ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ |
เผยแพร่ |
“กินกันฉันด้วย ตีกันฉันป่วย อร่อยบอกด้วย ถึงป่วยก็ไป” หากใครมาพูดปรัชญาแปลก ๆ ข้าง ๆ เราอย่างนี้ เราคงจะเคืองหูเป็นกำลัง แต่หากเขาเป็นบุรุษผู้มีใบหน้าระบายด้วยยิ้มหฤหรรษ์อยู่เป็นนิตย์ เราคงฟังประโยคนี้อย่างรื่นรมย์ เพราะมันเป็นปรัชญาคม ๆ ขำ ๆ ของ เทิ่ง สติเฟื่อง ศิลปิน โทรทัศน์ ยุคบุกเบิก
เทิ่ง สติเฟื่อง หรือ บรรยงค์ เสนาลักษณ์ เป็นศิลปินความสามารถรอบด้าน ผู้สร้างสรรค์ความสุขให้กับคนไทยด้วยศาสตร์และศิลป์อันบรรเจิดแต่พิสดาร เขาเป็นอีกหนึ่งในคนยุคบุกเบิก โทรทัศน์ ของไทย ด้านงานแสดง พิธีกรและคนที่คิดคำศัพท์แปลก ๆ มาใช้ในรายการ และเป็นที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบันอย่างคำว่า เริ่ดสะแมนแตน เทิ่งนำมาจากคำว่า Fabulous, Fabu ดีเลิศไปหมด มักใช้เป็นคำอุทาน คำไทยตรงกับ เลิศ
หรือคำว่า เดทสะมอเร่ มาจากเพลง That’s Amore เพลงดังของ Dean Martin อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง The Caddy เมื่อ พ.ศ. 2496 และยังมี โล่สะมันเตา แรดสะมูต้า และ ส.บ.ม.ย.ห. ซึ่งกลายเป็นคำอุทานคลาสสิกติดปากของคนไทยไปแล้ว
บรรยงค์ เสนาลักษณ์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นบุตรของนายบุษย์ เสนาลักษณ์ และนางโทมิโกะ ชาวญี่ปุ่น จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2493 แล้วเรียนต่อระดับอนุปริญญาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรยงค์เริ่มงานที่สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. 2496 หลังจากเขาแสดงความสามารถในการตอบปัญหาอย่างตลกด้วยแนวคิดประหลาด ๆ ในการจัดรายงานสดของทางสถานีวิทยุ ท.ท. ทง สี่แยกคอกวัว จนหนึ่งในผู้ร่วมรายการชื่อ จำนง รังสิกุล เกิดความประทับใจ
จนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นวันที่ถ่ายทอด โทรทัศน์ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย บรรยงค์ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยพิธีกร จัดหาโฆษณา แสดงละคร เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ โดยใช้นามพิธีกรว่า เทิ่ง กระหม่อมทอง แต่ภายหลังมีนายทหารตลกฟืดเขียนจดหมายมาประท้วงว่า กระหม่อมทอง เป็นนามสกุลของเขา อาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น เทิ่ง สติเฟื่อง สำหรับผลงานโฆษณาชิ้นแรกของเทิ่งคือ วิทยุโทรทัศน์ยี่ห้อ อาร์ ซี เอ
นอกจากเป็นนักโษณาประจำสถานีแล้ว เทิ่งยังเป็นพิธีกรรายการประจำชื่อ ปัญหารอบโลก และรายการ ปัญหาผะหมี คู่กับพิธีกรสาว อารีย์ นักดนตรี, เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ นวลละออ ทองเนื้อดี, ดาเรศร์ ศาตะจันทร์
ต่อมาได้ทำรายการ หัวร่อก่อนนอน เป็นละครตลกจบในตอน และละครแนวตลกเรื่อง หลวงพ่อทองวัดโบสถ์ จัดรายการโทรทัศน์ชื่อรายการ แม่บ้านวันนี้, ที่นี่มีทอง และ แม่บ้านชิงทอง เป็นพิธีกรรายการแม่บ้านชิงทอง ทางโทรทัศน์สีช่อง 5 คู่กับ นันทวัน เมฆใหญ่, สีเทา และ ท้วม ทรนง ต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 20 ปี เป็นรายการแรก ๆ ที่นำสินค้าเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาในรายการโทรทัศน์
ในด้านผลงานละคร เทิ่งฝากผลงานเรื่องแรกคือละครตลกเรื่อง ดึกเสียแล้ว ต่อมาได้ตั้งคณะละครชื่อ คณะศรีไทยการละคร เมื่อ พ.ศ. 2512 ด้วยความเป็นนักอ่านมาตั้งแต่เรียนมัธยม เทิ่งจึงเลือกละครจากบทประพันธ์ของนักเขียนชื่อดังเช่น ก. สุรางคนางค์ กฤษณา อโศกสิน สีฟ้า และทมยันตี ละครที่มีชื่อเสียงได้แก่เรื่อง คุณหญิงพวงแข รอยมลทิน คู่กรรม เรือมนุษย์ อีสา นอกจากเทิ่งจะมีบทบาทในการแสดงแล้ว เทิ่งยังเขียนบทเอง ออกแบบฉาก คัดเลือกตัวนักแสดง แต่งเพลงประกอบตัวละคร และหาสปอนเซอร์สนับสนุนรายการ ฯลฯ
พ.ศ. 2516 เทิ่ง สติเฟื่อง มีผลงานสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่อง ดาร์บี้ แต่ประสบปัญหาจากช่วงเวลา 14 ตุลาคม 2516 แต่เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สร้างชื่อให้กับนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ชื่อ นิรุตติ์ ศิริจรรยา
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการใช้ภาษา มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงหลายเพลงให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้แก่เพลง ชมพูฟ้าอาลัย กลิ่นกุหลาบ ประพันธ์ทำนองโดย ใหญ่ นภายน ขับร้องโดย บุษยา รังสี และเพลงอื่น ๆ เช่น กุหลาบที่ไม่เคยโรย, วันดอกกุหลาบบาน, ร้อยสิบปีที่เราคอย
บรรยงค์ เสนารักษ์ หรือเทิ่ง สติเฟื่อง ทำงานด้านบันเทิงมาตลอดชีวิต ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต เขาหันมาเป็นนักอ่านและนักสะสมหนังสืออย่างรื่นรมย์
จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545 ด้วยโรคมะเร็งตับ ขณะอายุ 68 ปี โดยบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์ ก่อนมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2548
อ่านเพิ่มเติม :
- “เสียงศรีกรุง” กำหนดมาตรฐาน “Star-ดารา” ? ไม่ใช่นักแสดงทุกคนจะเป็นได้
- “พระนลคำหลวง” พระราชนิพนธ์ในร. 6 สู่ที่มานามปากกา “ทมยันตี” ของคุณหญิงวิมล
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2563