“มรณังโฮเต็ล” โรงแรมรอความตายเมืองพาราณสี สถานที่รอวันคืนสู่โมกษะของชาวอินเดีย

ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี อินเดีย

สรรพสิ่งบนโลกใบนี้ตกอยู่ภายใต้ของกฎธรรมชาติ กล่าวคือ เกิดขึ้นในตอนต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด ซึ่งเป็นปกติและไม่มีใครหลีกหนีไปได้แม้แต่คนเดียว ในศาสนาฮินดูหรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า สนาตนธรรม คือศาสนาที่ไม่มีเบื้องต้นและไม่มีเบื้องปลายนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแนวความคิดเรื่องการมาสู่โลกใบนี้ และการกลับคืนสู่โลกที่ดีกว่านี้ด้วยการวางวิถีชีวิตที่เรียกว่า อาศรมธรรม ได้แก่

พรหมจรรย์ วัยแห่งการศึกษาเรียนรู้, คฤหัสถ์ วัยแห่งการครองเรือน แต่งงาน มีลูก และบูชาเทพเจ้า, วนปรัสถ์ วัยแห่งการถอยห่าง ลองใช้ชีวิตด้วยการออกจากเรือนไปสู่ป่าเพื่อทดลองว่า กายและใจจะเลือกเส้นทางไหน และสันยาสี วัยแห่งการท่องเที่ยวไปไร้ขอบเขต มีจุดหมายเบื้องหน้าคือ โมกษะ การกลับคืนสู่ปรมาตมัน

แน่นอนว่าลำดับขั้นตอนเหล่านี้ถูกเรียนรู้ ถ่ายทอดด้วยการสั่งสอนและแสดงให้เห็นตลอดทุกเวลา โดยอาศัยร่างกายของมนุษย์แสดงให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะที่เมืองพาราณสี รัฐอุตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา สถานที่ที่ถูกกล่าวขานกันว่าเมืองสำหรับคนตายไม่ใช่สำหรับคนเป็นเมืองนี้จึงเห็นความตายผ่านจากศพเป็นเรื่องปกติเพราะเป้าหมายสุดท้ายของชาวฮินดูคือ การที่ได้มาตายที่เมืองพาราณสีและเป็นคำสั่งเสียของผู้ตายที่จะขอลูกหลานว่าขอมาตายที่เมืองพาราณสี

การมาเมืองพาราณสีสำหรับนักท่องเที่ยวคือการมาชมวิถีชีวิต พิธีกรรมริมฝั่งแม่น้ำคงคาจากบนเรือ เช่น พิธีสุริยนมัสการ, พิธีอาบน้ำล้างบาป, การประกอบพิธีอารตี (บูชาไฟ), การฝึกโยคะ และการมาชมพิธีเผาศพ ซึ่งหมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคนที่เคยไปชมมาแล้วย่อมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจริงเพราะไปช่วงเวลาไหนเห็นตลอดเวลา เมืองพาราณสีเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นที่ยิ่งใหญ่มีนามเรียกขานเฉพาะว่ากาสี” ที่แปลว่าความสว่างไสวเพราะแสงไฟอันเกิดจากการเผาศพเฉลี่ยปีละ 35,000 ศพนั่นเอง!

ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี อินเดีย

การเตรียมตัวมารอความตายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโรงแรมที่จัดไว้สำหรับคนที่ตั้งใจมาตายที่นี่เป็นโรงแรมเฉพาะกิจไม่ได้มีไว้สำหรับคนทั่วไป สถานที่ตั้งของโรงแรมไม่ไกลจากท่าเผาศพมณิกรรณิการ์ฆาตจึงยืนยันแก่ผู้ที่มารอความตายได้ว่าจะเข้าสู่โมกษะอันเป็นอุดมคติสูงสุด คือภาวะอันหลุดพ้นเพื่อคืนสู่พระเจ้าอย่างรวดเร็วมากกว่าคนที่ไม่ได้มาอยู่รอความตาย

ความเชื่อเรื่องนี้สะท้อนการสละ การละวาง การไม่ยึดติด เพราะวัฒนธรรมของชาวฮินดูถือว่าความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้หนึ่งนั้น มิได้วัดด้วยสิ่งที่เขาได้มา หากแต่วัดจากสิ่งที่เขาสละทิ้งไป ดังนั้น ในหลักปรัชญาอินเดียจึงกล่าวว่าการตระหนักรู้ในตนเองนำไปสู่ความมีอิสระและเป็นการนำไปสู่ความจริงได้ในที่สุดเมื่อขั้นตอนของชีวิตเดินมาสู่ปลายทางแล้ว การเตรียมพร้อมสำหรับโลกหน้าจึงเป็นสิ่งควรกระทำดำเนินการมากที่สุด เพราะอดีตย่อมไม่หวนกลับไปได้อีกเฉกเช่นสายน้ำ

โรงแรมรอความตายในเมืองพาราณสีจึงตอบโจทย์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี และโรงแรมความตาย (The Death Hotels of Varanasi) จึงเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮินดูที่มีจิตใจภักดีอุทิศต่อพระเจ้าแล้ว ความตายเป็นเพียงก้าวย่างหนึ่งที่ไม่น่าสะพรึงกลัว แม้ว่าบางคนต้องเดินทางมาจากทิศที่ไกลแต่มีจุดหมายคือต้องถึงเมืองพาราณสีก่อนสิ้นลมหายใจ

โรงแรมอาจจะเป็นคำที่ดูหรูหราแต่แท้ที่จริงแล้วชาวฮินดูกลับเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ภาวัน (Bhawan) ซึ่งแปลว่าบ้านและมีชื่อว่า กาศี ลาภ มุกติ ภาวัน (Kashi Labh Mukti Bhawan) (คลิกชมภาพโรงแรมหรือบ้านแห่งความหลุดพ้นเมืองกาศี ตั้งอยู่ที่ Geeta Mandir Road, Near, Girja Ghar Rd, Misir Pokhra, Varanasi, Uttra Pradesh 221001, India อยู่ห่างจากท่ามณิกรรณิการ์ หากเดินด้วยเท้าใช้เวลา 14 นาที หากขึ้นรถยนต์ใช้เวลา 7 นาที มีศาสนสถานประกอบพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงพระเจ้า โดยมีพราหมณ์หรือบัณฑิตเป็นผู้ประกอบให้ พิธีกรรมที่ผู้เข้าอาศัยจะร่วมได้แก่ การอาบน้ำล้างบาป, การสวดมนต์บูชาเทพเจ้า, การสั่นระฆังเพื่อส่งสัญญาณถึงพระเจ้า เป็นต้น

บ้านหลังนี้ให้ระยะเวลาผู้มาอยู่รอความตายทั้งหญิงและชายประมาณ 20 คนต่อเดือนเท่านั้น อีกทั้งทางเข้าค่อนข้างแคบและใช้สัญจรไปมาทั้งคนและวัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุจจาระวัวที่มีให้เห็นตลอดเส้นทาง

ปัจจุบันมี ไภราพ นาถ ศุขลา (Bhairav Nath Shukla) เป็นผู้จัดการบ้านหลังมานานกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวของบ้านหลังนี้ว่าเป็นทางเชื่อมต่อเพื่อเดินทางสู่โมกษะ เพราะศพคนตายทั้งหมดจะนำออกจากบ้านหลังนี้ไปเพื่อประกอบพิธีเผามาแล้วไม่น้อยกว่า 15,000 ศพ 

บ้านหลังนี้มี 2 ชั้น จำนวน 10 ห้อง โดยการพักบ้านหลังนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนจนและอยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน หากเกินกว่าจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป บ้านหลังนี้ก่อสร้าง .. 1908 เปิดให้บริการ .. 1950 เจ้าของเดิมชื่อ Hari Ram Goenka และถูกซื้อต่อโดย Jai Dayal Dalmia และดูแลโดย Dalmia Trust

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้าพักพบว่าบางรายมีอาการแย่ลงมากเหมือนจะใกล้ตายแล้ว แต่พอญาตินำมาถึงเมืองพาราณสีและได้เห็นแม่น้ำคงคากลับทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นและกลับบ้านไป มีบางครอบครัวพาผู้ป่วยไปกลับหลายครั้ง จนสุดท้ายต้องรอให้เสียชีวิตจากที่บ้านแล้วประกอบพิธีเผา จากนั้นจึงนำกระดูกมาลอยในแม่น้ำคงคาก็มี

ปัจจุบันกาศี ลาภ มุกติ ภาวัน กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการเข้าเยี่ยมชม จนมีบางบริษัททัวร์ที่ให้บริการมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไว้บริการ โดยนัดหมายที่ท่าอัสสีฆาต ใช้เวลาเริ่มตั้งแต่รับ นำชม และส่งกลับรวม 4 ชั่วโมง ราคาประมาณ 4,000 รูปีหรือ 2,000 บาท เหมาะสำหรับคนที่ต้องการศึกษาเพื่อเตรียมตัวกลับสู่โมกษะ

สำหรับชาวฮินดูแล้วสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านหลังนี้พิเศษกว่าที่อื่นคือ เป็นบ้านที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินเมืองพาราณสีที่พระเจ้าเลือกให้เป็นที่เชื่อมต่อของโลกและโมกษะนั่นเอง ใครพร้อมเชิญ Check-in!


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2563