“คนกินหมากต้องเป็นอารยชนได้..กินมานานไม่เคยเป็นทาสใคร” โฆษณาหมากสมัยจอมพล ป.

(ข้อความ) โฆษณาหมากสำเร็จยี่ห้อหนึ่ง, (ฉากหลัง) แผงขายหมากแห่งหนึ่งในพม่า (AFP PHOTO / Ye Aung Thu)

หมากถือเป็นของว่างยอดนิยมของคนเฒ่าคนแก่ หลายคงคนได้ทันเห็นเชี่ยนหมากของคุณตาคุณยาย และคุณปู่คุณย่ากันมาบ้าง แม้ว่าระยะหลังมันค่อยๆ หายไปเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่พิศมัยการเคี้ยวหมากปากแดงฟันดำเหมือนคนยุคเก่าเสียแล้ว

นั่นก็แสดงให้เห็นว่าค่านิยมที่ไม่เข้าสมัยไม่ช้าไม่นานมันก็เสื่อมถอยไปเอง แต่ในยุคของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม แกคงอยากพาคนไทยเข้าสู่โลกาภิวัฒน์อย่างเร่งด่วน ด้วยการนำเสนอค่านิยมตะวันตกในคราบของ “ไทยอารยะ” โดยที่ชาวบ้านยังไม่พร้อมเท่าไรนัก จึงใช้มาตรการขอความร่วมมือ (แกมบังคับ) ให้คนต้องปฏิบัติตามซึ่งรวมถึงการห้าม “กินหมาก” ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือมีโฆษณาในยุคสมัยหลังพยายามเอาเรื่องความเป็น “อารยะ” ในยุคจอมพล ป. มาขาย แถมว่านโยบายห้ามกินหมากของแกไปในตัวด้วยการกล่าวว่า “คนกินหมากต้องเปนอารยชนได้ เพราะคนไทยมิใช่จะโง่จะไม่สามารถจะดัดแปลงหมากให้เหมาะสมัยไม่ได้ คนทิ้งประเพณีที่ไม่รู้จักดัดแปลงนั่นสิจะเป็นอารยชนไม่ได้”

kinmarkโฆษณาที่ว่าเป็นโฆษณา “หมากสำเร็จ” ที่ชื่อ “RAJA” (รายา) ซึ่งแม้ว่าชื่อและตัวเขียนยี่ห้อจะออกไปทางแขกทางฝรั่งเสียมาก แต่โฆษณาของพวกเขาก็เน้นความเป็นชาตินิยมไม่น้อย ตั้งแต่อ้างว่าการกินหมากปากแดงเป็นประเพณีไทยที่เก่าแก่ซึ่งมีแต่สันติสุขและสุภาพ กินมานานไม่เคยเป็นทาสใคร ต่างจาก “พวกอารยที่ไม่มีหมากกิน” และชอบ “ทาปากล่อกาม”

ข้อความในโฆษณาชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องการเมืองเสียส่วนใหญ่ซึ่งเสียดสีทั้งท่านผู้นำเผด็จการ และวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างแสบสัน แม้ว่าของที่พวกเขาขายจะได้ชื่อว่าเป็นหมากเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่หมากแบบที่ จอมพล ป. รังเกียจเสียหน่อย ถึงอย่างนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการส่อเสียดได้อย่างสร้างสรรของผู้คิดคำโฆษณาชิ้นนี้

ทั้งนี้ หมากพลูที่คนไทยสมัยก่อนนิยมกินกัน ถึงสมัยนี้ก็ยังได้รับความนิยมสูงในหลายประเทศตั้งแต่อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ พม่า ลาว เวียดนาม กระทั่งไต้หวันก็ยังมีพริตตีขายหมากกับเขาด้วย เพราะในทางนึงมันก็มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องทำงานกินเวลานานๆ แล้วต้องการสารกระตุ้นที่ไม่ผิดกฎหมาย หมากถือเป็นตัวเลือกที่ดี (หากไม่คำนึงถึงความไม่สะดวกหลายๆ ประการ) เพราะว่ากันว่ามันช่วยให้คนกินกระชุ่มกระชวยได้ดียิ่งกว่าชาและกาแฟหลายเท่า

แต่ขณะเดียวกัน หมากพลูก็ทำให้คนกินเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพราะมันไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปาก นโยบายของจอมพล ป. เมื่อครั้งกระนู่น จึงน่าจะช่วยให้หลายคนลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งร้ายไปด้วย แม้ว่ามันจะไม่ใช่จุดประสงค์หลักของท่านผู้นำเลยก็ตาม

 


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2560