ Netflix เพื่อสอบถามถึงการนำเสนอภาพของอิสราเอลในแพลตฟอร์ม เธอได้รับคำตอบจากโฆษกที่มีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งว่า

“พวกเราอยู่ในธุรกิจของความบันเทิง ไม่ใช่สื่อและการเมือง”

“เราเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบเนื้อหาทุกอย่างที่เรานำเสนอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีเนื้อหาแตกต่างหลากหลายจากทั่วโลก เพราะเราเชื่อว่าเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมมาจากทั่วทุกแห่งหน เนื้อหาทั้งหมดจากเน็ตฟลิกซ์ปรากฏการจัดเรตเนื้อหาและมีข้อมูลเพื่อช่วยให้สมาชิกตัดสินใจด้วยตัวพวกเขาเองว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา”

ไม่ใช่แค่เพียงในเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น หลายแพลตฟอร์มทั่วโลกเริ่มปรากฏเนื้อหาจากผู้ผลิตหรือไม่ก็เนื้อหาเกี่ยวกับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โปรดักชั่นสไตล์อเมริกันยังดัดแปลงซีรีส์อิสราเอลชื่อ Euphoria เมื่อปี 2019 เผยแพร่ทาง HBO

หากนับระยะเวลาของอุตสาหกรรมทีวีของอิสราเอลแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2018 ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีนับตั้งแต่อิสราเอลมีเผยแพร่สัญญาณภาพขาว-ดำเป็นภาพของพาเหรดวันอิสรภาพแห่งชาติ หลังจากเผยแพร่ภาพขาว-ดำได้ 2 ปี ก็เริ่มโปรแกรมด้านการศึกษาผ่านทีวี

อิสราเอลใช้เวลาเกือบ 2 ทศวรรษก่อนที่จะเปลี่ยนระบบมาเป็นภาพสี เจ้าหน้าที่บางรายในรัฐบาลคัดค้านและมองว่าภาพสีไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ในปี 1983 อิสราเอลมีรายการข่าวช่วงค่ำออกอากาศภาพสีเป็นครั้งแรกในที่สุด

ปี 1993 อิสราเอลถึงมีสถานีโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดข้อถกเถียงกันมายาวนาน

ยุค 2000s ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านสื่อภาพเคลื่อนไหวของอิสราเอล นับตั้งแต่ Hulu นำเข้าเนื้อหาที่เป็นภาษาต่างชาติครั้งแรกเมื่อปี 2012 เริ่มต้นจากเนื้อหาที่มาจากอิสราเอล เหล่าอุตสาหกรรมฮอลลีวูดหันมาจับจ้องการผลิตจากอิสราเอล และในที่สุดเมื่อปี 2015 Fauda กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ปี 2016 เน็ตฟลิกซ์จึงเริ่มนำเนื้อหาที่มาเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองบ้าง หลังจากมาก็เป็นสภาพดังที่กล่าวข้างต้น

นอกเหนือจากกลุ่มก้อนของเนื้อหาในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่หยิบยกวีรกรรมของหน่วยมอสซาดพร้อมเหล่าสายลับมาแล้ว เน็ตฟลิกซ์มีสารคดีที่นำมาฉายส่วนหนึ่งแต่อาจไม่มากนักซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าถึงความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ อย่างเช่นสารคดี Born in Gaza ซึ่งเล่าเรื่องราวผลกระทบจากความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ผ่านชีวิตของเยาวชนเป็นตัวเดินเรื่อง


อ้างอิง:

Fernandez, Belen. “Netflix and Israel: A special relationship”. Middle East Eye. Online. Published 24 SEP 2019. Access 19 MAY 2021. <https://www.middleeasteye.net/opinion/netflix-and-israel-special-relationship>

SPIRO, AMY. “How has Israel become a global TV powerhouse?”. The Jerusalem Post. Online. Published 6 APR 2018. Access 19 MAY 2021. <https://www.jpost.com/israel-news/culture/how-has-israel-become-a-global-tv-powerhouse-547942>

NETFLIX IS NOW TRULY ISRAELI. Netflix. Online. Access 19 MAY 2021. <https://about.netflix.com/en/news/netflix-is-now-truly-israeli-1>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564