ศึกประชันปี่ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ปะทะ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

(ซ้าย) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), (ขวา) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

นอกจากการประชันระนาดของสองครูดนตรีที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยอย่าง พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) กับหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แล้ว ทั้งสองท่านยังเคยประชัน “ปี่” ซึ่งเป็นการประชันที่ต่างก็ไม่มีใครยอมใคร

อ. ถาวร สิกขโกศล เขียนถึงการประชันปี่ของทั้งสองท่านไว้ในส่วนหนึ่งของบทความ “ตัวตนจริงของขุนอินทร์ นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องโหมโรง” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2555 ดังนี้

“สมเด็จวังบูรพาเป็นเจ้านายที่ทรงมุ่งมั่นแข่งขันเอาชนะในด้านดนตรีสูงมาก เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์นั้น ระนาดกับปีโดดเด่นเป็นหน้าเป็นตาสูงสุด เหมือนพระเอกกับนางเอก ท่านจึงทรงจัดให้จางวางศร ประชันปี่กับนายแช่มอีก เข้าใจว่าเป็นช่วงหลังจากนายแช่มเป็นขุนเสนาะดุริยางค์ในปี พ.ศ. 2446 แล้ว

ผลการประชันนั้น ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกงานชุมนุมดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 5 ว่า ท่านเล่าว่าในการประชันครั้งหนึ่ง ท่านไปเสียท่าเป่าปี่ในแพ้ครูผู้ใหญ่คนหนึ่งเข้า [หมายถึง พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) – กองบก.ออนไลน์] ท่านเจ็บใจเลยออกไปหมกตัวอยู่บางช้าง เฝ้าคิดหาวิธีเป่าปี่ให้สูงขึ้นไปได้อีก 2 เสียง และผันลงต่ำได้ทันทีโดยลิ้นไม่แฟบ ในการนี้ท่านเล่าว่าได้ไปนั่งอยู่ในสวน และสังเกตการเป่าหวอดของปลาหมอ จนกระทั่งเอามาคิดหาวิธีเป่าปี่ดังกล่าวนั้นได้สำเร็จ’

หลังจากนั้นสมเด็จวังบูรพาจัดให้ประชันกันอีกเพื่อจะให้จางวางศรเอาชนะให้ได้ คราวนี้ให้เป่าเดี่ยวแขกมอญสามชั้นรับร้องทีละท่อน เรื่องนี้ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เขียนไว้ในหนังสือ ‘ลำนำแห่งสยาม’ ว่า ‘เล่ากันว่าครั้งหนึ่งท่าน [หมายถึง พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) – กองบก.ออนไลน์] ถูกสั่งให้ไปเป่าปี่เพลงแขกมอญประชันกับนักดนตรีรุ่นที่เด็กกว่า (ประมาณ 15 ปี) ท่านทราบดีว่า เพลงแขกมอญนั้นมีสามท่อน แต่ละท่อนให้อารมณ์ต่างกัน จึงตัดลิ้นปี่ติดตัวไปสามอัน อันแรกสำหรับเป่าเสียงต่ำ อันที่สองสำหรับเสียงกลาง อันสุดท้ายสำหรับเสียงสูง (แหบ) ทั้งสามท่อนที่ท่านเป่ารับการขับร้องจึงมีอรรถรสงดงามเป็นพิเศษ โดยที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถเอาชนะท่านได้’

สมเด็จวังบูรพายังไม่ละความพยายาม จัดให้ประชันครั้งที่ 3 อีก คราวนี้นอกจากเพลงอื่นแล้วยังมีเพลงแขกมอญเถา พอถึงเพลงนี้ พระยาเสนาะดุริยางค์เป่าก่อน พอจบชั้นเดียว หลวงประดิษฐฯ เป่าสวมชั้นเดียวด้วยความไหวจัดชัดเจน แล้วเป่าย้อนจากชั้นเดียวไปสองชั้นและสามชั้น ซึ่งเป็นวิทยายุทธ์พิสดาร หมายเอาชนะให้ได้ แต่สุดท้ายเกิดข้อผิดพลาดไปเพียง 2 นิ้ว เลยไม่สามารถเอาชนะได้ การประชันครั้งนี้มีคำร่ำลือในวงการว่า ‘จางวางศรสะอึกเลือด’ แต่ผู้เขียนสอบถามคนที่หลายคนแล้วเห็นตรงกันว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นคำเล่าลือเกินจริงแบบมือเป็นตะคริวตายคาผืนระนาดนั่นแหละ

นั่นคือ พระยาเสนาะดุริยางค์ชนะผู้ท้าประชันปี่ได้อย่างงดงามทั้ง 3 ครั้ง

ในการประชันปี่นี้ พระยาประสานดุริยศัพท์ซึ่งเก่งปี่ไม่แพ้พระยาเสนาะดุริยางค์คงไม่ได้ช่วยสอนหรือติวให้หลวงประดิษฐฯ เหมือนเมื่อครั้งประชันระนาด เพราะปี พ.ศ. 2447 ท่านถวายตัวเป็นครูคุมวงปี่พาทย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (คือ รัชกาลที่ 6) แล้ว และปกติท่านก็เกรงใจพระยาเสนาะฯ มากเพราะเป็นลูกของครูช้อยซึ่งเป็นครูของท่าน

หลังจากนั้นสมเด็จวังบูรพายังทรงพยายามจะจัดให้ประชันกันอีก แต่พระยาเสนาะดุริยางค์ฟันเริ่มหักและ โยกคลอน ไม่เอื้อแก่การเป่าปี่ประชัน ประกอบกับท่านเบื่อหน่ายมาก จึงทูลสมเด็จวังบูรพาว่าไม่ขอประชันด้วยอีกต่อไป การประชันจึงสิ้นสุดอย่างเด็ดขาดตั้งแต่นั้นมา

ฉะนั้น ในเรื่องฝีมือสรุปได้ว่า ระนาดหลวงประดิษฐไพเราะสู้พระยาเสนาะดุริยางค์ได้ ต่อมาทางระนาดของท่านได้รับความนิยมมากกว่า แต่เรื่องปี่เทียบกันไม่ได้เลย ต่อมา ทางปี่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ก็ยึดครองวงการดนตรีไทยมาจนปัจจุบัน ศิษย์ครูหลวงประดิษฐฯ ที่มีชื่อเสียงติดอันดับมีน้อยมาก เช่น ครูสมบัติ เดชบรรลือ แต่ก็ยัง ‘ห่างชั้น’ เทียบไม่ได้กับศิษย์สายพระยาเสนาะดุริยางค์ ซึ่งมีมากและมีชื่อเสียงกว่า เช่น ครูเทียบ คงลายทอง ครูโชติ ดุริยประณีต ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (หลานศิษย์ของครูชื่นน้องชายพระยาเสนาะๆ) ผวน บุญจำเริญ บุญช่วย โสวัตร ปี๊บ คงลายทอง ฯลฯ”

ทั้งพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่างก็เชี่ยวชาญทั้งระนาดและปี่ โดยปัจจุบันทางระนาดของหลวงประดิษฐไพเราะได้รับความนิยมสูงสุดในวงการดนตรีไทย ขณะที่ทางปี่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ก็ได้รับความนิยมและยึดครองทั่ววงการดนตรีไทยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2564