เผยแรงบันดาลใจที่ทำให้ “ครูชาลี อินทรวิจิตร” เขียนเพลง “อาลัยรัก”

ครูชาลี อินทรวิจิตร (ภาพถ่ายโดย บูรพา อารัมภีร)

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 00.45 น. ด้วยวัย 98 ปี หลังจากเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศิริราช เป็นเวลาหลายเดือน กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

บทความ “เพลงสองครู (เพลงอาลัยรัก)” ของ บูรพา อารัมภีร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2563 ได้เขียนถึงการจัดคอนเสิร์ตของสองครูเพลง เพื่อหารายได้ในการรักษาพยาบาลให้ ครูชาลี อินทรวิจิตร และครูสุรพล โทณะวณิก สองศิลปินแห่งชาติ และบอกเล่าถึงที่มาของผลงานเพลงอาลัยรัก ของครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปวัฒนธรรมขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ในเว็บเพื่อเป็นการระลึกถึง ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติผู้จากไป เนื้อหามีดังนี้


ต้นเดือนมีนาคม 2563 มีคอนเสิร์ตของสองครูเพลง ผู้จัดงานครั้งนี้คือ 4 องค์กรที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยฯ และมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ในการรักษาพยาบาลให้ ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสุรพล โทณะวณิก สองศิลปินแห่งชาติ

เอ่ยถึงครูเพลงทั้งสอง ขณะนี้ครูชาลีอายุ 97 ปี ครูสุรพลอายุ 88 ปี คนแรกป่วยเป็นโรคเบาหวาน อีกคนป่วยเป็นโรคหัวใจ เทียวเข้าเทียวออกจากบ้านไปโรงพยาบาลอยู่ทุกสัปดาห์ ถึงแม้จะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะศิลปินแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่เงินทองต้องใช้ทุกวันเมื่อไปหาหมอติดตามอาการ

รายได้จากงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ผู้จัดงานกล่าวในการแถลงข่าวว่า เงินทั้งหมดที่ได้จากสปอนเซอร์และการขายบัตร หลังจากหักค่าใช้จ่ายบางส่วนแล้ว จะหารเป็น 2 ส่วนจำนวนเท่าๆ กันและนำไปมอบให้แก่สองครูเพลงต่อไป แสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรีของผู้คนในแวดวงเพลงดนตรีของบ้านเมืองเราที่มีต่อกัน

ผู้เขียนในนามของทายาทศิลปินนักแต่งเพลงคนหนึ่งของประเทศไทย ขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณผู้จัดทั้ง ๔ องค์กร รวมถึงนักร้อง นักดนตรี และผู้เกี่ยวข้องทุกคน มา ณ ที่นี้

โปสเตอร์คอนเสิร์ต เพื่อครู… ชาลี อินทรวิจิตร & สุรพล โทณะวณิก วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓

คอนเสิร์ตเพื่อครู มีศิลปินนักร้องมาขึ้นเวทีร้องเพลงมากกว่า 30 คน

เริ่มจากรุ่นเก๋า รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง ตัวอย่างเช่น สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร รวงทอง ทองลั่นธม เศรษฐา ศิระฉายา วินัย พันธุรักษ์ วิรัช อยู่ถาวร วิชัย ปุญญะยันต์ สุดา ชื่นบาน นันทวัน เมฆใหญ่ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศรีไศล สุชาตวุฒิ ศรวณี โพธิเทศ จิตติมา เจือใจ โฉมฉาย อรุณฉาน อุมาพร บัวพึ่ง ชรัส เฟื่องอารมย์ สุนทร สุจริตฉันท์

รวมถึงรุ่นเล็ก เช่น เท่ห์-อุเทน พรหมมินทร์ วสุ แสงสิงแก้ว สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา อรวรรณ เย็นพูนสุข นนทิยา จิวบางป่า มนตรี แพร่ศิริพุฒิพงศ์ และอีกหลายคน จนมาถึงรุ่นเล็กกว่า เช่น โชคชัย หมู่มาก (แอ๊ค) แชมป์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งก็ไปครองแชมป์รายการ Golden Song คนปัจจุบัน นักร้องมากขนาดนี้น่าจะร้องกันได้แค่คนละเพลงและต้องมีเพลงหมู่รวมไว้ด้วย

ต้นฉบับนี้เขียนก่อนมีการแสดงคอนเสิร์ตวันที่ 8 มีนาคม และก่อนที่ สุเทพ วงศ์กำแหง เสียชีวิตในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา [พ.ศ.2563]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เมื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง เยี่ยมไข้แฟนเพลงที่รพ. ขับร้องเพลงให้ฟังถึงข้างเตียง

ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนทราบจะมีเพลงดังเพลงฮิตของสองครูนำมาแสดง โดยแยกเป็น

ผลงานครูชาลีมี 21 เพลง ได้แก่ ครวญ อาลัยรัก สาวมหาชัย ยามชัง เหมือนไม่เคย ไม่วายจะคิด ฉันรอจูบจากเธอ หนามชีวิต น้ำเซาะทราย เจอะคุณเข้าอีกแล้ว รักเธอเสมอ ป่าลั่น แสนแสบ หยาดเพชร ทะเลไม่เคยหลับ เรือนแพ จำเลยรัก ว้าเหว่ ป่านฉะนี้ โพระดก บ้านเรา

เพลงของครูสุรพลมี 17 เพลง ได้แก่ คน งัวหาย เก็บรัก ความรักครั้งสุดท้าย พิษรัก ฉงน ภาษาใจ ลมรัก จูบ รอ ใครหนอ หนาวเนื้อ จิ๊บ ร.ด. หัวใจขายขาด รักไม่รู้ดับ บาดหัวใจ เพชรตัดเพชร

คอนเสิร์ตครั้งนี้ผู้จัดงานให้อิสระแก่นักร้องในการเลือกเพลงของครูท่านใดมาร้องก็ได้ เท่าที่ผู้เขียนมีข้อมูลขณะนี้คือ รวงทองร้องเพลงสาวมหาชัย เศรษฐาร้องเพลงงัวหาย วินัยร้องเพลงพิษรัก ศรีไศลร้องเพลงความรักครั้งสุดท้าย สุดาร้องเพลงฉันรอจูบจากเธอ โฉมฉายร้องเพลงโพระดก จิตติมาร้องเพลงภาษาใจ วสุร้องเพลงจิ๊บ ร.ด.

ส่วนเบอร์ใหญ่รุ่นเก๋าอย่าง สุเทพ วงศ์กำแหง เลือกร้องเพลงคน ของครูสุรพล ในขณะที่ ชรินทร์ นันทนาคร เลือกร้องเพลงอาลัยรัก ซึ่งเป็นเพลงที่เคยร้องไว้ในงานคอนเสิร์ต “วันดวลเพลง ชาลี&สุรพล” เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เพลงอาลัยรักนั้น ครูชาลีเคยเขียนบันทึกไว้ในหนังสือคอนเสิร์ตวันดวลเพลง ชาลี อินทรวิจิตร VS สุรพล โทณะวณิก เมื่อวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2541 พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) น. 12-13 ระบุว่า

“…ผมรักเพลง ผมจึงชอบร้องเพลง ผมรักหนังสือ ผมจึงชอบอ่านหนังสือทุกตัวอักษรอันงดงาม ผมนำมาจากหนังสือเป็นภาษาสวยที่ผมฉกฉวยมาเป็นส่วนประกอบของบทเพลงหลายต่อหลายเพลง

‘เพลินแม่ยอดรัก ถ้าฉันเป็นนกฉันจะบินติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าบินไปในระหว่างทางตัวฉันจะต้องธนู ฉันก็จะอุตส่าห์พยุงกายบินไปตกตรงหน้าตัก และเมื่อยอดรักได้เช็ดเลือดและน้ำตาให้ฉันสักครั้งหนึ่ง ฉันก็จะหลับตาตายด้วยความเป็นสุข แต่ยอดรักฉันบินไม่ได้อย่างนก ดังนั้นแม่ยอดหญิง อย่าทอดทิ้งฉันไปเลย’

บทสุดท้าย หน้าสุดท้าย จากนวนิยายเรื่องสงครามชีวิต ของศรีบูรพา กลับกลายเป็นปฐมฤกษ์แห่งชีวิตการแต่งเพลงของผม จากคนร้องเพลงสลับฉากละครที่ไม่เคยคิดจะกลายเป็นคนแต่ง เมื่อโอกาสมาถึงพร้อมหนังสือเล่มหนึ่ง นกเสรีตัวนี้ก็ได้พบเส้นทางสายปรารถนาแล้ว 

ต้องยอมรับว่า สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เป็นคนส่งให้ผมเกิด เขาบอกผมว่า

‘เฮ้ย หง่า [ชาลี เดิมชื่อ สง่า อินทรวิจิตร – ผู้เขียน] ลองอ่านหนังสือเล่มนี้หน่อย’ แล้วก็หยิบหนังสือสงครามชีวิตมาให้

บังเอิญ ปรีชา บุญยเกียรติ [ดารานักร้องมีชื่อเสียงสมัยก่อน เสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๐๔ – ผู้เขียน] ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผมก็เลยได้โอกาสแต่งเพลงนี้ให้ ชรินทร์ งามเมือง ร้องไว้อาลัยปรีชาในละครเพลงที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์คู่กับสวลี ผกาพันธุ์

‘แม้มีปีกโผบินได้เหมือนนก อกจะต้องธนูเจ็บปวดนัก ฉันจะบินมาตายตรงหน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา’

ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน …”

เนื้อเพลงที่ครูชาลีแต่งหลังจากอ่านนวนิยายแล้ว มีว่า

อาลัยรัก

ฉันรักเธอ รักเธอด้วยความไหวหวั่น

ว่าสักวันฉันคงถูกทอดทิ้ง

มินานเท่าไหร่แล้วเธอก็ไปจากฉันจริงจริง

เธอทอดทิ้งให้อาลัยอยู่กับความรัก

แม้มีปีกโผบินได้เหมือนนก

อกจะต้องธนูเจ็บปวดนัก

ฉันจะบินมาตายตรงหน้าตัก

ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา

และยังระบุต่ออีก “เพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เมื่อส่งเข้าประกวดจากวิทยุกองพล 1”

อาลัยรัก สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้นักร้องและนักแต่ง ตั้งแต่ครั้งโน้นมาจนถึงขณะนี้

คอเพลงที่ชอบผลงานของชาลี-ชรินทร์ ได้ฟังกันในคอนเสิร์ต เพื่อครู…


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564