ย้อนวิถีชีวิตลูกชาวสวนบางขุนเทียน หลังน้ำท่วมใหญ่ แก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

สวนผลไม้ สวนฝั่งธนบุรี ลำคลอง

บทนำ

จากน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2485 ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าน้ำท่วมใหญ่ จนถึงน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 เรียกกันว่ามหาอุทกภัย และอื่นๆ อีกหลายชื่อ น้ำท่วมทั้ง 2 ครั้งมีระยะห่างกันถึง 69 ปี ในช่วงเวลา 69 ปี จะมีน้ำท่วมมากบ้างน้อยบ้างเป็นปกติธรรมดา โดยเฉพาะน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2538 น้ำสูงจากหลังร่องสวนประมาณ 1 ศอก ท่วมอยู่เป็นเวลานานหลายเดือน ลิ้นจี่ มะปราง ยืนต้นตายทั้งขนัด ทั้งที่ชาวสวนแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาของชาวสวนเองด้วยการทำคันดินรอบสวน แต่ก็สู้ระดับน้ำที่สูงและท่วมเป็นเวลานานไม่ไหว การวิดน้ำออกด้วยการใช้เครื่องยนต์และท่อแทบทั้งวัน ถ้าเป็นสมัยที่ใช้ระหัดวิดน้ำ ใบระหัดคงขาดหรือแตกตั้งแต่น้ำท่วมตอนแรกแล้ว

ทุกสวนในละแวกใกล้เคียงของชาวสวนบางขุนเทียน ต่างก็วิดน้ำออกจากสวน เสียงดังของเครื่องวิดน้ำขรมไปหมด หลายวันเข้าเสียงดังของเครื่องจะลดน้อยลงเป็นลำดับ เหลือเพียงไม่กี่สวน เสียงที่ลดลงมีหลายกรณี หนึ่งก็คือ เครื่องวิดน้ำพัง สอง น้ำมันเติมเครื่องวิดน้ำหมด สาม คันดินพังน้ำเข้าสวนสวนจม ไม่มีกำลังคนกู้สวน การกู้ต้องดำน้ำเอาเลนแข็งๆ ในก้นท้องร่องขึ้นมาทำคัน ต้องมีคนดำน้ำแข็งและทนความหนาว ไม่ได้รับการเหลียวแลและช่วยเหลือจากรัฐเลย ไม่เอิกเกริกเหมือนการช่วยเหลือในมหาอุทกภัยปี 2554

มหาอุทกภัยปี 2554 ระดับน้ำที่สวนบางขุนเทียนจะต่ำกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 มาก ยืนยันได้จากการชาด้วยเลื่อยของคุณพ่อที่ลุยน้ำระดับคอไปทำเครื่องหมายของระดับน้ำไว้ที่เสาเรือน ระดับต่ำกว่าท้องรอดประมาณ 30 เซนติเมตร สูงกว่าระดับน้ำปี 2554 เกือบ 1.50 เมตร

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ผู้เขียนอายุ 6 ปี พร้อมพี่สาวอีก 3 คน มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ต้องช่วยกันฟื้นฟูใต้ถุนบ้านที่เป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง รวมทั้งเพิงหน้าบ้านให้อยู่ในสภาพเดิม เมื่อทำงานบ้านเรียบร้อย ก็ต้องออกไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ฟื้นฟูสวน เก็บผลิตผลจากต้นไม้ที่รอดตาย เช่น หมาก มะพร้าว ลูกชาวสวนจะไม่ใช้เวลากับการเล่น เหมือนเด็กในสมัยปัจจุบันที่หมดเวลากับการเล่นเกม โดยมากลูกชาวสวนจะมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ กับการดำรงชีวิตด้วยการหาเงินเป็นค่าอาหารกลางวันในการไปเรียนหนังสือ รวมทั้งการหาอาหารของครอบครัวด้วยการหากุ้งหาปลาซึ่งมีชุกชุมหลังจากน้ำลด

การหาเงินของลูกชาวสวน

หน้าหมาก หมากที่กินกับพลูที่รอดตายจากน้ำท่วม อันหมากหรือทะลายหมากจะอยู่เต็มกอ เนื่องจากว่างเว้นการขึ้นช่วงน้ำท่วม มีทั้งหมากอ่อน หมากดิบ หมากสง และหมากสุก หมากอ่อน คือหมากลูกยังเล็กหน้าไม่เต็ม เมื่อผ่าจะมีเนื้อผสมน้ำ หมากดิบคือหมากที่มีระยะแก่กำลังดี หน้าจะเต็ม สีของเนื้อหมากจะแดงเป็นมัน หมากสง คือหมากที่มีอายุเกินหมากดิบ จะด้วยการลืมขึ้นตอนเป็นหมากดิบ หรือขึ้นผิดอัน ผิวของผลหมากจะสีเหลือง ผสมกับสีเขียวแก่ เนื้อหมากจะแข็ง แต่ก็ยังพอกินกับพลูได้ เมื่อเลยช่วงของหมากสง ผิวของหมากจะแดงจัดหรือแดงก่ำ เรียกหมากสุก เรียกสีที่แดงมากๆ ว่า แดงเหมือนสีหมากสุก

02ในการขึ้นหมากดิบเพื่อขายนั้น คนขึ้นจะต้องใช้ปลอกสวมเท้าเพื่อรัดเท้าให้กระชับกับต้นหมาก ใช้มือเท้า
กับต้น อกของผู้ขึ้นจะไม่ครูดกับลำต้น ถ้าหัดขึ้นใหม่ๆ จะใช้มือเท้ากับต้นหมากไม่เป็น จะใช้วิธีโอบกับต้น หน้าอกจะครูดกับต้นที่มีปล้องนูน อกจะเป็นผื่นแดง ถ้าหลายต้นหน้าอกจะเลือดออกซิบๆ

ปลอกสำหรับใช้ขึ้นหมากหรือมะพร้าว สมัยก่อนจะใช้เชือกจากทางกล้วยแห้งทำ แต่ในปัจจุบันจะใช้ถุงปุ๋ยที่มีความนุ่มและคงทนกว่าทำ อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งในการขึ้นหมากคือมีดบาง ความยาวของตัวมีดประมาณ 10-12 เซนติเมตร เสียบในปลอกที่ทำจากกาบหมากแห้ง เหน็บหลังเวลาขึ้น เมื่อคนขึ้นถึงคอหมากแล้วจะปลิดหมากจากอันที่คาดว่าเป็นหมากดิบ ใช้มีดผ่าโดยการเคาะกับต้น ผลหมากดิบจะถูกผ่าออกเป็น 2 ซีก เรียกหน้าหมาก ทั้ง 2 ซีกยังไม่ขาดออกจากกัน บางต้นคนขึ้นจะผ่าดูถึง 2 อัน เพราะบางต้นอาจขึ้นได้ถึง 2 อัน เนื่องจากหน้าอ่อนหน้าแก่ใกล้เคียงกัน หน้าหมากที่ผ่าคนขึ้นจะโยนลงมายังหลังร่อง หน้าที่เก็บหน้าหมากคือลูกชาวสวนคนเล็ก และพ่อแม่จะยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูก

03หมากแห้ง เมื่อขนหมากกลับมาบ้าน หมากจะถูกกองไว้ที่เพิงหน้าบ้าน แม่และลูกสาวที่โตเป็นสาวแล้วจะทำการแต่งและนับหมาก ในการแต่งจะใช้มีดตัดลูกเล็กๆ หรือที่เรียกว่าหมากทุยและหมากแตกออก ตัดปลายตะแง้ที่แห้งหรือไม่มีลูกออก แม่จะปลิดลูกสวยๆ ผ่าดูและเก็บเอาไว้ให้คนซื้อดู และต้องทำตำหนิว่าหน้าหมากจากอันไหน บางทีคนซื้อไม่แน่ใจก็มักจะผ่าดูอีก

หน้าหมากที่เก็บจากสวน หมากลูกเล็ก หมากแตก และหน้าหมากที่แม่ผ่าและที่คนซื้อผ่า ลูกชาวสวนจะเก็บรวบรวมไว้ เมื่อว่างจากทำงานบ้านหรือกลับจากโรงเรียน จะใช้มีดฝานหรือเฉาะเอาเปลือกออก นำไปไสกับเครื่องไสหมากให้เป็นแว่นบางๆ เรียกว่า หมากแว่น เมื่อนำไปเรียงในตะแกรงต้องเอาน้ำพรม เมื่อตากแห้งแล้วสีจะสวย หมากแว่นที่ตากแห้งแล้ว จะเรียกว่าหมากแห้ง บรรจุในปี๊บ จะขายกับแม่ค้าที่มาซื้อหมากดิบ เงินที่ขายจะเป็นรายได้ของลูกชาวสวนวิธีหนึ่ง

หมากยับ หมากสงที่ลืมขึ้น หรือแต่ละอันมีลูกน้อย คนขึ้นก็จะปล่อยให้คาคอไว้ หมากสงก็จะกลายเป็นหมากสุก ขั้วของหมากสุกจะเหี่ยวและแห้ง หมากสุกก็จะทิ้งอันร่วงหล่นมายังข้างล่าง หล่นอยู่บนข้างร่องและหล่นในท้องร่อง หมากสุกแช่น้ำอยู่นานวัน ผิวจะเริ่มเน่า ผิวนิ่ม และแตกเป็นริ้วๆ เริ่มมีกลิ่นเหม็น ลูกชาวสวนจะเก็บหมากสุกที่อยู่ในน้ำและที่อยู่ตามแคมร่อง นำกลับมาใส่ไหซองหรือตุ่มลูกเล็กๆ เติมน้ำจนเต็ม ปิดปากไหหรือตุ่มด้วยกาบหมากแห้ง ขัดด้วยซีกไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการขยายตัวของหมากที่
จะล้นปากไหปากตุ่ม

การนำหมากสุกแช่น้ำ เรียกหมักหมาก การหมักใช้เวลา 2 ถึง 3 เดือน หมากสุกจะเน่ามีกลิ่นเหม็น เรียกหมากช่วงนี้ว่า หมากยับ เวลาขายเมื่อเปิดปากไหหรือปากตุ่มจะได้กลิ่นเหม็น น้ำที่หมักจะข้น การนับจำนวนเวลาขาย ลูกชาวสวนมักจะเกี่ยงให้แม่ค้าเป็นคนนับ เพราะกลิ่นอันร้ายกาจ เหม็นติดมืออยู่หลายวัน สบู่กรดในสมัยนั้นไม่มีคุณสมบัติพอที่จะขจัดกลิ่นได้ กลิ่นของหมากยับไม่แตกต่างกับกลิ่นของการหมักใบลานให้ขาวในการทำงอบ

ราคาของหมากยับจะถูกกว่าหมากดิบมาก ราคาของหมากยับจะดีก็ต่อเมื่อถึงช่วงหมากดิบขาดคอ แม่ค้าจะนำหมากยับไปปอกเปลือก เฉาะด้วยมีดเป็น 4 หรือ 6 ซีก แล้วตากแห้งเพื่อกินแทนหมากดิบ รายได้จากการขายหมากยับ พ่อแม่จะยกให้เป็นของลูกๆ ลูกๆ ก็จะเก็บรวบรวมกับเงินที่ได้จากการขายหมากแห้ง เงินที่ได้แม้จะเล็กน้อย แต่ค่าของเงินมากกว่าสมัยนี้ แม้จะซื้อขนมจำพวก ขนมหูช้าง จันอับ ขนมเกลียว หรือขนมตุ้บตั้บที่คนจีนล่องเรือขาย เงินก็ยังพอเหลือไปกินข้าวกลางวันในวันไปโรงเรียน

การหาอาหารเข้าบ้าน

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ลดลง ผลพวงจากการท่วมเป็นเวลานาน กุ้ง หอย ปู ปลา จึงอาศัยอยู่บนพื้นดินที่น้ำท่วม แทนที่จะอาศัยอยู่ในคูคลองที่มีระดับน้ำลึกมาก พื้นดินริมคูริมคลองที่เป็นแอ่งเป็นบ่อ โคนต้นไม้โดยเฉพาะริมกอต้นจากที่มีอยู่มากมาย พวกสัตว์น้ำจะตกค้างตามแอ่ง บ่อ ริมกอจากที่มีน้ำขังอยู่ ลูกชาวสวนจะใช้มืองมจับ การจับก็มีอันตรายพอสมควร งูกินปลาจะอาศัยอยู่ตามแอ่งหรือบ่อนี้ด้วยเพื่อกินปลาเป็นอาหาร ถ้าใช้มืองม งูกินปลาก็จะกัดเอาได้ ผู้เขียนเคยถูกกัดที่มือ ตามธรรมชาติของงูกินปลา เมื่อกัดแล้วจะปล่อยเขี้ยว เขี้ยวจะสีขาวเล็กๆ ปักอยู่ที่บริเวณที่ถูกกัดเป็นราว ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่บวม นอกจากจะตกใจเท่านั้น

กุ้งนาง กุ้งก้ามกราม และมันกุ้ง

มันกุ้ง กุ้งนางและกุ้งก้ามกรามจะหลงอยู่มากกว่าสัตว์อื่น อาจจะเป็นเพราะการเคลื่อนที่ของตัวกุ้งเอง ประกอบกับน้ำลดจากตลิ่งเร็วด้วย ได้กุ้งทั้ง 2 ชนิดมากมาย กินไม่ทัน ต้องต้มตากแห้งทำเป็นกุ้งแห้ง เวลาจะกินก็ปอกเปลือกใส่ครกตำ ใส่พริกป่น น้ำปลา คลุกกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยมาก ด้วยจำนวนมากของกุ้ง ส่วนหัวจะมีทั้งมันกุ้งและแก้วกุ้ง ก่อนต้มแม่จะแกะเอามันและแก้วออกใส่ในกระทะทองเหลือง กวนจนเป็นเนื้อเดียวกัน เติมเกลือนิดหน่อย การกวนต้องใส่น้ำมันหมูด้วย ในสมัยนั้นยังไม่มีน้ำมันพืชใช้ กวนจนสุกดีแล้วตักใส่โถปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ได้เป็นแรมเดือน เวลากินคลุกกับข้าวสวยอร่อยไม่มีสิ่งใดเทียบ มันกุ้งที่ได้ก็เป็นน้ำพักน้ำแรงของลูกชาวสวนวิธีหนึ่ง

04การจับกุ้งดีด กุ้งดีดเป็นกุ้งน้ำจืดชนิดหนึ่ง ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากท้องน้ำของชาวสวนนานแล้ว ลูกชาวสวนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2500 จะไม่รู้จักกุ้งดีด กุ้งดีดถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กุ้งดีดขัน สาเหตุเพราะกุ้งดีดมีก้ามใหญ่ 1 ก้าม ก้ามเล็ก 1 ก้าม เมื่อคนจับได้มักจะไม่รีบกิน จะเอาใส่ในขันทองเหลืองหรือขันลงหิน เติมน้ำพอท่วมตัวกุ้ง ตามธรรมชาติกุ้งดีดจะอ้าก้ามอยู่ตลอดเวลา และเมื่อจะจับอาหารก็จะงับก้ามเข้า การขบกันของก้าม จะทำให้เกิดเสียงดัง และเมื่ออยู่ในขันเสียงจะยิ่งดังกังวานมีความไพเราะมาก

ในท้องร่องสวน เฉพาะสวนส้มเขียวหวาน แคมร่องจะไม่มีรากไม้ของต้นทองหลางหรือต้นหมาก แคมร่องจึงอุดมไปด้วยรูปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ จะเป็นรูที่ทิ้งร้างและรูที่ยังมีปูอาศัยอยู่ รูที่ทิ้งร้างกุ้งดีดจะเข้าไปอาศัยอยู่ ลูกชาวสวนก็จะหาวิธีจับกุ้งดีด เพื่อนำมาให้ดีดในขันฟังเสียงดีดเล่น ถ้าได้มากก็จะเป็นกับข้าวของครอบครัวเป็นอย่างดี แกงเขียวหวานใส่มะระขี้นก หรือต้มเค็มหวานใส่เกลือน้ำตาลปึก เป็นกับข้าวเลิศรสในสมัยนั้น กุ้งดีดตัวใหญ่เท่ากุ้งกระเปาะเนื้อแน่น

ในการจับกุ้งดีดจะต้องเตรียมกระปุกตั้งฉ่ายใส่รำข้าวและกะละมังใบเขื่องสำหรับใส่กุ้ง ลูกชาวสวนจะต้องลงไปแช่น้ำในท้องร่อง ถ้าในท้องร่องมีแหนและสาหร่ายมากมักจะมีแมงป่องน้ำตัวแบนๆ ต่อยเจ็บปวดพอทน เมื่อเจอรูปูมีน้ำขุ่นอยู่ปากรู แสดงว่ามีกุ้งอาศัยอยู่ภายใน จะต้องใช้มือแหวกดินปากรูให้เป็นบ่อเล็กๆ การทำบ่อต้องทำด้วยมือเบาๆ ถ้ากุ้งดีดตกใจ มักจะไม่ค่อยออกมาปากรู กอบรำข้าวใส่ลงในบ่อ รำจะลอยบนผิวน้ำจนเต็ม เวลาไม่นานกุ้งดีดจะออกมากินรำ โดยใช้ก้ามทั้งสองคีบรำเข้าปาก ลูกชาวสวนจะค่อยๆ ใช้มือกั้นปากรู เพื่อไม่ให้กุ้งถอยหลังเข้ารูได้ กุ้งดีดจะถูกช้อนด้วยมือและนำใส่ในกะละมังซึ่งลอยน้ำอยู่ข้างๆ ตัว ถ้าทนหนาวอยู่ในน้ำได้นาน กุ้งดีดก็จะเต็มก้นกะละมัง นอกจากให้ดีดฟังเสียงเล่นแล้ว กุ้งดีดยังเป็นกับข้าวอันโอชะด้วย กุ้งดีดต้มเค็มเก็บไว้กินได้หลายวัน กุ้งดีดเมื่อต้มสุกแล้วจะมีสีแดงเข้มสวยงามและน่ากินมาก

จับกุ้งนาง กุ้งก้ามกรามในคลอง

สภาพน้ำในคลองอยู่ในสภาวะปกติ ไม่เน่าหรือเจือปนด้วยน้ำผงซักฟอกเหมือนในปัจจุบัน กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ ประชากรชาวสวนมีจำนวนน้อย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผิดกับสมัยนี้ คนต่างถิ่นหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย ถนนตัดผ่าน นายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินที่เป็นสวนทำบ้านจัดสรร เมื่อคนมีมากขึ้นสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมตามไปด้วย คนบางท้องถิ่นที่ย้ายเข้ามาหากุ้งหาปลาเก่ง ตามถนนทางเดินเท้าที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ก็มีการเดินสายไฟฟ้า คนเดินสะดวกสบาย แต่ก็มีคนต่างถิ่นบางจำพวกใช้อุปกรณ์เกี่ยวสายไฟ เพื่อช็อร์ตกุ้งปลา มักจะทำตอนกลางคืน ทำให้กุ้ง ปลา หมดไปจากท้องร่องสวนและคูน้ำหรือลำกระโดงนานแล้ว

05จับกุ้งด้วยมือ บันไดหัวสะพานท่าน้ำริมคลองของบ้านชาวสวนมักใช้ต้นหมากแก่ๆ ที่มีลูกหมากน้อยและอันตรายในการขึ้นเพราะความสูงนำมาเกลาผิวออก เจาะรูเป็นที่ใส่ขั้นบันได ขั้นบันไดก็ทำด้วยไม้หมากแก่ๆ บันไดไม้หมากนี้มีอายุการใช้งานได้ประมาณ 3-4 ปี หลังจากนั้นรูที่ร้อยขั้นบันไดจะผุ ขยายใหญ่ ขั้นบันไดจะคลอนและหลุด ส่วนแม่บันไดที่ใช้ต้นหมากนั้นภายในจะเป็นโพรง เพราะไส้ในเน่า แม่บันไดจะวางทิ้งไว้ในคลองข้างตลิ่ง บันไดขึ้นลงอาบน้ำหรือลงเรือก็ต้องทำใหม่

เมื่อเวลาลูกชาวสวนอาบน้ำก็จะยกแม่บันไดที่จมน้ำขึ้นตั้งให้ตรงเอามือปิดปากแม่บันไดไว้ น้ำที่อยู่ภายในก็จะไหลออกผ่านมือที่ปิดและไหลออกทางรูขั้นบันได ลูกชาวสวนก็จะได้กุ้งนาง หรือกุ้งก้ามกรามที่เข้าไปอาศัยอยู่ในโพรงของแม่บันได บางครั้งแม่บันไดอันเดียวได้กุ้ง ๒-๓ ตัว นำขึ้นมาย่างไฟพอสุกจิ้มกับน้ำปลากินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยมาก เนื้อจะแน่น หวาน ผิดกับกุ้งเลี้ยงในสมัยปัจจุบันที่แทบจะไม่มีรสกุ้งเลย

ตกกุ้งด้วยเบ็ด

น้ำในคลองใสสะอาด ปราศจากคลื่นเรือหางยาว ไม่มีคลื่นถาโถมกระแทกกระทั้นกับเขื่อนคอนกรีต ที่สองฝั่งคลองต้องทำเพื่อป้องกันตลิ่งพังจากคลื่นของเรือหางยาว สองฟากคลองสมัยก่อนมีแต่ดินหญ้าปกคลุมถึงน้ำ มีกอจาก ต้นลำพู ต้นตีนเป็ด ต้นกรวย ขึ้นริมตลิ่งตลอดลำคลอง เมื่อเริ่มมีเรือหางยาวแล่น ชาวสวนจะใช้ต้นหมาก ต้นมะพร้าวทำเขื่อน เขื่อนเริ่มแรกที่ชาวสวนทำนี้ ก็ยังคงสภาพริมคลองเป็นธรรมชาติ ตามซอก ตามหลืบของเขื่อนยังเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำเป็นอย่างดี

06ลูกชาวสวนจะขอเข็มจากแม่ เข็มเย็บผ้ายาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร มางอเป็นเบ็ดตกกุ้ง เพราะเบ็ดตกกุ้งไม่มีขายเหมือนเบ็ดปลาช่อน เบ็ดปลาหมอ หรือเบ็ดล่อขนาดใหญ่ที่ใช้ล่อปลาช่อน เมื่อได้เข็มมาแล้ว เอาไฟจากเทียนลนจนแดง ใช้คีมงอเป็นเบ็ด หลังจากนั้นต้องทำลูกตุ้มถ่วงเพื่อไม่ให้เบ็ดลอย วิธีทำลุกตุ้มจะต้องหาดินเหนียวมาปั้นเป็นก้อน แล้วทำให้เป็นรูรูปกรวย ปักด้วยก้านทางมะพร้าวตรงศูนย์กลาง เอาก้อนตะกั่วใส่ในฝาละมีหรือทัพพีเหล็ก ตั้งไฟจนตะกั่วละลาย ค่อยๆ หยอดลงในรูที่เตรียมไว้ เมื่อตะกั่วเย็นก็จะได้ลูกตุ้มสำหรับประกอบกับเบ็ด

ในการตกกุ้งจะต้องเอาสายเบ็ดร้อยผ่านรูลูกตุ้ม ยึดลูกตุ้มให้คงที่ห่างจากตัวเบ็ดประมาณ ๒๐-๒๕ เซนติ
เมตร เวลาตกลูกตุ้มจะวางอยู่บนพื้นคลอง เบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อจะลอยพลิ้วตามการไหลของกระแสน้ำ ล่อให้กุ้งกินเบ็ด การตกกุ้งมักจะใช้เบ็ด 2-3 คัน บางวันกุ้งจะกินเบ็ดพร้อมๆ กัน การยกคันเบ็ดเป็นที่สนุกสนานในการยกหรือวัดคันเบ็ดนั้นจะต้องวัดให้เบ็ดติดปากกุ้งก่อนแล้วจึงสาวสายเบ็ด กุ้งจะไม่หลุด ในการสาวสายเบ็ดด้วยคันเบ็ด จะมีความตื่นเต้น ความสนุก ความมันมือ เพราะการดิ้นของกุ้งเมื่ออยู่ในน้ำนั้นมีความแรงด้วยการกระชาก คนตกจะตื่นเต้นกลัวกุ้งหลุดจากเบ็ด กุ้งตัวจะโตไหม นับว่าเป็นประสบการณ์ของลูกชาวสวนที่น่าจดจำอย่างหนึ่ง

ประสบการณ์นี้บางทีก็ทำความผิดหวังให้ลูกชาวสวนได้เหมือนกัน การดิ้นการกระชากของกุ้งบางที่เมื่อเบ็ดพ้นน้ำ สิ่งที่ติดเบ็ดแทนที่จะเป็นกุ้ง กลับกลายเป็นปลาหลด เพราะอาการดิ้น การกระชากสายเบ็ดของปลาหลดเหมือนกับอาการของกุ้งมาก บางครั้งการดิ้น การกระชากสายเบ็ดรุนแรงมาก คาดว่าคงเป็นกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ แต่กลับกลายเป็นปลากระทิงตัวเขื่องที่มีลายสวยงามไป แต่ก็เป็นโชค เพราะปลากระทิงต้มยำทั้งสดหรือย่าง เป็นกับข้าวพิเศษของครอบครัว

การตกกุ้งด้วยการปักเบ็ด

นอกจากการจับกุ้งด้วยการยกแม่บันไดไม้หมาก และตกกุ้งด้วยเบ็ดแล้ว ลูกชาวสวนริมคลองบางประทุน อำเภอบางขุนเทียนยังมีวิธีจับกุ้งด้วยวิธีปักเบ็ดอีกหนึ่งวิธี ช่วงไหนน้ำมากปริ่มริมตลิ่ง น้ำใสแทบจะมองเห็นก้นคูก้นคลองเมื่อเอาไฟฉายส่องในเวลากลางคืน

07เบ็ดที่ใช้ปักจะไม่ใช้เบ็ดที่ทำจากโลหะมีเงี่ยง แต่จะใช้ชิ้นมะพร้าวห้าวเผาไฟจนเกรียม มีกลิ่นหอม ผูกกับสายเบ็ด คันเบ็ดจะยาวกว่าปกติ เพราะต้องให้เหยื่อห่างจากตลิ่งพอสมควร การปักเบ็ดตกกุ้งนี้จะปักเฉพาะเวลากลางคืน เงียบสงัดจากเรือแล่น น้ำนิ่ง การกู้เบ็ดจะใช้ไฟฉายส่อง กุ้งนาง กุ้งก้ามกรามจะลอยตัวขึ้นมากินชิ้นมะพร้าว เวลาจะจับต้องเอาสวกช้อนตัวกุ้งด้วยความรวดเร็ว ถ้าช้ากุ้งจะดีดตัวหนีเพราะชิ้นมะพร้าวมิใช่เบ็ด การปักเบ็ดด้วยการใช้เหยื่อชิ้นมะพร้าวเผาไฟ นับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวสวน โดยที่ลูกชาวสวนสืบทอดต่อมา ในปัจจุบันลูกชาวสวนจะไม่รู้ถึงวิธีจับกุ้งด้วยวิธีปักเบ็ดแล้ว

ฉู่ฉี่และน้ำยาปลาบู่ลื่น

ปลาบู่ลื่นเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ตัวโตสุดประมาณไม่เกิน 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 เซนติเมตรหัวป้อม เกล็ดเล็ก มีเมือกตามผิวหนังเล็กน้อยทำให้ตัวลื่น ทำให้ได้ชื่อว่าปลาบู่ลื่น ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเชื่อกันว่า ถ้ากินปลาบู่ลื่นแล้ว ผู้กินหัวจะสั่น ด้วยความเชื่อจึงทำให้ปลาบู่มีมากมายตามลำคลองลำกระโดง และเมื่อถึงเดือน 12 น้ำนองตลิ่ง ปลาบู่ลื่นจะเหลิงน้ำขึ้นมาหากินตามพื้นบ้านที่น้ำท่วมถึง นอนเรียงเป็นตับ ไม่ว่ายหนี เพราะคนไม่จับกิน

มีอยู่ช่วงหนึ่งมีหญิงพายเรือสำปั้นลำเล็กๆ หัวเรือคนท้ายเรือคน หญิงทั้งสองจะนุ่งขาวห่มขาวมีผ้าคลุม
หัว ถามได้ว่ามาจากทุ่งครุและพระประแดง ไม่กล้าถามเรื่องเชื้อชาติ พายเรือมากันหลายลำ ภายในลำเรือมีเบ็ดตกปลาและข้องใส่ปลาห้อยอยู่กับแคมเรือ จอดเรือตกตามคลองและตามลำกระโดงบริเวณบ้าน ถามว่าตกปลาอะไร ได้รับคำตอบว่าตกปลาบู่ลื่น ด้วยความเชื่อต่อๆ กันมา จึงถามว่า ปลาบู่ลื่นกินได้ หัวไม่สั่นหรือ ได้รับคำตอบว่า กินได้ และอร่อยด้วย โดยเฉพาะไม่มีใครหัวสั่นเลย

ตั้งแต่ได้รับรู้ความจริง และความจริงได้กระจายไปตามชาวสวนทุกคลองทุกบาง ต่อมาไม่ปรากฏหญิงมาตกปลาบู่อีกเลย ชาวสวนจับกินหมด

ลูกชาวสวนมีวิธีตกและจับปลาบู่ลื่นหลายวิธี คือการใช้เบ็ดตกและการจับด้วยมือ การตกด้วยเบ็ดจะมีทั้งตกด้วยมือและใช้เบ็ดปัก หรือที่เรียกว่าปักเบ็ด การใช้เบ็ดปักปลาบู่จะตายคาเบ็ด ปลาบู่เป็นปลาที่ตะกละจะกินเหยื่อเข้าถึงกระเพาะทำให้ตาย สำหรับการตกด้วยมือ เมื่อปลาติดเบ็ดจะรีบปลดปลาจะไม่ตาย เหยื่อที่ใช้เกี่ยวเบ็ดจะใช้กุ้งเป็นเหยื่อ กุ้งนั้นจะต้องเก็บไว้จวนเน่า กุ้งมีกลิ่นปลาบู่จะชอบมาก

เมื่อต้องการเก็บรวบรวมปลาให้ได้เป็นจำนวนมาก ปลาบู่ตัวเล็กเวลาทำน้ำยากินกับขนมจีนจึงต้องใช้ปลาเป็นจำนวนมาก ลูกชาวสวนจึงเอาตะไบเหล็กเล็กๆ ถูเอาเงี่ยงของเบ็ดออกเมื่อปลาติดเบ็ดก็จะปลดปลาออกง่าย เพราะเบ็ดไม่มีเงี่ยงนั่นเอง ปลาจะไม่ช้ำไม่ตาย

เมื่อถึงน้ำเหนือบ่าเดือน ๑๒ ปลาบู่จะเหลิงน้ำขึ้นมาหากินบนพื้นดินที่น้ำท่วม เด็กชาวสวนก็จะหย่อนเบ็ดตรงหน้าตัวปลาตามที่บอกว่าปลาบู่ตะกละ ปลาจะรีบงับเหยื่อ ลูกชาวสวนก็จะยกเบ็ดขึ้น ปลดปลาออกจากเบ็ด และก็หย่อนเบ็ดตกปลาบู่ตัวอื่นต่อไป

เมื่อถึงหน้าน้ำลง น้ำจะแห้งคลอง ทำการลงปลาลงกุ้งหรือมัวกุ้งได้ น้ำในคูหรือลำกระโดงจะแห้งขอด น้ำไหลรินพายเรือไม่ได้ ปลา กุ้งจะหลบซ่อนตรงน้ำลึก เช่น บริเวณปากท่อระบายน้ำเข้าออก โดยมากจะปิดการระบายน้ำด้วยลูกท่อด้านใน ปลากุ้งก็จะหลบเข้าไปอยู่ในท่อ น้ำในลำกระโดงแห้งจนเห็นรูปูเปี้ยวได้ รูปูจะมีตลอดความยาวของลำกระโดง รูปูมีทั้งที่ยังเป็นที่อาศัยของปู และรูปูที่ทิ้งร้างแล้ว ลูกชาวสวนจะนำไหใบเล็กลงไปเดินในลำกระโดง และมีความชำนาญในการดูรูปู ถ้าปากรูมีขุยดินเป็นก้อนเล็กๆ รอบ
ปากรู แสดงว่ารูนั้นยังมีปูเปี้ยวอาศัยอยู่ และถ้ารูไหนปากรูเรียบเป็นมันก็แสดงว่ารูนั้นมีปลาบู่ลื่นอาศัยอยู่ ลูกชาวสวนจะใช้มือแหย่ตรงปากรู ถ้าน้ำในรูนิ่ง แสดงว่าไม่มีรูเป็นทางหนีออก เพราะบางรูเอามือล้วงเพื่อจับตัวปลา ปลาก็จะหนีออกอีกทางปากรูหนึ่ง ถ้าเมื่อแหย่มือแล้วมีน้ำล้นออก ก็จะต้องเอาดินปิดปากรู ก่อนที่จะล้วงมือเข้าไปจับ บางครั้งเพียงแต่แหย่มือทดลองดู ปลาบู่ลื่นบางตัวก็จะกระโจนออกก่อนแล้ว เป็นอันว่าต้องย่ำเลนหารูปูใหม่

ปลาบู่ลื่นตัวเล็กเนื้อน้อย จึงต้องรวมทั้งที่ตกเบ็ดและล้วงตามรูปูให้ได้มากพอที่จะให้แม่ทำกับข้าวด้วยวิธีการฉู่ฉี่ และเมื่อมีการทำขนมจีนในเทศกาลต่างๆ ก็จะมีการทำน้ำพริก น้ำยาปลา เพื่อกินกับขนมจีน น้ำยานั้นมีทั้งทำจากปลาช่อนและปลาบู่ลื่น น้ำยาที่ทำจากปลาช่อนจะได้เนื้อน้ำยามากกว่าน้ำยา
จากปลาบู่ลื่น ความรู้สึกในขณะนั้นชอบน้ำยาจากปลาบู่ลื่นมากกว่า เพราะน้ำยาจะมีรสหวานและหอมมากกว่า น้ำยาจากปลาบู่ลื่นจะเกลี้ยงหม้อก่อนเสมอ

ปูทะเลน้ำจืด

ท้องที่บางขุนเทียนเดิม ซึ่งมีเขตจอมทองและเขตบางบอนรวมอยู่ด้วยนั้น ชายขอบของอำเภอได้แก่บางกระดี่ แสมดำ และท่าข้าม เป็นพื้นที่น้ำกร่อย น้ำทะเลขึ้นถึง ป่าชายเลนอุดมไปด้วยป่าจากป่าแสมและป่าโกงกาง เป็นที่อาศัยของปูทะเลอย่างดี จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ อาจจะน้ำเค็มจัดขึ้นถึง ปูทะเลจึงย้ายถิ่นฐานมาตามลำคลองสนามชัย เมื่อมาถึงเขตบางขุนเทียนก็จะคลานเข้าคลองซอยต่างๆ เช่น คลอง
บางมด คลองบางระแนะ คลองบางประทุน และคลองบางหว้า การเคลื่อนย้ายถิ่นของปูทะเลเป็นไปด้วยความสะดวก เพราะสมัยนั้นไม่มีคลื่นไม่มีเสียงดังจากเรือหางยาว อย่างมากในสมัยนั้นก็มีเพียงเรือแจวเรือถ่อ และเรือแท็กซี่ขนปลาเน่า หรือขี้เป็ดซึ่งแล่นช้าคลื่นไม่แรง

08ปูจะเคลื่อนย้ายเข้าคลองซอย เช่น คลองบางประทุนของผู้เขียน มีคูน้ำหรือลำกระโดงเพื่อเป็นทางชักและระบายน้ำเข้าสวน รวมทั้งเป็นทางขนผลิตผลจากสวนกลับบ้านด้วย ปูทะเลจะแวะเข้าลำกระโดงเพื่อขุดรูอาศัย ปูทะเลจะไม่สามารถขุดรูในคลองได้ เพราะริมตลิ่งแต่ละบ้านทำเขื่อนกันตลิ่งพังด้วยต้นหมาก ต้นมะพร้าว ไม่มีดินให้ขุดรู ปูจะขุดรูตามริมตลิ่งที่ไม่มีรากต้นไม้หรือรากต้นมะพร้าว ถ้าหน้าน้ำนานๆ หลายวัน เราจะไม่รู้ว่ามีปูอยู่ในลำกระโดงเลย และเมื่อน้ำลงเหลือน้ำติดพื้นลำกระโดงเล็กน้อย ก็จะเห็นรูปูเป็นแถวตามข้างตลิ่ง บางรูจะมีขุยดินเป็นก้อนเล็กๆ ใหม่ๆ แสดงว่าปูเพิ่งเริ่มขุดรู

ลูกชาวสวนก็มีความกระตือรือร้นและตื่นเต้นในการจับปู โดยจะเตรียมกระป๋องตักน้ำที่มีหูและก้นลึก พร้อมกับดอง หรือตะขอเหล็กด้ามไม้ไผ่ซึ่งใช้สำหรับจิกเก็บลูกมะพร้าว เมื่อถึงปากรูที่แน่ใจว่ามีตัวปู ก็จะต้องเอาปากกระป๋องแนบกับส่วนล่างของปากรู แล้วใช้ดองสอดเข้าไปชักตัวปู ปูตกใจจะคลานหนีออกมาทางปากรูและคลานลงกระป๋องเป็นที่เรียบร้อย นับได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง และเป็นความภูมิใจของลูกชาวสวน

ปูทะเลที่เคลื่อนย้ายมาจากน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ตัวปูทะเลทุกตัวจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเขียวเป็นสีเขียวทั้งตัว มีทั้งเขียวแก่และเขียวอ่อน เป็นการพรางตัววิธีหนึ่ง เมื่อได้ปูสักสองสามตัว ก็จะทำเป็นอาหาร ทั้งต้ม และแกงกับกะทิ กับข้าวจากปูทะเล นับได้ว่าเป็นกับข้าวที่วิเศษอย่างหนึ่ง

สรุป

ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นเรื่องเบาๆ บางท่านอาจเห็นว่าไร้สาระ แต่ในความเห็นของผู้เขียน คนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี คงไม่รู้จักหน้าตาหรือวงจรชีวิตของหมากอ่อน หมากดิบ หมากสง หมากแห้ง หมากสุก หมากแว่น และหมากยับ รวมทั้งกุ้งดีด ปลาบู่ลื่น หรือปูทะเลน้ำจืดแล้ว รวมทั้งเป็นความภูมิใจในการดำรงชีวิตของลูกชาวสวนคนหนึ่ง ซึ่งลูกชาวสวนในปัจจุบันก็คงไม่ได้สัมผัสชีวิตในวัยเด็กเช่นผู้เขียน

เพราะพ่อแม่ที่เป็นชาวสวนได้เลิกอาชีพทำสวนหมด พื้นที่สวนปล่อยให้รกร้างหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านต่างๆ ไปหมดแล้ว


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560