อิทธิพล-มุมมืดของ Playboy สื่อยุคแรกเสนอเรื่องเพศ-เซ็กซ์ สมัยสังคมอเมริกันยังรับไม่ได้

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Playboy เมื่อปี 2015 (ขวา) หน้าปกนิตยสารฉบับแรก ภาพจาก AFP

คำว่า “เพลย์บอย” (Playboy) กลายเป็นคำติดปากของคนในยุคนี้ไปแล้วหากจะพูดถึง “วิถีชีวิต” ของท่านผู้ชายทั้งหลาย แน่นอนว่าเมื่อเอ่ยถึงวลีนี้ ทุกคนย่อมต้องนึกถึงชื่อ “นิตยสาร” วาบหวิวในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่ปลายยุค 50s

นิตยสารฉบับนี้ไม่เพียงแค่เป็นที่จดจำผูกกับภาพโป๊เปลือยรูปแบบต่างๆ แบบในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาการเดินทางของนิตยสารเล่มนี้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม (ทั้งแง่บวกและลบ) เอาไว้มากมาย เพียงแค่เห็นโลโก้รูปกระต่ายของแบรนด์ แทบทุกคนจะนึกถึงสื่อรายนี้ทันที

ถึงแม้คนทั่วโลกจะยอมรับว่า ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ (Hugh Hefner) ผู้ก่อตั้งนิตยสารซึ่งจะกลายมาเป็นอาณาจักรสื่อในภายหลังนั้น ผลงานการผลิตสื่อของเขาส่งอิทธิพลเชิงสังคมและวัฒนธรรมในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เริ่มต้นตีพิมพ์ฉบับแรกในปี ค.ศ. 1953 เขากลายเป็น “ไอคอน” (บุคคลต้นแบบ) ในแง่การงัดข้อค้านกับ “จริยธรรม” ในแบบอนุรักษ์นิยม

เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมอเมริกันในช่วงยุค 50s ยังมีจริยธรรมระดับเคร่งครัด หัวข้อเรื่องเพศ(นอกเหนือจากการสมรส)มักถูกตีตราว่าเป็นเรื่องขัดต่อจริยธรรม กระทั่งการตีพิมพ์นิตยสาร “เพลย์บอย” ฉบับแรกเมื่อปี 1953 ทำให้พอจะกล่าวได้ว่า นิตยสารฉบับนี้ถือเป็นสิ่งพิมพ์ (สำหรับผู้อ่านเพศชาย) เล่มแรกๆ ที่ห่อ “เรื่องเกี่ยวกับเพศ” ให้ดูเป็นเรื่อง “ทั่วไป” มากกว่าแค่เป็นเรื่องที่ “เสื่อมโทรม” แม้ว่าการสื่อสารแบบนี้จะมีทำให้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงอีกมุมตามมา (จะกล่าวในเนื้อหาส่วนต่อไป)

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารเกิดในครอบครัวที่มีวิถีแบบเคร่งครัดทีเดียว เขาเริ่มต้นทำงานสื่อตั้งแต่ทำนิตยสารเมื่อศึกษาในมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบก็ทำงานกับนิตยสาร “เอสไควร์” (Esquire) นิตยสารสำหรับผู้ชายที่เก่าแก่อีกแห่ง เฮฟเนอร์วางแผนทำนิตยสารของเขาเอง ช่วงเวลานั้นมีปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี นั่นคือ การเผยแพร่ผลการศึกษาของ อัลเฟรด คินซีย์ (Alfred Kinsey) ซึ่งถูกเรียกกันว่า “รายงานของคินซีย์” (The Kinsey Reports)

“รายงานของคินซีย์” (The Kinsey Reports) หมายถึงผลการศึกษา 2 ฉบับคือ Sexual Behavior in the Human Male (1948) และ Sexual Behavior in the Human Female (1953) รายงานทั้ง 2 ฉบับนี้แม้จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับระเบียบวิธีการศึกษาหลายประการทั้งในช่วงเวลานั้นและอีกหลายปีให้หลัง โดยเขาเก็บข้อมูลมากกว่าแค่การสัมภาษณ์ ฯลฯ แต่ประเด็นที่จะเอ่ยถึงแง่อิทธิพลในที่นี้คือเนื้อหาในรายงาน

เนื้อหาเปิดเผยพฤติกรรมทางเพศของกลุ่มตัวอย่างมากกว่าแค่มุมมองความสัมพันธ์ทางเพศแบบคู่รักดั้งเดิมทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประเด็นการพูดถึงเรื่องทางเพศซึ่งเคยเป็นหัวข้อต้องห้ามทางจริยธรรม

ขณะเดียวกันในปี 1953 นิตยสารเพลย์บอยฉบับแรกของฮิวจ์ออกจำหน่าย มีภาพมาริลีน มอนโรว์ (Marilyn Monroe) นักแสดงหญิงชื่อดังขึ้นปก แต่ความเป็นจริงแล้วเธอไม่ได้ถ่ายแบบให้กับนิตยสารโดยตรง ฮิวจ์ ซื้อภาพมาจากช่างภาพที่ทำงานให้กับบริษัทที่ตีพิมพ์ปฏิทิน นิตยสารประสบความสำเร็จอย่างมากและเริ่มกลายเป็นกระแส

นิตยสาร Playboy ฉบับแรก หน้าปกเป็นภาพ มาริลีน มอนโร Marilyn Monroe ภาพจาก AFP

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ พยายามอธิบายสื่อของเขาว่าไม่ได้เป็นนิตยสารที่พูดถึงเรื่องเซ็กซ์เพียงอย่างเดียว เนื้อหาจะมุ่งเป้าไปที่วิถีชีวิตของผู้ชายซึ่งมีเซ็กซ์เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธได้ยากว่า เนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิตยสารได้รับความสนใจ ขณะเดียวกันเนื้อหาอื่นในนิตยสารที่นอกเหนือจากเรื่องเซ็กซ์ก็ได้รับการพูดถึงเช่นกัน แต่อาจไม่ได้อยู่ในภาพจำของคนทั่วไป นิตยสารตีพิมพ์งานเขียนเรื่องสั้นของนักเขียนชื่อดังหลายราย อาทิ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ไปจนถึงโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) หรือเนื้อหาในส่วนบทสัมภาษณ์ นิตยสารเคยตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ผู้มีชื่อเสียงในหลายแวดวงตั้งแต่ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) นักดนตรีแจ๊ซซ์ที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีเมื่อปี 1962, จอห์น เลนนอน (John Lennon) และโยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) เมื่อปี 1980 ไปจนถึงจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) เมื่อปี 1976 ซึ่งในเวลานั้นยังมีสถานะผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยวลีจากบทสัมภาษณ์ซึ่งกลายเป็นที่จดจำจากบทสัมภาษณ์ครั้งนั้นคือ “ผมก็มองสตรีมากมายด้วยความปรารถนา”

ความสำเร็จของนิตยสารนี้เองกลายเป็นฐานที่ทำให้ฮิวจ์ สร้างอาณาจักรธุรกิจของเขาขึ้นมาควบคู่ไปกับวิถีชีวิตแบบ “Playboy” ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของบุรุษหลายประเทศ ขณะเดียวกันในฐานะ “ไอคอน” เขาแสดงความคิดเห็นว่าจารีตประเพณีเกี่ยวกับเรื่องทางเพศอันเคร่งครัดแบบอเมริกันควรถูกปรับปรุงให้ผ่อนคลายมากกว่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้เคยเป็นแนวคิดแบบสุดโต่งแต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ท่ามกลางความนิยม ฮิวจ์ ก็ต้องต่อสู้กับกระแสสังคมที่ต้านทานการเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศผ่านสื่อ และการนิยามว่าสิ่งใดเป็นเรื่อง “ลามกอนาจาร” กระทั่งในปี 1955 ฮิวจ์ ชนะคดีสำนักงานไปรษณีย์สหรัฐฯ ที่มองว่านิตยสารเพลย์บอยเป็นสิ่งของ “ลามก”

หลังการเสียชีวิตของเขาเมื่อปี 2017 มีผู้ยกย่องให้ฮิวจ์ และผลงานของเขามีอิทธิพลต่อการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเพศในสังคมอเมริกัน (Sexual Revolution) ในยุค 60s นักเขียนบางรายก็แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การปฏิวัติเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นไม่ได้เริ่มต้นโดยฮิวจ์

เจสสิก้า วาเลนติ (Jessica Valenti) คอลัมนิสต์แห่ง Marie Claire แสดงความคิดเห็นว่า ฮิวจ์ เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น

“สิ่งที่เพลย์บอยขับเคลื่อนวัฒนธรรมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทางเพศนั้นคือการบอกผู้อ่านเพศชายว่า การทำให้สตรีเพศกลายเป็นวัตถุเป็นสิ่งที่ควรต้องแสวงหา ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ สร้างภาพความเป็นชายแบบอเมริกันในแบบที่ผู้ชายไม่ต้องการผูกมัด และฝ่ายหญิงเป็นอะไรมากกว่าถ้วยรางวัลของสะสมทางเพศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” เจสสิก้า แสดงความคิดเห็นในบทความ

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Playboy เมื่อปี 2015 ภาพจาก AFP

ในยุคต่อมา การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ไปจนถึงแนวคิดแบบสตรีนิยมเริ่มแพร่หลาย ช่วงเวลานั้นเริ่มมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่เผยแพร่เนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในอาณาจักรเพลย์บอย อาทิ บทความของ Gloria Steinem ชื่อ “เรื่องเล่าของบันนี่” (A Bunny’s Tale) ซึ่งเธอเขียนขึ้นจากการแฝงตัวทำงานเป็น “บันนี่” (Bunny) หญิงสาวที่แต่งชุดกระต่ายอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ “Playboy” นั่นเอง

เธอแฝงตัวเข้าไปทำงานเป็นเวลา 17 วันและนำประสบการณ์ภายในมาบอกเล่าในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 1963 เนื้อหาเปิดเผยถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่บรรดาสตรีซึ่งทำงานบริการต้องพบเจอ และลูกจ้างที่เป็นสตรีเหล่านั้นถูกสอนให้เชื่อว่าการทำงานของพวกเธอเป็นเสรีภาพทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอถูกลดคุณค่าและถูกเอาเปรียบในทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม นักเขียนส่วนหนึ่งยอมรับว่า ถึงฮิวจ์ จะไม่ได้ปฏิบัติต่อเพศหญิงได้ดีสมบูรณ์แบบ แต่ในแง่หนึ่ง ฮิวจ์ ยังส่งเสริมด้านสิทธิพลเมืองผ่านแบรนด์ของเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศในระดับชาติ และยังมีส่วนเปิดหัวข้อสนทนาเกี่ยวกับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 หรือ First Amendment

นิตยสารเพลย์บอย ได้รับความนิยมถึงจุดสูงสุดในช่วง 70s โดยในปี 1972 นิตยสารมียอดจำหน่ายมากกว่า 7 ล้านฉบับ แต่ช่วงรุ่งเรืองของนิตยสารไม่ได้ยั่งยืน หลายปีต่อมาเริ่มมีนิตยสารแนวเดียวกันเกิดขึ้นหลายราย เมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ การเติบโตของสื่อปลุกใจก็มีส่วนทำให้ความนิยมของนิตยสารลดลง ยอดจำหน่ายเมื่อปี 2011 ลดลงมาเหลือ 1.5 ล้านฉบับเท่านั้น เวลาต่อมายังลดลงเหลือต่ำกว่า 500,000 ฉบับในยุคที่กิจกรรมเกี่ยวกับเพศค่อนข้างเปิดกว้าง และภาพวาบหวิวในนิตยสารก็ถูกมองว่าเกือบจะเป็นเรื่องทั่วไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

“Key moments in the history of Playboy”. AP. Online. Published 14 OCT 2015. Access 5 NOV 2020. <https://www.businessinsider.com/ap-key-moments-in-the-history-of-playboy-2015-10>

“Playboy in Popular Culture”. New York Times. Online. Published 28 SEPT 2017. Access 5 NOV 2020. <https://www.nytimes.com/interactive/2017/09/28/business/media/playboy-hugh-hefner.html>

Playboy. Britannica. Online. Access 5 NOV 2020. <https://www.britannica.com/topic/Playboy>

Sanburn, Josh. Brief History: Playboy. Time. Online. Published 24 JAN 2011. Access 5 NOV 2020. <http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,2042352,00.html>

Valenti, Jessica. “Hugh Hefner Didn’t Start the Sexual Revolution—He Profited from It”. Marie Claire. Online. Published 28 SEPT 2017. Access 5 OCT 2020. <https://www.marieclaire.com/celebrity/a12500409/hugh-hefner-legacy/>

เปิดชีวิตเจ้าพ่อเพลย์บอย ‘ฮิวจ์ เฮฟเนอร์’. บีบีซี. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 28 กันยายน 2017. เข้าถึงเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020. <https://www.bbc.com/thai/international-41430168>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2563