ถอดความเป็นมาของภูเขาทอง วัดสระเกศ จากภาพถ่ายสะท้อนสภาพสมัย ร.5

พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

หนังสือ จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ของกรมศิลปากร ให้ความรู้ว่าภูเขาทอง วัดสระเกศ เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมจะสร้างเป็นรูปพระปรางค์ แล้วค้างคามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็นแบบภูเขา มีเจดีย์ก่อไว้บนยอด เริ่มวางศิลาฤกษ์ใน พ.ศ.2408 พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต”

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.2421 อัญเชิญของเดิมจากในพระบรมมหาราชวังมา (เริ่มมีงานประจำปี เป็นงานใหญ่ช่วงลอยกระทง-เอนก) ครั้งที่ 2 พ.ศ.2441 ได้จากอินเดีย

พ.ศ.2509 กระทรวงมหาดไทยบุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ และสร้างเจดีย์เล็กรายรอบอีก 4 องค์ ดังเห็นมาจนถึงทุกวันนี้

พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ภาพโปสการ์ด พิมพ์สอดสี ราวปลายสมัย ร.๕ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติในอัลบั้ม ภอ. กต/๒ ไม่มีรายละเอียด

มองในภาพ คลองที่เลี้ยวไปทางขวาคือคลองรอบกรุง สำหรับป้องกันพระนคร คลองแยกไปทางซ้ายคือคลองมหานาค

ทั้งสองคลอง รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2326 (อ่านพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 เพิ่มเติม บริเวณนี้เป็นที่สำหรับประชุมเล่นเพลงและสักรวาในเทศกาลฤดูน้ำเลียนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนนามวัดสะแก เป็นวัดสระเกศ แล้วสร้างกำแพงรอบพระนคร)

ด้านขวาที่แลเห็นบ้านเรือนริมคลอง คือบริเวณข้างป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้า ปัจจุบัน (2538) เป็นท่าเรือ มีเรือแล่นไปทางคลองมหานาค แสนแสบตลอดวัน

ด้านซ้าย บ้านหลังคาสังกะสี ปัจจุบันเป็นที่ว่างหน้ากรมโยธาธิการ สมัยนั้นจะเห็นว่ายังไม่สร้างสะพานมหาดไทยอุทิศ (สะพานคอนกรีตข้ามไปวัดสระเกศ สร้างสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดเมื่อ พ.ศ.2457)

บ้านหลังคามุงจากตรงกลาง ปัจจุบัน (2538) เป็นบ้านไม้สองชั้นใกล้จะพัง ถ้าสะพานมหาดไทยอุทิศสร้างเสร็จแล้ว ปลายสะพานจะเห็นตรงข้างบ้านนั้น

พิจารณาจากการสร้างสะพานมหาดไทยอุทิศ เชื่อว่าภาพนี้จะถ่ายราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และถ่ายจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งสร้างราว พ.ศ.2442

ในหนังสือ SIAM IN THE TWENTIETH CENTURY โดย J.G.D.CAMPBELL พิมพ์ พ.ศ.2447 มีรูปถ่ายใกล้เคียงกับรูปนี้ 1 รูป (ดูหนังสือ PORTRAIT OF BANGKOK ที่กรุงเทพมหานครจัดพิมพ์ หน้า 74)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2561