“คลุมถุงชน” มาจากไหน? การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก

คลุมถุงชน รัสเซีย เจ้าสาว ร้องไห้ การแต่งงาน
ภาพเขียนชื่อ “ก่อนพิธีวิวาห์” โดย Firs Sergeyevich Zhuravlev ศิลปินรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังเป็นสมัยที่การคลุมถุงชนยังเป็นที่แพร่หลายในสังคมรัสเซีย

คลุมถุงชน หรือการแต่งงานด้วยการจัดแจงจากพ่อแม่ หรือผู้อาวุโสของบ่าวสาว โดยที่คู่สมรสไม่จำเป็นต้องสมัครใจยินยอมกับการแต่งงานนั้นๆ ถือว่าเป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่มีมานานแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะค่อยๆ เสื่อมความนิยม (และไม่ได้รับการยอมรับ) เมื่อสังคมนั้นๆ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐจะกำหนดให้ การแต่งงาน ต้องเกิดจากความยินยอมของบ่าวสาวเท่านั้น (และปัจจุบันก็มีหลายรัฐยอมรับการแต่งงานของ บ่าว-บ่าว, สาว-สาว แล้วด้วย)

เดิมทีชาวบ้านทั่วไปในอุษาคเนย์คงมิได้เข้มงวดกับการแต่งงานเท่าใดนัก เห็นได้จากบันทึกของ โจวต้ากวาน ทูตจีนที่เดินทางไปยังดินแดนเขมรเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ได้เล่าว่า

“เกี่ยวกับการมีสามีและการมีภรรยา แม้จะมีประเพณีรับผ้าไหว้ ก็เป็นเพียงแต่การกระทำลวกๆ พอเป็นพิธี หญิงชายส่วนมากได้เสียกันมาแล้วจึงได้แต่งงานกัน ตามขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขาไม่ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายและก็ไม่ถือเป็นเรื่องประหลาดด้วย”

ในเมืองไทยสมัยก่อนก็เช่นกัน การแต่งงานที่มีการควบคุมแบบเข้มงวดจากพ่อแม่ มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีหน้ามีตามีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไป ไม่ค่อยจะมาใส่ใจควบคุมว่าลูกหลานตัวเองจะไปหาคนแบบไหนมาเป็นคู่สมรส เหมือนอย่างที่ โยส เซาเต็น พ่อค้าฮอลันดาที่เดินทางมาอยุธยาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้เล่าถึงธรรมเนียมการแต่งงานของคนไทยสมัยนั้นเอาไว้ว่า

“ชาวสยามมีพิธีแต่งงานหลายอย่าง สำหรับผู้มั่งมีมีหน้ามีตาการแต่งงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ เพื่อนฝูง และต้องมีการแลกของมีค่ากัน พิธีแต่งงานนั้น ไม่มีพิธีศาสนามาเกี่ยวข้อง แต่มีการละเล่นสนุกสนาน และมีการเลี้ยงดูกันอย่างครึกครื้นคู่สมรสย่อมมีสิทธิ์จะแยกจากกันได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุผลเพียงพอ”

การคลุมถุงชนจึงเกิดขึ้น เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ครอบครัวต่างๆ ใช้กลไกการแต่งงานเพื่อประโยชน์ในการรักษาสถานะทางสังคมหรือการเมือง เป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในบรรดาชนชั้นสูง และผู้มีฐานะเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะเอาอย่างบ้าง

ส่วนคำว่า “คลุมถุงชน” จะถูกใช้แทนการแต่งงานด้วยการจัดแจงของผู้ใหญ่ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผู้เขียนก็ไม่รู้แน่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นเมื่อมันกลายเป็นธรรมเนียม “ตลาดๆ” ที่คนทั่วๆ ไปคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากคำว่าคลุมถุงชนนั้นน่าจะมีที่มาจาก “บ่อนไก่” ดังที่ ภาษิต จิตรภาษา [1] นักเขียนผู้รอบรู้ด้านภาษาไทย เคยอธิบายไว้ว่า

คลุมถุงชน มาจากการชนไก่. แต่ก่อนการเอาไก่ไปบ่อนเพื่อไปชนนั้น เขาจะเอาถุงคลุมไปแต่บ้านเพื่อกันไก่ตื่น, เมื่อถึงบ่อนก็เปิดถุงออกเอาไก่เปรียบแล้วชนกัน. แต่เจ้าของไก่บางคนกระสันมาก เห็นเพื่ออุ้มไก่มายังไม่ทันเปิดถุงดูรูปร่างหน้าตาก็ท้าชนเลย. เมื่อตกลงกันก็เปิดถุงปล่อยเข้าสังเวียนชนกันเลย ไม่มีข้อแม้เล็ก-ใหญ่. หนุ่ม-สาว ที่ไม่เคยรู้จัก-รักใคร่กันมาก่อน, พ่อ-แม่จัดให้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น มันเหมือนกับการชนไก่แบบนี้ จึงเรียก ‘คลุมถุงชน’.”

ในเมืองไทยแม้การคลุมถุงชนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรแล้ว แต่ที่อินเดีย [2] ประเพณีนี้ยังคงเข้มแข็ง การสำรวจในปี 2013 พบว่า คนอินเดียรุ่นใหม่กว่า 74% เห็นดีเห็นงามกับการแต่งแบบคลุมถุงชน และการสำรวจอีกอันบอกว่า การแต่งงานในอินเดียกว่า 90% เป็นการคลุมถุงชนกันทั้งนั้น

ที่น่าแปลกใจก็คือ การแต่งงาน ที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก คู่สมรสกลับใช้ชีวิตคู่กันอย่างยืนยาว โดยในอินเดียการสมรสที่จบลงด้วยการหย่าร้างมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น

แต่จะเอาตัวเลขนี้มาบอกว่า การแต่งงานแบบคลุมถุงชนคือสาเหตุที่ทำให้คู่สมรสประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป โดยมิได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ทัศนคติต่อการหย่าร้าง ซึ่งในสังคมแบบอนุรักษนิยมอย่างอินเดีย ยังคงไม่ยอมรับการหย่าร้าง การหย่าร้างจึงมักจะเกิดขึ้นในบรรดาคู่สมรสหัวสมัยใหม่ที่แต่งงานโดยสมัครใจเป็นหลัก (ซึ่งก็มีน้อยอยู่แล้ว)

ส่วนคนที่ยอมรับการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากครอบครัวอนุรักษนิยม ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบใจคู่สมรส ก็ไม่กล้าที่จะหย่าด้วยแรงกดดันทางสังคม รวมถึงความยากลำบากที่จะตามมาหลังการหย่าร้าง โดยเฉพาะคู่สมรสฝ่ายหญิงที่มักจะต้องพึ่งพาด้านการเงินจากสามี หลายๆ คู่จึงจำยอมรับสภาพการสมรสที่ขมขื่น มากกว่าจะเลือกการหย่าร้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

[1] “ภาษาประวัติศาสตร์”. ภาษิต จิตรภาษา. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2538

[2] “Why Are So Many Indian Arranged Marriages Successful?”. Psychology Today. <https://www.psychologytoday.com/blog/the-science-behind-behavior/201511/why-are-so-many-indian-arranged-marriages-successful>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562