โลงศพ-หีบศพอีสาน กับคติความเชื่อการทำโลงศพของชาวอีสาน อัตลักษณ์เชิงช่างสกุลไท-ลาว

โลงศพอีสาน หีบศพอีสาน

หนึ่งในงานช่างพื้นถิ่นอีสานด้านหัตถกรรมไม้ ที่หลายคนมองข้ามและนึกไม่ถึง ถึงเอกลักษณ์ที่แปลกแตกต่างจากภาคอื่น ๆ นั่นก็คือ โลงศพอีสาน หรือ หีบศพอีสาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนหนีไม่พ้นต้องได้ใช้ในวันใดวันหนึ่งของวาระสุดท้ายในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะบรรจุหรือห่อหุ้มสิ่งที่ไม่น่ามอง อันได้แก่สังขารของเราเอง

สำหรับสังคมวัฒนธรรมไท-ลาว โลงศพอีสาน มีลักษณะร่วมที่เหมือนกันโดยเฉพาะรูปแบบ รายละเอียดอาจจะแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขณะเดียวกันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีรายละเอียดและชื่อเรียกที่เป็นศัพท์เฉพาะของท้องถิ่น ดังนี้คือ

ส่วนฐาน ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 0.60 เมตร ยาวประมาณ 1.80-2.10 เมตร มีลักษณะแบบที่เรียกว่า “ฐานหีบ” มีแม่คีไฟ 3 ชิ้น (ภาคกลางเรียกส่วนนี้ว่า “ฐานเขียง”)

ส่วนตัวเรือนหีบ ภาษาช่างเรียกส่วนนี้ว่า “เอวขันปากพาน” ซึ่งต้องประกอบด้วยส่วนโบกคว่ำ (บัวคว่ำ) โบกหงาย (บัวหงาย) และส่วนที่เป็นท้องไม้ (ถ้าท้องไม้มีเส้นลวดบัวขนาดใหญ่จะเรียกว่า “ดูกงู”)

ส่วนยอด เรียกรวมทั้งหมดนี้ว่า “ตีนหีบ” ซึ่งต้องประกอบด้วย “ปากขัน หีบน้อยและยอดแบบนพศูล 3 ยอด” (พบมากในแถบเมืองอุบล) ลดหลั่นตามความสูงของหีบ ส่วนยอดนี้บางแห่งนิยมทำแบบ “ยอดปราสาทผึ้ง” คล้ายกับส่วนยอดธาตุปูนพื้นถิ่นอีสาน โดยมีความสูงจากระดับพื้นถึงยอดสูงสุดประมาณ 2.20 เมตร

ภาพรวมของรูปทรง โลงศพอีสาน ในด้านสกัดด้านแคบคล้ายกับธาตุปูน ส่วนที่เป็น “เอวขัน” การผายออกของหีบศพลักษณะนี้ คล้ายกับโลงศพแบบพม่า หรือฝาเรือนทางภาคเหนือของไทย การผายออกของฝาจะช่วยในการรับแรงอัดและการถ่ายแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มจังหวะ (ส่วนเอวขันปากพาน) ในรูปทรงที่สูงชันขึ้น เพิ่มความสง่างามในตำแหน่งที่ตั้ง เพิ่มนัยยะสำคัญให้ในการจัดวางหีบศพกับตัวเมรุ

คติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับการทำโลงศพโดยสังเขป สมัยโบราณรวมถึงปัจจุบันในวิถีชาวบ้าน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการหนัก ญาติพี่น้องจะทำโลงศพเพื่อต่อดวงชะตาหรือสะเดาะเคราะห์ให้ผู้ป่วย เมื่อหายก็จะถวายหีบนั้นให้วัด เป็นการทำกุศลให้กับผู้ยากไร้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ต่อไป อนึ่งการทำโลงศพสมัยก่อนจะใช้ยางบงมาอุดรอยต่อหรือรูรั่ว และใส่ปูนขาวไว้สำหรับดูดซับน้ำเหลืองจากศพ

การเผาแบบชาวบ้าน ในกลุ่ม “ชาวย้อ” มีธรรมเนียมการขอบริจาคฟืนจากทุก ๆ ครอบครัวเรียกว่า “แผ่ฟืน” เมื่อได้จำนวนพอเพียงแล้วก็จะนำไปกอง ณ ที่เผา ส่วนมากจะเป็น “ป่าแอ้ว” และเคลื่อนศพด้วยการทำคานหาม โดยจัดเตรียมดุ้นไฟชนวนสำหรับเผาศพ ข้าวตอกโปรยหว่านระหว่างทาง น้ำมะพร้าวสำหรับล้างหน้าศพ และจตุปัจจัยไทยทานพระสงฆ์

สมเด็จครูได้กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ว่า “เดิมที่เอาฟืนมากองกับพื้นดินและเอาศพวางบนนั้นและจุดไฟเผา พื้นที่สุมจะทรุดตัวทำให้ศพเคลื่อนตก ทางอุบลราชธานีเขามีไม้กดศพ เรียกว่า ไม้ข่มเผง’ 2 อัน เพื่อกันมิให้ศพเคลื่อนเมื่อกองฟืนทรุด…”

อนึ่ง ในวิถีสังคมปัจจุบันของอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างถูกแปรเปลี่ยนและโดนทำลายไป แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ภูมิปัญญาพื้นถิ่น อย่าง โลงศพอีสาน ยังคงอยู่รอด แม้จะไม่ดีเท่าที่ควรนัก แต่ยังได้รับการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีการเก็บรักษาศพ) โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิมแม้จะถูกปรุงแต่งด้วยลวดลายแบบภาคกลางไปแล้วก็ตาม

สำหรับฐานานุศักดิ์อาจแตกต่างในรูปแบบ เช่น การทำนกหัสดีลิงค์ ซึ่งในปัจจุบันจะทำเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ของเมือง แต่โดยรูปแบบของโลงศพหรือหีบศพนั้นไม่ต่างกันมากนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘โลงศพ หีบศพอีสาน’ อัตลักษณ์ร่วมในเชิงช่างสกุลไท-ลาว กับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในบริบทใหม่” เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564