“สยามานุสสติ” ถึง “บทชวนรักชาติ” พระราชนิพนธ์ในร.6 สู่บทเพลงว่าด้วยความรัก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลก ในแวดวงทางวัฒนธรรมดนตรีแล้ว มีครูเพลงหลายท่านนิยมอัญเชิญพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 มาใส่ทำนองให้ศิลปินร้อง แฟนเพลงฟังกันมากมาย

บูรพา อารัมภีร คอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมดนตรีรวบรวมตัวอย่างบางส่วนมาบอกเล่าไว้ในบทความ “เพลงความรัก” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2562 ตัวอย่างครูเพลงมีชื่อเสียงในยุคก่อน บูรพา ยกตัวอย่างเช่น ครูนารถ ถาวรบุตร ราชาเพลงมาร์ช หัวหน้าวงดนตรีโรงงานยาสูบ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงสุนทราภรณ์ ครูสุรพล แสงเอก นักแต่งเพลงประจำคณะอัศวินการละคร และพ่อ ครูสง่า อารัมภีร ผู้ก่อตั้งวงดนตรีกระชับมิตร

บูรพา บอกเล่าไว้ในบทความ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความดังนี้

“ท่านที่กล่าวถึงนั้นจะแต่งทำนองเป็นเพลงไทยสากล และนำไปบันทึกแผ่นเสียงให้ประชาชนฟัง ตัวอย่างเช่น ครูนารถ แต่งเพลงสยามานุสสติ จากพระราชนิพนธ์โคลงชุดสยามานุสสติ ร้องขึ้นว่า

‘หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย…’

ครูเอื้อแต่งเพลงสาส์นรัก จากพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปม ที่ขึ้นว่า

‘ในลักษณ์นี้ว่าน่าประหลาด
เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า…’

เพลงไร้รักไร้ผล จากพระราชนิพนธ์ชื่อบทชวนรักชาติ ร้องว่า

‘เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง
ควรคำนึงถึงชาติศาสนา…’

ครูสุรพลแต่งเพลงสุริยันจันทรา จากพระราชนิพนธ์เรื่องวิวาหพระสมุท ที่ร้องว่า

‘ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์
ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่…’

ส่วนผลงานของพ่อ ครูสง่า (สง่า อารัมภีร) ก็มีแต่งไว้หลายเพลงเช่นกัน

เพลงที่พ่อแต่งทำนองมีบางเพลงปรากฏในสูจิบัตรงาน คอนเสิร์ต “สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพทางด้านอักษรศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคลเฉลิมฉลอง 120 ปี พระบรมราชสมภพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในปีพุทธศักราช 2544 อำนวยการผลิตโดย ชมรมคนรักวัง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โครงการบูรณะพระราชวังพญาไท และศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า แสดงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2544 เวลา 19.00- 21.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างจากสูจิบัตรดังกล่าว เช่น เพลงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ จากพระราชนิพนธ์เรื่องเวนิสวาณิช ตัดตอนจากบทพูดของลอเร็นโซ ขณะชักชวนนางเจสสิกา ให้นิยมและเห็นประโยชน์จากการฟังดนตรี ที่ร้องว่า

‘ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก…’

เพลงสายสวาท จากพระราชนิพนธ์เรื่องพระเกียรติรถ ร้องว่า

‘สายสวาท ใจแทบขาดเมื่อยามคิดถึงเจ้า…’

เพลงร้อยใจเป็นมาลัยรัก จากพระราชนิพนธ์เรื่องศกุนตลา ที่ขึ้นว่า

‘ตลอดชีพมิขอคลาดเสน่ห์น้อง ขอประคองเคียงคู่ผู้สมศักดิ์…’

เพลงสีชัง จากพระราชนิพนธ์ตอนต้นของบทกาพย์ห่อโคลงเห่เรือชุดเห่ชมทะเล ขึ้นว่า

‘สีชัง ชังชื่อแล้ว อย่าชัง…’

เพลงเกียรติศักดิ์ทหารเสือ จากพระราชนิพนธ์ชื่อโคลงภาษิตนักรบโบราณ ร้องว่า

‘มโน มอบพระผู้ เสวยสวรรค์…’

ผู้เขียนเคยถาม ทำไมเอางานพระราชนิพนธ์มาแต่งเพลง พ่อบอกเพราะเพลงเข้าถึงคนง่ายกว่าหนังสือ มีหลายคนไม่ได้อ่านพระราชนิพนธ์ เราก็ทำเพลงให้เขาฟัง นั่นคือแรงบันดาลใจจากศิลปะสู่ศิลปิน จากวรรณกรรมต่อยอดสู่ดนตรีกรรม”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564