ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|
เผยแพร่ | |
---|
“ศาลายา” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ส่วน “ศาลาธรรมสพน์” เป็นแขวงหนึ่งในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานครที่มาของชื่อทั้งสองสถานที่ เกี่ยวข้องกับการขุด “คลองมหาสวัสดิ์” ที่ตัดผ่านทั้งสองย่านนี้
เมื่อ พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเชื่อมต่อไปยังหัวเมือง ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นแม่กอง พระสิริสมบัติเป็นนายงาน ขุดคลองเริ่มตั้งแต่คลองบางกอกน้อย บริเวณวัดไชยพฤกษมาลา ไปทะลุแม่น้ำท่าจีนที่เมืองนครไชยศรี (นครปฐม)
คลองขุดใหม่นี้ยาว 676 เส้น ขุดแก้คลองเก่า 8 เส้น รวมระยะทาง 684 เส้น กว้าง 7 วา ลึก 6 ศอก ใช้เงินไปทั้งสิ้น 88,120 บาท พระราชทานนามว่า “คลองมหาสวัสดิ์”
ที่มาของคำว่า ศาลายา และ ศาลาธรรมสพน์ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายไว้ในพระนิพนธ์ “เรื่องตำนานสถานที่และวัดถุต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง” ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 ไว้ว่า
“เมื่อขุดคลองแล้วสร้างศาลาอาศรัยที่ริมคลอง 100 เส้นหลัง 1 เปนระยะไป ที่ศาลาหลังกลางย่าน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้เขียนตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ใส่แผ่นกระดานติดไว้เปนการกุศล คนจึงได้เรียกศาลาหลังนั้นว่า ‘ศาลายา’ เลยเปนชื่อสถานีรถไฟอยู่บัดนี้
ศาลาอิกหลัง 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์สร้างในการกุศลปลงศพคนของท่านคน 1 จึงเรียกว่า ‘ศาลาทำศพ’ เลยเปนชื่อสถานีรถไฟเหมือนกัน”
เดิม ศาลาธรรมสพน์ เขียนเป็น “ศาลาทำศพ” แต่คนไทยเห็นว่าไม่เป็นมงคล เลยเปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่ จึงแปลงเป็น “ธรรมสพน์” มีที่มาจาก “ธรรมสวนะ” ซึ่ง ว.แหวน และ พ.พาน สามารถแทนกันได้ จึงกลายเป็น ธรรมสพนะ-ธรรมสพน์ ซึ่งอ่านออกเสียงตรงกับคำว่าทำศพนั่นเอง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศาลาธรรมสพน์ ก็มีไว้ “ทำศพ” จริง ๆ
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2563