ทดสอบปัญญา “มโหสถ” บัณฑิตในทศชาติชาดก ว่าด้วยเรื่อง “หุงข้าว”

มโหสถชาดก ทศชาติชาดก
“มโหสถชาดก” ภาพเขียนทศชาติชาดกในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ 10/ก กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542

ทดสอบปัญญาในเรื่อง “มโหสถชาดก” ว่าด้วยเรื่อง “หุงข้าว”

มโหสถชาดก เป็นชาดกเรื่องที่ 5 จาก ทศชาติชาดก เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติบำเพ็ญปัญญาบารมี เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

เรื่องของมโหสถชาดกเล่าถึง พระเจ้าวิเทหราช แห่งกรุงมิถิลา ทรงพระสุบิน (ฝัน) อันเป็นนิมิตรหมายว่าจะมีบัณฑิตคนที่ 5 เกิดภายใต้พระบารมี เป็นผู้ที่จะหาผู้เสมอย่อมไม่มีในโลกนี้และเทวโลก ผู้นั้นก็คือ มโหสถ

มโหสถ ต้องทดสอบปัญญาต่อ พระเจ้าวิเทหราช ถึง 19 ข้อ จนกระทั่งได้สถาปนาเป็นมหาบัณฑิต และเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระเจ้าวิเทหราช

ในข้อที่ 14 เรื่อง หุงข้าว มีรายละเอียดดังนี้

“ในวันอื่นอีก พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองมโหสถ จึงให้ส่งข่าวไปว่า ได้ยินว่าชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นคนฉลาด ชาวบ้านนั้นหุงข้าวเปรี้ยว ให้ประกอบด้วยองค์ 8 มาให้เรา องค์ 8 นั้น คือ 1. ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร 2. ไม่ให้หุงด้วยน้ำ 3. ไม่ให้หุงด้วยหม้อ 4. ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว 5. ไม่ให้หุงด้วยไฟ 6. ไม่ให้หุงด้วยฟืน 7. ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา 8. ไม่ให้นำมาส่งโดยทางพวกนั้น ส่งมาไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ พวกชาวบ้านหารู้เหตุไม่ จึงแจ้งแก่มโหสถ

มโหสถชี้ให้เห็นว่า ให้หุงด้วยปลายข้าว อันไม่ชื่อว่าข้าวสาร ให้หุงด้วยน้ำค้าง อันไม่ชื่อว่าน้ำปรกติ ให้หุงด้วยกระบอกไม้ไผ่ อันไม่ชื่อว่าหม้อข้าว ให้ตอกตอไม้ไว้พิงกระบอกไม้หุง อันไม่ชื่อว่าหุงด้วยเตา ให้หุงด้วยเพลิงที่สีเกิดขึ้น ชื่อว่าไม่ใช่ไฟปรกติ ให้หุงด้วยใบไม้ อันไม่ชื่อว่าฟืน นี้ชื่อว่าหุงข้าวเปรี้ยว แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ผูกด้วยด้ายประทับตรา อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กะเทยยกไป ไปทางน้อยละทางใหญ่เสีย อันชื่อว่าไม่มาโดยทาง ส่งข้าวเห็นปานดังนี้ไปถวายพระราชา ชาวบ้านได้ทำตามนัยนั้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้นจึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครรู้ ทรงทราบว่ามโหสถรู้ ก็โปรดปราน แม้อย่างนี้ก็ยังโปรดให้รอก่อน”

การบำเพ็ญปัญญาบารมีในพระชาตินี้ ทำให้พระพุทธเจ้ามีพระปัญญาคุณมาก แต่พระภิกษุสงฆ์ในที่ประชุมโรงธรรมสภา ณ วัดเชตวัน กรุงสารวัตถี หารู้ถึงที่มาของเรื่องราวของมโหสถชาดกไม่ จึงสนทนากันว่า

“พระบรมครูเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงพระปัญญาใหญ่นัก ทั้งเฉียบพลัน ทั้งลึกซึ้ง หนาแน่นดังแผ่นดิน หลักแหลม ว่องไว รู้แจ้งแทงตลอด ทรงย่ำยีซึ่งวาทะแห่งผู้อื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์มีกูฏทันตพราหมณ์ เป็นต้น เหล่าปริพพาชก มีสัพภิยะปริพพาชก เป็นต้น เหล่าพรหมมีพกาพรหม เป็นต้น เหล่าโจรมีองคุลีมาลโจร เป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ทำให้ท่านเหล่านั้นสิ้นพยศ ได้ประทานพระธรรมเทศนา ประทานบรรพชาอุปสมบท ให้ตั้งอยู่ในมรรคผลตามควรแก่บุรพูปนิสัย พระตถาคตทศพล ทรงพระปัญญาใหญ่หลวงด้วยประการฉะนี้”

ขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่ประชุมพอดี พระองค์จึงตรัสเล่าเรื่อง “มโหสถชาดก” ด้วยประการฉะนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เกษม บุญศรี. (2521). มโหสถชาดก, ตีพิมพ์เป็นธรรมพลีบรรณาการ ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2521. กรุงเทพฯ : ประชาชน จำกัด.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564