นัยของเพลง “ลิงถอกกระดอเสือ” และ “ลิงโลน” ในงานของสุนทรภู่ ลิงพวกนี้ทำอะไร?

ลายรดน้ำ ลิงแฉ็งไขแขก ตู้พระไตรปิฎก
ภาพลายรดน้ำ ลิงแฉ็งไขแขก (ในวงกลม) ตอนตะลุมบอนของไพร่พลกองทัพพระรามกับกองทัพทศกัณฐ์บนบานตู้พระไตรปิฎกที่จีนบุญรอดสร้างถวายวัดพระทรง เมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558)

สืบนัยของเพลง “ลิงถอกกระดอเสือ” และ “ลิงโลน” ในงานของสุนทรภู่ ลิงพวกนี้ทำอะไร?

เมื่อสุนทรภู่เดินทางไปเมืองเพชรคราวแต่งนิราศ (พ.ศ. 2374) เมื่อผ่านปากคลองมหาชัย เป็นเวลารุ่งเช้า บรรดาเรือเดินทางต่างคอยน้ำขึ้น จึงพักเรือหุงหาอาหารกัน ท่ามกลางฝูงลิงที่ขวักไขว่มาขอส่วนแบ่ง มี “ทั้งวานรอ่อนน้อยๆ กระจ้อยร่อยกระจิหริดจิ๊ดจิ๊ดจิ๋ว” แต่ที่น่าสนใจนั้น ท่านบรรยายว่า

แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ
จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู

ปัญหาที่น่าวิเคราะห์จึงมีว่า ลิงมันทำอะไร? ที่ทำให้ชาวเรือเมิน (คือทำเป็นไม่มอง) ด้วยอดสูใจ

แม้ท่านสุนทรภู่บอกว่ามันโลนเหลือ (คือโลนมาก) แต่ก็ยังไม่ชัดไม่เห็นรูปธรรมอยู่นั่นเอง (นี่ว่าถึงตัวผมเองที่เป็นครูสอนวรรณคดี)

เมื่อดูความหมายคำโลนจากพจนานุกรม (ฉบับมติชน) ที่ว่า “ว. หยาบ, คะนอง มักใช้เข้าคู่กับคำ หยาบ เป็นหยาบโลน”

ความหมายที่ว่าหยาบ ว่าคะนอง อันเป็นคำขยายนั้น อาจส่องนัยถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นพูด ขัด ถู ฯลฯ เป็นต้น ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าลิงมันทำอะไร จึงพยายามมองหาพฤติกรรมของลิงที่เป็นรูปธรรม เพื่อหาข้อสรุปว่าเป็นพฤติกรรมอะไรที่คนเรือทำเป็นไม่มองเพราะอดสูใจ

(ลิง) แฉ็งไขแขก

ที่วัดพระทรง เมืองเพชรบุรี มีตู้ลายรดน้ำใบหนึ่งที่จีนบุญรอดสร้างถวายไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2393 (เพราะมีจารึกทั้งภาษาจีนและภาษาไทยบอกไว้ตรงกัน)

ตรงฐานลายด้านข้าง – ขวาเป็นกองทัพพระราม ซ้ายเป็นกองทัพทศกัณฐ์ ส่วนด้านหน้าทั้ง 2 บาน เป็นตอนตะลุมบอนของไพร่พลทั้งสอง

ที่น่าสังเกต ไพร่พลของพระรามก็เป็นพลลิงตรงกับเรื่องรามเกียรติ์ แต่ไพร่พลของทศกัณฐ์แทนที่จะเป็นยักษ์ กลับเป็นฝรั่งเป็นแขก

ผมพยายามคิดตรึกตรอง โดยคำนึงถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ในปีดังกล่าวนั้น เป็นเวลาหลังเสร็จศึกปัตตานี ซึ่งชายฉกรรจ์ชาวเมืองเพชรบุรีถูกเกณฑ์ไปรบด้วย และคงล้มตายลงส่วนหนึ่ง ทำให้สาวชาวเมืองเป็นหม้าย และระยะเวลาเดียวกัน ฝรั่งมาตั้งสอนศาสนาที่เมืองเพชร และคนเมืองเพชรเห็นว่าเป็นการชักชวนให้คนเมืองเพชรเข้ารีต

ช่างเมืองเพชรคงไม่ชอบฝรั่ง และเห็นใจหม้ายเมืองเพชร จึงเกณฑ์ให้ทั้งแขกและฝรั่งเป็นฝ่ายอธรรม คือให้เป็นไพร่พลของกองทัพทศกัณฐ์ เป็นการสร้างงานศิลป์จากสภาพสังคมร่วมสมัย อาจสะท้อนถึงความไม่ชอบใจอยู่ด้วย การสร้างงานศิลป์โดยสะท้อนลักษณะสังคมเช่นนี้ของช่างเมืองเพชร ยังคงพบเห็นได้แม้ในปัจจุบัน

ในการตะลุมบอนของไพร่พล ได้สะท้อนพฤติกรรมของลิงตามความเข้าใจของช่าง เช่น การพยายามถอดกางเกงฝรั่ง การถกโสร่งแขก เป็นต้น และมีลิงตัวหนึ่งถกโสร่งสำเร็จ จึงใช้มือหนึ่งบีบจมูกและอีกมือกำลังปฏิบัติการแฉ็งไขแขก

แฉ็งไขแขก อาจเข้าใจยากอยู่บ้าง เพราะผมใช้ภาษาชาวสะตอ “แฉ็งไข” พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ให้ความหมายว่า “ทำให้ปลายอวัยวะสืบพันธุ์เปิดออก” โดยนัยนี้ก็ตรงกับภาษากลางว่า ถอก นั่นเอง เฉพาะคำ ไข ก็หมายถึงอวัยวะเพศชาย อย่างวลี “เลือดเนื้อเชื้อไข” นั้น ตามความเข้าใจของคนใต้ มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกันในภาษาชาวบางกอก

ขอเรียนว่าเมื่อผมได้เห็นลิงแฉ็งไขแขก ก็นึกขำและทำให้นึกถึงคำสอนเชิงขู่ของพ่อ ตอนผมยังเด็กๆ ว่าห้ามเข้าใกล้ฝูงลิง เพราะลิงมันจะแฉ็งไขเอา และพ่อมักบอกเล่าถึงเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง ว่าเข้าป่าคนเดียวไปตัดไม้ ถูกฝูงลิงเข้ามาห้อมล้อมทำร้าย เพื่อนผู้นั้นเงื้อขวานจะฟัน ฝูงลิงเข้ามายื้อยุดแย่งขวานไปเสีย จึงต้องทำเป็นนอนตายตามที่ได้รับคำสอนต่อๆ กันมา ว่าเมื่อลิงได้ทำตามใจแล้ว มันจะจากไปเอง เพื่อนผู้นั้นของพ่อก็ทำทุกอย่างด้วยมีสติ เมื่อลิงใหญ่ปฏิบัติการแฉ็งไขเพลินอยู่ จึงดึงมีดเหน็บออกมาจ้วงแทงไปอย่างแรง จนมันหงายผลึ่งลงไป ฝูงลิงทั้งปวงจึงหนีกระจายไป

เรื่องฝูงลิงที่ผมพูดถึงนี้ คือลิงที่เรียกขานกันว่าลิงกัง เพราะบ้านที่ผมเกิดอยู่กลางป่า พบเห็นอยู่เป็นประจำ จนคราวหนึ่งพ่อคงรำคาญและกลัวจะมาทำร้ายลูกๆ จึงใช้ปืนแก๊ปยิงตายไปหลายตัว ในที่สุดฝูงลิงก็ล่าหนีไป

เรื่องลิงแฉ็งไขแขก จึงน่าจะเป็นพฤติกรรมของลิงจริงๆ และช่างก็คงทราบกันอยู่อย่างดี ไม่ใช่เป็นจินตนาการลอยๆ ของช่าง และหากเป็นจินตนาการ ก็ต้องถือเป็นจินตนาการที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง

เมื่อเห็นภาพลายรดน้ำที่ลิงแฉ็งไขแขก ก็ยังไม่ทราบว่า ที่ท่านสุนทรภู่ว่ามันโลนนั้น มันทำอย่างนั้นหรือเปล่า? และทำกับใคร?

เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ผมเคยไปดูซากเสาชิงช้า (ที่ปรากฏในนิราศเมืองเพชร) ที่วัดเพชรพลี ในสมัยหลวงพ่อจู๊ดเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อเลี้ยงลิงทโมนตัวหนึ่งไว้ในกรง ผมจึงไปยืนดู ครู่หนึ่งลิงคงเห็นผมสนใจ จึงปฏิบัติการแฉ็งไขมันเองให้ดู ผมเลยถึงบางอ้อว่าลิงมันคงทำเช่นนี้เองให้คนเรือสมัยสุนทรภู่ดู คนเรือจึงอดสูใจ

เมื่อหลวงพ่อมาเห็นผมยืนดูอยู่เช่นนั้น ท่านบอกว่ามันพิเรนทร์หน่อยนะ ใจผมคิดว่าไม่หน่อยเลย แต่ไม่ได้บอกหลวงพ่อ

การได้เห็นภาพจากลายรดน้ำ นอกจากนึกถึงคำสอนขู่ของพ่อแล้ว ผมยังนึกได้ว่า ตอนผมเข้ามาเรียนหนังสือที่บางกอกกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร (พ.ศ. 2497) เพื่อนรุ่นพี่ชวนไปดูหนัง ก่อนถึงเวลาฉาย เพื่อนชวนไปเข้าห้องสุขาชาย บอกว่ามึงต้องทำตามคำสั่งนะ ผมออกงงถามว่าคำสั่งอะไร เพื่อนบอกว่ามึงดูที่โถซิ เมื่อมองดูก็เห็นว่าที่โถปัสสาวะมีอักษรฝรั่งชัดเจนว่า SHANK (เป็นยี่ห้อเครื่องสุขภัณฑ์ อเมริกัน สแตนดาร์ด) จึงยังขำและจำได้จนบัดนี้

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ปัญหาที่ตั้งเป็นธงไว้ ก็คงได้ทราบคำเฉลยแล้ว แต่ยังไม่หมดกระแส เพราะเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่าน คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิต ชวนไปจัดรายการวิทยุ “ที่นี่เมืองเพชร” ทางสถานีเพชรภูมิเรดิโอ เพื่อคุยกันเรื่องการจัดงานตามรอยสุนทรภู่ ที่คุณทวีโรจน์ได้เป็นหัวเรือใหญ่มาหลายปี เฉพาะปีนี้คุณทวีโรจน์บอกว่าจะได้ล่องเรือจากปากอ่าวบางตะบูนถึงวัดคุ้งตำหนัก อันเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จมาทรงเบ็ด ตามที่ปรากฏในนิราศเมืองเพชร

เพลง “ลิงถอกกระดอเสือ” – “ค้างคาวกินกล้วย”

ในการจัดคราวนี้ คุณทวีโรจน์ได้เชิญครูดนตรีเครื่องสายไทยที่ตั้งใจจะบรรเลงควบคู่ไปกับกิจกรรมในเรือ และได้ชวนครูทั้งสองมาร่วมรายการวิทยุ เป็นการอุ่นเครื่องก่อนถึงวันจัดงาน

เนื่องจากเป็นรายการสด ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ ตอนหนึ่งคุณทวีโรจน์ปรารภขึ้นว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังเครื่องสาย แม้จะชอบอย่างไรแต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็นเพลงอะไร จำได้เพลงเดียวคือเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ครูฐานิสส์จึงสาธิตการเป่าขลุ่ยในทำนองเพลงดังกล่าวพอได้บรรยากาศหน่อยหนึ่ง หันไปทางคุณทวีโรจน์ถามว่า ทราบไหม? ครูแต่ก่อนเขาไม่เรียกเพลงค้างคาวกินกล้วย เพราะฟังแล้วไม่เห็นว่ากินกล้วยอย่างไร จึงฉึกกะฉึกๆ อย่างนั้น พร้อมกับเฉลยว่า ครูแต่ก่อนท่านเรียกว่าเพลง “ลิง/ถอ/ออ/กอ/กระดอเสือ” ผมจึงบอกว่า ไม่จำเป็นต้องกระมิดกระเมี้ยนตู่เสียงอย่างนั้นก็ได้ บอกไปตรงๆ เลยว่าเพลงลิงถอกกระดอเสือ

ครูชื่นซึ่งร่วมรายการอยู่ด้วย จึงว่าท่านก็ทราบมาอย่างนั้น แต่ครูสมัยหลังคงเห็นกันว่าชื่อออกโลนเกินไป จึงเรียกกันว่าเพลงค้างคาวกินกล้วย และนิยมเรียกกันจนทุกวันนี้

เมื่อกลับถึงบ้านผมได้ลองหารือครูกู๋ (คือกูเกิล) ดู จึงได้รายละเอียดว่า แต่เดิมเพลงค้างคาวกินกล้วย เป็นเพลงต้นในชุดเขมรใหญ่ เป็นเพลงสั้นๆ มีทำนองไม่เหมือนทุกวันนี้ ส่วนเพลงลิงถอกกระดอเสือเป็นเพลงต่อจากเพลงค้างคาวกินกล้วย ทำนองออกเร้าใจและสนุก ครูดนตรีจึงเรียกเสียใหม่ จะได้กล่าวถึงกันอย่างสะดวกปากว่าเพลงค้างคาวกินกล้วย และได้รับความนิยมกันต่อมา

เป็นอันว่า เรื่องพฤติกรรมของลิงที่ท่านสุนทรภู่บอกว่าโลนเหลือนั้น ศิลปินเพลงไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาได้สังเกตเห็นมาก่อนแล้ว จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อเพลง

ปัญหาจึงมีต่อว่า แล้วเสือมาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร?

ถึงตอนนี้ผมนึกถึงคอนเสิร์ต “ลิงกับเสือ” ของวง “สามศักดิ์” (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา มีศักดิ์ นาครัตน์และ ศักรินทร์ บุณญฤทธิ์) ที่แสดงทางโทรทัศน์ยุควิกบางขุนพรหม เป็นคอนเสิร์ตที่สนุกสนานครื้นเครง มีเนื้อความส่วนหนึ่งจำได้ว่าเป็น “ลิงจับมือเสือ รักกันไม่เบื่อ เสือจับหางลิง ฯลฯ อะไรอย่างนั้น”

ถึงตอนนี้ผมคิดออกแล้วว่า แม้ทั้งสามศักดิ์จะว่าลิงจับมือเสือ แต่ในใจของทั้งสามศักดิ์ อาจคิดถึงชื่อเพลงไทยโบราณนั้นก็ได้ (หากผมเดาใจพลาดก็กราบขออภัย) เพราะลองดูแล้วสอดคล้องกันดี

แต่ลิงกับเสือของวงสามศักดิ์ก็ไม่ได้เฉลยว่าเสือมาเกี่ยวข้องกับลิงได้อย่างไร จึงเป็นปัญหาประเภทตราไว้ก่อน โดยมีสมมุติฐานว่าชะรอยเสือก็คงมีพฤติกรรมเร้นลับบางอย่างที่เราไม่ทราบก็ได้ และการจะตามสังเกตพฤติกรรมเสือตามธรรมชาติ ก็แน่นอนว่า ไม่อาจจะทำได้ ได้แต่สอบถามคนนิยมป่า แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าเสือมันทำอะไร

แล้วคำเฉลยก็ได้พบในภาพเขียนปฐมสมโพธิ ที่คอสองศาลาการเปรียญวัดจันทราวาส เมืองเพชรบุรี เป็นฝีมือครูช่างเขียนใหญ่เมืองเพชร คือ ครูหวน ตาลวันนา ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูช่างเขียนห้าแผ่นดิน (พ.ศ.2404-95)

ภาพเขียนปฐมสมโพธิ คือภาพพุทธประวัติ แต่ฉากและส่วนประกอบเป็นเรื่องราวร่วมสมัย โดยเฉพาะฉากที่เป็นป่า นอกจากจะเป็นต้นไม้แล้วจะปรากฏภาพสัตว์นานาพันธุ์ เมื่อได้ชมอย่างละเอียด พฤติกรรมของเสือที่ได้เห็น จึงน่าจะเป็นคำเฉลยว่าทำไมศิลปินโบราณจึงนำมาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของลิง

ก็ดูจากภาพเอาเถิด

เสือ จิตรกรรม ศาลาการเปรียญ วัดจันทราวาส เพชรบุรี
ภาพ “เสือเลีย…!” จิตรกรรมที่คอสองศาลาการเปรียญวัดจันทราวาส เมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558)

ในภาพเป็นพราน 2 คน ตามล่าเสือมาตามลำดับ จนที่สุดเมื่อเล็งปืนไปยังเสือก็เห็นเสือทำอะไรอย่างหนึ่ง (อุ๊ย บอกไม่ได้) จึงไม่ได้ยิง คงจะเห็นใจเสือกระมัง เลยได้คิดว่า เสือคงมีพฤติกรรมอย่างนี้ ศิลปินแต่ก่อนจึงจับให้คู่กับลิง ที่กระทำกับกระดอเหมือนกัน เป็นการสร้างสรรค์เป็นทำนองเพลงไทย ให้รวมอยู่ในชุดเขมรใหญ่ จนล่าสุดคณะสามศักดิ์จึงได้สรรเป็นชุดลิงกับเสือ โดยทิ้งร่องรอยให้ผู้ฟังค้นหากันเอง ว่าโบราณเขาทำไว้อย่างไร และผมมาได้พบคำเฉลยและได้เขียนถึงเมื่ออายุยืนมาได้ 28,693 วัน

ที่จริงก็อยากจะจบลงตรงนี้ เพราะได้เฉลยลิงกับเสือมาหมดแล้ว แต่ที่ต้องบอกเล่าต่อ เพราะได้ติดตามสังเกตสองพรานในภาพของครูหวน ว่าทำไมจึงไม่ยิงเสือ

ไปได้คำเฉลยที่ภาพคอสองวัดเกาะ อันเป็นภาพพระปฐมสมโพธิเช่นเดียวกัน ซึ่งครูหวนได้เขียนไว้ก่อนวัดจันทราวาส ในภาพจะเห็นเสือยืนบนโขดหินจ้องพรานนอนก่ายเกยกันใกล้กองไฟริมโขดหิน(น่าจะเป็นตอนหยุดพักในยามค่ำคืนและอากาศเริ่มหนาว)

ในภาพจะเห็นพรานคนหนึ่งเอามือหนึ่งก่ายหน้า ส่วนอีกมือสอดเข้าไปใต้ผ้าห่ม ที่พรานอีกคนชักส่วนหนึ่งขึ้นปิดหน้า พราน 2 คนกำลังทำอะไรกัน? หรือว่าเสือก็เห็นใจพราน เลยไม่ลงมาขย้ำ

เสือ จิตรกรรม ศาลาการเปรียญ วัดจันทราวาส เพชรบุรี
ภาพ “เสือมอง…?” จิตรกรรมที่คอสองศาลาการเปรียญวัดเกาะ เมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558)

ทีนี้ก็เห็นจะจบลงได้ว่า เสือเห็นใจพราน พรานก็เห็นใจเสือ ใครจะลองทำเป็นคอนเสิร์ตก็เชิญเลยครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ลิงโลน-ลิงทำอะไร?” เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2564