ตำนานเพลง “พระอาทิตย์ชิงดวง” ที่สอดแทรกสำเนียงมอญ อวดลวดลายร้องและบรรเลง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรชายของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) สองคน อันเกิดแต่เจ้าคุณนวลภริยาเอก มีความดีความชอบในราชการมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ผู้พี่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้น้องเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) นับเป็นบรรดาศักดิ์สูงสุด ไม่เคยมีผู้ใดได้รับพระราชทานมาก่อนนับแต่ประดิษฐานพระราชวงศ์จักรีเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่นั้นโปรดเกล้าฯ ให้ถือ ตราสุริยมณฑล ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยถือ ตราจันทรมณฑล พระอาทิตย์กับพระจันทร์จึงประชันรัศมีกันตั้งแต่นั้นมา

บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสองต่างเข้ารับราชการสร้างเกียรติคุณแก่วงศ์ตระกูลสืบมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น แม้บุนนาคสายสุริยมณฑลมีท่าทีว่าจะรุ่งเรืองกว่า แต่บุนนาคสายจันทรมณฑลก็ยังทอรัศมีเรืองรองอยู่ตลอดเวลา

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่” ขุนนางผู้กุมอำนาจสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เป็นผู้สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการฝังรากฐานของตระกูลบุนนาคให้มั่นคงต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่ ไต่เต้าจากตำแหน่งจมื่นเด็กชาในสมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งมีอำนาจทางการเมืองไม่ด้อยกว่าพี่ชาย

ครั้นล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาทิตย์ส่องแสงเจิดจ้าลบรัศมีจันทร์เสียสิ้นก็ว่าได้ เพราะบุตรผู้อ้ายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการตอนต้นรัชกาล มีบรรดาศักดิ์สูงสุดถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้ถือตราสุริยมณฑลสืบต่อจากบิดา บุตรคนรอง ๆ ลงมาก็ได้เป็นเจ้าพระยาคุมอำนาจในส่วนราชการต่าง ๆ อีกมาก เช่น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ (เทศ บุนนาค)

ส่วนทายาทของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาตินั้นได้บรรดาศักดิ์สูงสุดแค่เจ้าพระยาเพียงคนเดียว คือเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) และหาได้ถือตราจันทรมณฑลสืบต่อจากบิดาไม่ ผู้ได้ถือตรานี้สืบต่อมาคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์​ (ขำ บุนนาค) บุตรคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

พระอาทิตย์จึงชิงดวงเด่นกว่าพระจันทร์ตั้งแต่นั้นมา

ภาวการณ์ในสกุลบุนนาคทั้งสองสายดังที่กล่าวมาแล้วมีส่วนทำให้เกิดเพลง “พระอาทิตย์ชิงดวง” อันเป็นอมตะขึ้นในวงการดนตรีไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้นรักศิลปะการดนตรีไทยยิ่งผู้หนึ่ง ถึงกับมีวงปี่พาทย์ประจำบ้าน และได้ครูพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ผู้เลิศด้วยสติปัญญาและฝีมือเป็นผู้ควบคุมวง

อันดนตรีปี่พาทย์ของไทยนั้นเดิม เป็นแต่ส่วนประกอบการละเล่นอื่น ๆ เช่น โขน ละคร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีผู้เอาปี่พาทย์ไปบรรเลงประกอบการขับเสภา เรียกว่า “เสภาทรงเครื่อง” มีการขับร้องเป็นทำนองเพลงต่าง ๆ สลับไปกับการขับดำเนินเรื่อง ต่อมาคนนิยมฟังการร้องส่งปี่พาทย์มากกว่าจึงถือการขับเสภาเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ระยะนี้ปี่พาทย์ได้พัฒนามีเพลงแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไพเราะมากขึ้นที่เรียกกันว่าปี่พาทย์เสภา ซึ่งนับเป็นหลักสำคัญที่สุดของวงดนตรีไทย

ตามธรรมเนียมการเล่นปี่พาทย์เสภาก่อนจบจะต้องร้องเพลงส่งท้ายเพลงหนึ่ง เดิมทีเดียวใช้เพลง “กราวรำเสภา” เป็นพื้น ต่อมาเมื่อปี่พาทย์เสภารุ่งเรืองขึ้น มีผู้คิดแต่งเพลงสำหรับร้องส่งท้ายเมื่อจะเลิกบรรเลงแตกต่างกันไปอีกหลายแพลง ดัดแปลงมาจากบทเพลงของสักวาบ้าง แต่งขึ้นใหม่บ้าง แต่ถึงจะแต่งใหม่ก็มักเอาเพลงลาของสักวาเป็นแบบแผน คือมักแต่งเป็นเพลงมีสร้อยมีดอก หรือไม่ก็ร้องสอดล้อกับปี่พาทย์ เพลงพวกนี้นิยมเรียกกันว่า “เพลงลา”

เพลงลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการดนตรีไทย ได้แก่เพลง “อกทะเล” และเพลง “เต่ากินผักบุ้ง”

เพลงอกทะเลเป็นเพลงอัตราสามชั้น ทำนองร้องคัดแปลงมาจากเพลง ทะเลบ้าสองชั้น ใช้เป็นเพลงลาในวงสักวามาก่อน เมื่อนำมาใช้เป็นเพลงลาในการร้องส่งปี่พาทย์ ครูช้อย สุนทรวาทินจึงแต่งทำนองดนตรีขึ้นสำหรับบรรเลงรับ เพลงนี้มีท่วงทำนองเป็นเชิงอาลัยลา ร้องสอดล้อกับปี่พาทย์อย่างไพเราะน่าฟัง

ส่วนเพลงเต่ากินผักบุ้งเป็นเพลงสองชั้น มีดอกแทรกตอนท้ายท่อนสอง เพื่อให้ปี่เป่าเลียนเสียงร้องเป็นการอวดฝีมือว่าจะสามารถเป่าเลียนถ้อยคำตามบทร้องได้ชัดเจนเพียงไร ทำให้เพลงมีความคมคายน่าฟัง จึงได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าเพลงอกทะเล การเล่นปี่พาทย์ไม่ว่าวงใดมักจะลาด้วยเพลงเต่ากินผักบุ้งหรืออกทะเลทั้งสิ้น

เพลงที่เล่นซ้ำซากแม้จะไพเราะเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อฟังบ่อย ๆ ก็ย่อมชินหู กลายเป็นน่าเบื่อหน่าย เหตุนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงมีพระประสาทสั่งให้พระประดิษฐไพเราะแต่งเพลงลาขึ้นใหม่ เพื่อให้วงปี่พาทย์ของท่านบรรเลงให้แปลกไปจากเพลงลาของวงอื่น

พระประดิษฐไพเราะได้แต่งเพลงอัตราสองชั้นขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงท่อนสั้น ๆ ฟังกระฉับกระเฉงคมคายไม่น้อยไปกว่าการร้องสอดล้อกับปี่พาทย์ของเพลงอกทะเล มีการว่าดอกและทำท่วงทำนองเลียนแบบเพลงเต่ากินผักบุ้ง แต่มีความวิจิตรพิสดารมากด้วยเม็ดพรายยิ่งกว่า ทั้งได้สอดแทรกสำเนียงมอญให้หวานเสนาะน่าฟังยิ่งขึ้น ตอนท้ายมีการร้องสร้อยแทรก เปิดโอกาสให้คนร้องได้ประดิษฐ์ทำนอง และอวดชั้นเชิงการร้องของตนอย่างอิสระ นับเป็นเพลงที่ทั้งผู้ร้องและผู้บรรเลงสามารถอวดฝีไม้ลายมือได้อย่างเต็มที่

ส่วนบทร้องแรกที่เดียวใช้กลอนจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนบทอัศจรรย์ระหว่างขุนแผนกับนางแก้วกิริยา อาจารย์ศุภร บุนนาค สันนิษฐานว่า ที่พระประดิษฐไพเราะเลือกตอนนี้คงเพราะ “เห็นเนื้อกลอนมีอยู่ตอนหนึ่งเข้าเค้าดี คือคำว่า ‘พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น’ ตรงกับเหตุการณ์ที่ว่า สกุลบุนนาคสายที่ถือตราสุริยมณฑลหรือสายพระอาทิตย์ กำลังมีวาสนาเด่นขึ้นกว่าสายพระจันทร์หรือสายที่ถือตราจันทรมณฑล”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์โปรดปรานเพลงนี้มาก ประทานชื่อว่า “พระอาทิตย์ชิงดวง” ตามสร้อยแห่งราชทินนามและตราสุริยมณฑลอันเป็นดวงตราประจำตัวท่าน ทั้งยังตรงกับเนื้อร้องตอนขึ้นต้นอีกด้วย [1]

ต่อมาเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงได้รับความนิยมแพร่หลายยิ่งกว่าเพลงลาเพลงอื่น ๆ เห็นจะเป็นด้วยมีความไพเราะกระฉับกระเฉงคมคาย อวดลวดลายทั้งคนร้องและคนบรรเลงได้เต็มที่นั่นเอง ใคร ๆ ก็พากันนำไปร้องและบรรเลงโดยใช้เนื้อร้องขึ้นต้นว่า “พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น” เหมือนกันหมด ส่วนสร้อยมีหลายอย่างแตกต่างกันไป แต่บทที่ใช้ร้องกันแพร่หลายที่สุด เป็นดังนี้

บทร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงสองชั้น (เดิม)

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ หิ่งห้อยพร้อยพรายไหวระยับ แมลงทับท่องเที่ยวสะเทื้อนดง ดอกเอ๋ยเจ้าดอกจิก หัวใจจะพลิกเสียแล้วเอย หนาเจ้าเอย เตะกกกะมงนาย นายกกกะมงยาน รักเจ้าสร้อยสังวาลย์ ของพี่นี่เอย เจ้ากลับมาเชยพี่หน่อยรา นายสาคะมามอดเอ๋ย ดอกเอ๋ยเจ้าดอกสลิด เจ้าคู่ชีวิตของเรียมนี่เอย

ส่วนบทร้องที่นิยมใช้กันมากอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้นเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงไว้นั้น อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าไว้ว่า [2]

เมื่อราว พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เสภาเรื่องพญาราชวังสัน คัดแปลงมาจากบทละครที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลงจากเรื่องโอเท็ลโลของเชคสเปียว์ไว้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2454 ให้เป็นบทขับถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่และในงานเลี้ยงบางโอกาส โดยมีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นผู้ถวายคำแนะนำในการบรรจุเพลงตามแบบแผนของเสภา

ในเรื่องพระยาราชวังสันนี้มีอยู่ตอนหนึ่งเป็นบทอัศจรรย์ ระหว่างพระยาราชวังสัน (โอเท็ลโล) กับนางบัวผัน (เดสเดโมดา) พระยาประสานดุริยศัพท์ถวายความเห็นว่าควรบรรจุเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงเช่นเดียวกับบท “พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น” ของเดิมซึ่งเป็นบทอัศจรรย์เหมือนกัน แต่เพลงนี้ต้องมีดอกและสร้อยต่อท้ายจึงได้ทรงทรงพระราชนิพนธ์ดอกและสร้อยต่อท้ายขึ้น ตามแบบของเดิมว่าดังนี้

บทร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงสองชั้น

เรื่อยเรื่อยภุมรินบินว่อน เกลือกเกสรบัวทองผ่องใส รื่นรื่นรสสุคนธ์ปนไป สองใจจ่อจิตสนิทนอน ดอกเอ๋ยเจ้าดอกบัวผัน บุหงาสวรรค์ของเรียมนี่เอย เจ้าหน้านวลเอย เจ้าหน้านวลยวนใจให้พี่เชย ไม่ละไม่เลยไม่ลืมชม แม้นห่างอินทรีย์อกพี่ระบม อกตรอมอกตรมเสียจริงเอย เจ้าภุมรินเอยกลั้วกลิ่นบุปผา เกสรผกาไม่ราโรย จะคลึงจะเคล้าจะเฝ้าสงวน จะยั่วจะยวนเมื่อลมโชย จะกอบจะโกย กลิ่นไปเอย ดอกเอ๋ยเจ้าดอกโกมุท เจ้าแสนสวยสุดของเรียมนี่เอย

นับได้ว่าเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงสองชั้นเป็นเพลงที่สมบูรณ์ไปด้วยความไพเราะทั้งด้านทำนองดนตรี ทำนองร้อง และบทร้อง เพราะเป็นผลงานของนักดนตรีเอกและกวีเอกร่วมกันจึงเป็นอมตะสืบมากระทั่งทุกวันนี้ และยังมีผู้นำมาแต่งต่อเป็นเพลงเถาอีกด้วย

การบรรเลงดนตรีไทยแต่เดิมนั้น มีเพลงสามชั้นหรือสองชั้นเป็นพื้น จบแล้วออกเพลงเล็ก ๆ ต่อท้ายเรียกว่า “เพลงลูกบท” ต่อมามีผู้ประดิษฐ์เพลงให้ขับร้องและบรรเลงลดหลั่นกันลงมา ตั้งแต่ช้าไปจนเร็ว คือ สามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว เรียกว่าเพลงเถา และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพลงเดิมซึ่งมีเฉพาะสองชั้นหรือสามชั้นก็มีผู้นำมายืดและย่อลงให้ครบเถาเป็นจำนวนมาก เพลงลาทั้งสามเพลง คือ เพลงอกทะเล เต่ากินผักบุ้ง และเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงก็เช่นเดียวกัน

เพลงอกทะเลนั้น นายมนตรี ตราโมทได้แต่งทำนองสองชั้นและชั้นเดียวขึ้นทั้งทางร้องและทางบรรเลงครบเถา เมื่อ พ.ศ. 2475 และได้รับความนิยมเหมือนทำนองสามชั้นของเดิม

ส่วนเพลงเต่ากินผักบุ้งนั้นมีผู้ขยายเป็นทำนองสามชั้นทั้งทางบรรเลงและขับร้องก่อน แต่ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของผู้ใดแน่ ส่วนมากเชื่อกันว่า ครูเพ็ง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องพระประดิษฐไพเราะ (มี) เป็นผู้แต่ง ทีแรกเรียกชื่อตามทำนองสองชั้นว่า เต่ากินผักบุ้งสามชั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงตั้งชื่อใหม่ว่าเพลง “ปลาทอง” เมื่อคราวให้แตรวงมหาดเล็กบรรเลงถวายในรัชกาลที่ 5 ต่อมานายมนตรี ตราโมท ตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถา เพลงปลาทองเถาได้รับความนิยมไม่น้อยกว่าเพลงเต่ากินผักบุ้งของเดิม หรือดูจะยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

ผิดกับเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ปัจจุบันก็ยังนิยมเล่นอัตราสองชั้นอยู่โดยทั่วไป จนคนส่วนมากคิดว่ายังไม่มี ผู้แต่งให้ครบเถา ความจริงเพลงนี้ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ขยายและตัดแต่งลงจนครบเป็นเพลงเถานานแล้วทั้งทางร้องและทางบรรเลง แต่ไม่สู้แพร่หลายนัก เห็นจะเป็นด้วยมีผู้ได้เพลงนี้น้อยนั่นเอง ส่วนบทร้องนั้น คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ธิดาคนโตของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะแต่งขึ้นใหม่ ให้มีความหมายเชิงอาลัยลาดังนี้

บทร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เถา

สามชั้น

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น ดวงจันทร์เพ็ญแข่งเมฆาพาแสงหาย จะคล้อยดับลับฟ้าน่าเสียดาย จำขยายพจนาอาลัยเดือน ดอกเอ๋ยดอกแก้ว แสงอาทิตย์จะเริ่มแล้ว เดือนจำคลาดแคล้วไปเอย หวนคำนึงถึงนุช ยิ่งแสนสุดอาวรณ์เอย ถ้อยคำร่ำว่าสารพัด เจ้ามาสลัดตัดอาลัย รักน้องจริง ๆ รักน้องจริง แกล้งทิ้งน้องไว้ แกล้งให้มัวหมอง เนื้อเหลืองเรืองรอง ดังทองนี่เอย กล่าวคำเฉลยอย่างไรเล่า เตะกะชานมาหา ตะเกียกสาวทอปอปักกะเนยยาน เจ้าสร้อยสังวาลของน้องเอย ดอกเอ๋ยเจ้าดอกอัญชัน พอจวนจะสิ้นแสงจันทร์ แสงทองก็พลันส่องเอย

สองชั้น

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น เคยเริงเล่นสุขใจหาใดเหมือน ยามเมื่อเราจำพรากไปจากเรือน เดือนจะเตือนความเก่าให้เศร้าใจ ดอกเอ๋ยดอกมะลิวัลย์ หวนคิดน้ำคำร่ำรำพัน แว่วเสียงจำนรรจ์มิวายเอย
ธรรมชาติชวนใจให้อาดูร ลมพัดสะบัดพริ้ว พาเมฆละลิ่วลอยฟ้า สุดสายตาจะตามเอย ทะเลลึกตรึกหยั่งได้ ลึกฝีปากยากกระไร จะหยั่งถึง รักเจ้าช่อดอกรัก ปลูกไว้ใครมาหักเสียแล้วเอย ใจพี่จะขาดเอย ดวงเอ๋ยเจ้าดวงชีวิต แสนรักสลักจิตคำเช้าเฝ้าคิดคะนึงเชย

ชั้นเดียว

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น น้ำค้างกระเซ็นละอองพรายประกายใส ต้องดวงบุปผาสุมาลัย รวยรื่นชื่นวายระทมเอย ดอกเอ๋ยดอกสร้อย งามแฉล้มแช่มช้อยจริงเอย น่าชมเอย อาทิตย์เรื่อรางสว่างสี จันทร์ลี้ลับเลื่อนเกลื่อนแสง ใกล้เวลาพักผ่อนอ่อนแรง จวนแจ้งแล้วหนาขอลาเอย นายสาคะมามอดเอย ดอกเอ๋ยดอกขจร ขอลาไปก่อนแล้วเอย

เพลงพระอาทิตย์ชิงดวงเถาเป็นเพลงที่มีความไพเราะอย่างยิ่งเพลงหนึ่ง ราชทินนาม “ประดิษฐไพเราะ” และเกียรติคุณทางดนตรีของผู้แต่งทั้งสองท่านเป็นเครื่องยืนยันที่ดียิ่งกว่าคำสรรเสริญใด ๆ

เมื่อร้อยปีก่อน พระอาทิตย์ทอรัศมีแข่งกับพระจันทร์จนโดดเด่นเป็นเหตุให้เกิดเพลงอมตะขึ้นเพลงหนึ่ง ปีสองปีนี้อาจมีเพลงสำคัญเกิดขึ้นอีกก็ได้ เพราะพระจันทร์เจิดจ้าขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นดวงใหม่ก็ตาม

 


เชิงอรรถ :

[1] ศุภร บุนนาค. สมบัติกวี “ขุนช้างขุนแผน” เล่ม 1. หน้าคำนำ 28.

[2] มนตรี ตราโมท. “คำอธิบายเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง”, โน้ตเพลงไทยเล่ม 1. หน้า 234-235.


หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2563