สำรวจ “วิถีชีวิต-วัฒนธรรมพม่า” ผ่านอาหารการกิน ต่างหรือเหมือนกับไทยตรงไหน

ภาพประกอบเนื้อหา - ร้านอาหารริมทางเดินในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ภาพถ่ายเมื่อ 8 มีนาคม 2016 (ภาพจาก AFP PHOTO / ROMEO GACAD)

…อาหารการกินของคนแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกัน และแฝงด้วยวัฒนธรรมการบริโภคที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้นๆ ประเทศพม่าก็เช่นกันมีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์และแฝงด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างที่ไม่สามารถรับรู้จากรายการท่องเที่ยวต่างๆ

ประเทศพม่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยผู้คนมากกว่า 100 เชื้อชาติ แบ่งเป็น 8 กลุ่มหลัก เรียงตามปริมาณ คือ พม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ยะไข่ จีน มอญ อินเดีย และชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยมีกลุ่มเชื้อชาติพม่าเกินครึ่งเกือบกว่าร้อยละ 70 แบ่งอาณาเขตออกเป็น 7 รัฐ และ 7 เขต คือ รัฐกะฉิ่น รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐชาน (หรือรัฐไทใหญ่) รัฐชิน รัฐมอญ รัฐยะไข่ และอีก 7 เขต คือ เขตตะนาวศรี เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ เขตมาเกว เขตย่างกุ้ง เขตสะกาย เขตอิรวดี เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมความเจริญตั้งแต่ครั้งอดีต และมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

Advertisement

เมืองหลวงปัจจุบันคือเมืองเนปิดอว์ (ก่อนหน้านั้นคือเมืองย่างกุ้ง) อยู่ทางทิศเหนือของเมืองย่างกุ้งประมาณ 360 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเมืองย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเมืองย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมในพม่าเพื่อศึกษาวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกิน

คนพม่าส่วนใหญ่นิยมกินอาหารที่ร้านน้ำชาที่พบเห็นได้ทั่วไปในพม่า โดยเฉพาะในมื้อเช้า ชายชาวพม่านิยมมากินอาหารที่ร้านน้ำชามากกว่าผู้หญิงที่มักนิยมกินอาหารที่บ้าน แต่โดยทั่วไปแล้วยังคงนิยมกินข้าวที่บ้านกับครอบครัว ผู้หญิงส่วนใหญ่รับหน้าที่ทำกับข้าว และนำใส่กล่องข้าวหรือปิ่นโตให้สมาชิกในครอบครัวไปกินที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน

คนพม่านิยมกินน้ำชาร้อน ชานมร้อน ไม่นิยมกินน้ำเย็นๆ ซึ่งแตกต่างจากคนไทยที่ทุกมื้อควรจะต้องมีน้ำใส่น้ำแข็ง ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับอาหารการกินของคนพม่าที่อาหารต่างๆ มักมีน้ำมันงา หรือน้ำมันถั่วเป็นส่วนผสมที่สำคัญ อาหารส่วนใหญ่จึงมีความมันมาก การกินน้ำร้อน (อุ่น) จึงเป็นการล้างความมันของอาหาร

ร้านน้ำชาไม่ใช่มีบริการเฉพาะน้ำชาเท่านั้น แต่เป็นร้านอาหารด้วย อาหารยอดนิยมอันดับต้นๆ ของคนพม่าคือ ขนมจีน ยำใบชา ข้าวซอย ก๋วยเตี๋ยว แกงไก่ แกงปลา แกงหมูโดยเฉพาะขนมจีน และยำใบชา เป็นอาหารพื้นถิ่นในประเทศพม่าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นอาหารที่ชื่นชอบของคนพม่าทุกเพศทุกวัย

ขนมจีนพม่า ออกเสียงเป็นภาษาพม่าว่า โมฮิงกา (moke hin khar) มีลักษณะเหมือนขนมจีนน้ำยาของไทย มีส่วนผสมด้วยเนื้อปลา หยวกกล้วย ปรุงรสด้วยตะไคร้ ขิง ขมิ้น หัวหอม กระเทียม กะปิ รสชาติค่อนข้างจืดและมัน สามารถปรุงรสได้ตามต้องการ และมีเครื่องเคียงคือผักชี และมะนาวเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว

ยำใบชา หรือเมี่ยงใบชา ออกเสียงเป็นภาษาพม่าว่า ละแพะโตะ (lat phat thote) เป็นการนำใบชามายำคลุกเคล้ากับส่วนผสมต่างๆ ส่วนผสมคือ ใบชา (ไม่ใช่ใบชาสด หรือใบชาแห้ง แต่ผ่านการนึ่งหรือหมักจนมีลักษณะเป็นเมี่ยงใบชา) ถั่วทอด (ถั่วลิสงหรือถั่วอื่นๆ) ขิง พริก กะหล่ำปลีซอย กุ้งแห้ง มะเขือเทศ ปรุงรสด้วยผงชูรส น้ำปลา และน้ำมันถั่ว ถึงแม้จะเป็นกรรมวิธีการยำ อาจจะนึกถึงรสชาติเปรี้ยวนำเหมือนในไทย แต่กลับกันรสชาติของยำใบชามีรสชาติขมเล็กน้อยจากใบชา และความมันจากน้ำมัน ถึงแม้ยำใบชาจะมีอย่างแพร่หลายในพม่า แต่แหล่งใบชาที่ดีอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์จึงขึ้นชื่อเรื่องยำใบชาเพราะอยู่ใกล้แหล่งปลูกชา และเป็นเมืองที่ได้รับคำชื่นชมจากคนพม่าว่ามีอาหารที่หลากหลายและรสชาติดี

สำหรับข้าวซอยและก๋วยเตี๋ยวก็ได้รับความนิยมรองลงมา ข้าวซอยมีลักษณะคล้ายข้าวซอยทางภาคเหนือของไทย ก๋วยเตี๋ยวที่พม่ามีลักษณะกึ่งแห้งกึ่งน้ำ ข้นๆ ไม่สามารถซดน้ำได้เหมือนในไทย แยกน้ำซุปให้อีกถ้วย พร้อมมีเครื่องเคียงเป็นผักดอง

หากเป็นอาหารที่นำมากินกับข้าวสวย อาทิ แกงไก่ แกงปลา แกงกุ้ง แกงหมู ลักษณะของแกงเหล่านี้น่าสนใจคือ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นแกงน้ำเหมือนในไทย แต่เป็นลักษณะคล้ายการผัดที่ใส่น้ำมันมาก จนเป็นน้ำแกง ยังมีผัดผักต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับอาหารไทยแต่มีความมันมากกว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอาหารพม่านิยมใส่น้ำมันเป็นส่วนผสม อาหารทุกอย่างจะมีน้ำซุปควบคู่กันเสมอ นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆ อีก อาทิ มันฝรั่งทอด น้ำพริกปลา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกต่างๆ จะมีเครื่องเคียงเป็นผักสดหรือผักต้มตามแต่ละท้องถิ่น

อาหารการกินข้างต้นนอกจากแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนพม่าแล้ว อาหารเหล่านี้ยังแฝงด้วยประเพณีความเชื่ออีกด้วย คนพม่าส่วนใหญ่ไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ใหญ่หรือจำพวกสัตว์สี่เท้า โดยเฉพาะเพศหญิง เพราะถือว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ ช่วยเหลือในการทำไร่ไถนา จึงนิยมกินเนื้อไก่ เนื้อปลาแทน

ในประเพณีพิธีแต่งงานถึงแม้ขนมจีนจะเป็นอาหารที่นิยมของคนพม่า แต่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงในพิธีแต่งงาน ถือว่าไม่เป็นมงคล เพราะขนมจีนจะนิยมใช้เลี้ยงในงานศพเมื่อทำบุญครบ 7 วัน อาหารที่มักต้องมีในพิธีแต่งงาน คือ ไอศกรีม ขนมเค้ก กาแฟ และขนมต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในพิธีแต่งงาน รวมถึงข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะที่เป็นที่นิยมของคนพม่าเช่นกัน

ความเชื่อในเรื่องอาหารการกินในวัฒนธรรมพม่ายังเชื่ออีกว่าผู้หญิงที่กำลังท้องห้ามกินของเผ็ด เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กในท้อง เด็กจะเกิดอาการแสบ และที่สำคัญคือจะส่งผลให้เด็กนั้นสมองไม่ดี (ไม่เฉลียวฉลาด) หรือเมื่อกินข้าวเสร็จแล้วอย่าเพิ่งอาบน้ำทันที ความเชื่อเหล่านี้อาจจะเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลในวงจำกัด แต่ความเชื่อเรื่องอาหารที่ไม่ควรกินด้วยกัน อาทิ แตงโมกับไข่เป็ด มะพร้าวกับน้ำผึ้ง มังคุดกับน้ำตาล เนื้อกบกับเห็ด มะเฟืองกับช็อกโกแลต คงเป็นความเชื่อพื้นฐานที่รับรู้ในวงกว้างในเรื่องการไม่กินของเหล่านี้คู่กัน เนื่องจากมีการตีพิมพ์เป็นตารางแสดงรูปภาพอาหารที่ไม่ควรกินด้วยกันอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วัฒนธรรมอาหารการกินของพม่าข้างต้นจะมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมไทย แต่มีบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือยังคงบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก กินน้ำพริกต้องมีผักเป็นเครื่องเคียง หรือเมื่อกินทุเรียนแล้วควรตามด้วยมังคุด

สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องอาหารการกินของไทย คือ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีความร้อนต้องดับด้วยมังคุดที่เป็นของเย็น ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าเมื่อกินทุเรียนมากจะเกิดอาการร้อนใน…

 

หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เก็บมาเล่า…เรียนรู้ “วิถีชีวิตวัฒนธรรมพม่า” ผ่านอาหารการกิน” โดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก (ตำแหน่งเมื่อ ตุลาคม พ.ศ. 2558) เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563