ความเชื่อเบื้องหลังพิธีเผาศพของชาวอินเดีย สู่สถิติเผาริมฝั่งแม่น้ำคงคา 35,000 ศพต่อปี

ภาพประกอบเนื้อหา - พิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคา

สำหรับชาวอินเดียแล้วแม่น้ำที่ไหลผ่านในดินแดนชมพูทวีปล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งจำนวนแม่น้ำเหล่านั้นมีมากมายหลายสายได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra), แม่น้ำโคธาวารี (Godavari), แม่น้ำยมุนา (Yamuna) และแม่น้ำคงคา (Ganges) เป็นต้น

แม่น้ำคงคาจะเป็นแม่น้ำสายพิเศษและสำคัญเนื่องมาจากเป็นแม่น้ำแห่งสรวงสวรรค์เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกพิภพและการกลับสู่สวรรค์ดังปรากฏตำนานที่หลากหลายพร้อมทั้งเล่าขานทำให้ชาวอินเดียมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจนถือเป็นคำขอหรือคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายขอให้ได้มานอนตายที่ข้างริมฝั่งแม่น้ำคงคา

หากไม่เป็นได้ดังที่หวังขอกระดูกซึ่งเป็นของติดร่างกายนี้ได้มาถูกลอยลงในแม่น้ำคงคาเพื่อปลดเปลื้องบาปทั้งปวงก่อนกลับคืนสู่สวรรค์ตามความเชื่อนั้น โดยเฉพาะแม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านเมืองพาราณาสี รัฐอุตรประเทศ แห่งนี้เท่านั้น

กล่าวกันว่าจำนวนศพที่ถูกหามกันมาในแต่ละวันตลอด 24 ชั่วโมงทำให้เมืองพาราณาสีซึ่งอดีตเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสีอันเป็นแคว้นโบราณจึงถูกขนานนามว่า “นครแห่งแสงไฟ” เพราะสาเหตุที่ว่าแสงไฟอันเกิดจากการเผาศพที่ถูกจุดต่อเนื่องกันไม่มีวันดับเป็นระยะเวลากว่า 5,000 ปีจวบจนถึงปัจจุบันจนทำให้เมืองนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองแห่งความตาย”

ประจักษ์พยานที่ชัดเจนนั้นคือบรรดายาจก วณิพก ขอทาน หรือผู้ไม่มีแม้แต่อาหารจะประทังชีวิต คนบ้านแตกสาแหรกขาด ชายที่ไม่มีแม้แต่ชายคาคอยป้องกันแดด ฝนตลอดถึงความหนาวเหน็บ คนไร้ที่ซุกหัวนอน จนถึงพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนเรียกว่าบัณฑิต หรือพราหมณ์มหาศาลผู้เป็นที่เคารพบูชาของคนทุกวรรณะ พระราชามหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มหาเศรษฐี คหบดีผู้มีเงินทองเหลือเก็บและใช้ชีวิตอย่างพรั่งพร้อมด้วยข้าทาสบริวารหญิงชาย รวมถึงพระเจ้าพรหมทัต มหาราชผู้ครองเมืองพาราณาสีก็ใช้ริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้เป็นฌาปนสถานเช่นเดียวกับคนทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้วและในแต่ละปีมีศพไม่น้อยกว่า 35,000 ศพมาใช้สถานที่แห่งนี้ร่วมกัน

พิธีกรรมการเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาเป็นพิธีที่เปิดเผยโดยมี 2 ฆาต (ท่าเผาศพ) ที่ไว้ประกอบพิธีคือ ท่ามณิกรรณิการ์ฆาต (Manikarnika Ghat) และท่าหริศจัณทร์ฆาต (Haishchandra Ghat)

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ดวงไม่ถึงฆาต” ที่มาของสำนวนไทย ติดปากจากวัฒนธรรมอินเดีย?)

โดยเริ่มต้นจากก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะจากผู้ตายไปจะประกอบพิธีสำคัญเพื่อผู้ตายโดยเฉพาะเรียกว่า โคทาน(Godan) หมายถึง การทำบุญกแก่วัว และ ไวตารนี (Vaitarni)

สำหรับพิธีโคทาน ผู้ที่กำลังจะตายจะถูกโกนผมที่ศีรษะพิธีจึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ฉโหรกรรม (Chhourkarma) โดยการนำวัวสีดำมาไว้ข้างกายของผู้ที่จะเสียชีวิต พราหมณ์จะทำแหวนจากหญ้ากุสะ(Kusha) สวมใส่ไว้ที่นิ้วนางของผู้ที่จะเสียชีวิตและจะสวดมนต์

ในขณะนั้นผู้ที่จะเสียชีวิตจะปาข้าวสาร, งา, ข้าวบาเลย์ เป็นต้น ไปที่วัวตัวนั้น เมื่อเสร็จพิธีเบื้องต้นนั้นแล้วจึงประกอบพิธีทักษิณา (Dakshina) ให้แก่พราหมณ์ผู้มาประกอบพิธี ความหมายของพิธีเพื่อให้โคเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นพาหนะเดินทางของพระศิวะการกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้บาปหมดไปได้

ส่วนพิธีไวตารนี (Vaitarni)  เป็นพิธีกรรมมีความเชื่อในตำนานว่าเป็นชื่อของแม่น้ำที่จะนำผู้ตายไปสู่ยมโลก (Yamaloka) ดังนั้นผู้ที่จะตายจะจับหางวัวสีดำไว้ด้วยมือขวาในขณะเดียวกันพราหมณ์จะปาข้าวสาร, ดอกไม้, งา, ข้าวบาเลย์ เป็นต้น พร้อมทั้งสวดมนต์และนำร่างของผู้ที่กำลังจะตายนอนลงบนเสื่อซึ่งทำจากหญ้ากุสะและจะมอบน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวนาถ (Lord Vishwanath) และของพระกาล ไภรวา (Kala Bhairava) ให้ดื่ม

ภายหลังจากดื่มแล้วเสร็จเขาจะเข้าสู่โมกษะก่อนที่จะเสียชีวิตลง หรือบางครั้งก็จะให้ดื่มน้ำจากแม่น้ำคงคาเพราะเชื่อว่าจะไปชำระล้างบาปที่ได้กระทำมาให้บริสุทธิ์ได้ และจะมอบใบตุลสี(กระเพรา) เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายไปสู่วิษณุโลก (Vishnuloka) (ที่ประทับของพระวิษณุ) รวมถึงจะมอบแผ่นทองคำให้เพราะเชื่อว่าจะได้ไปสู่เทวโลก (Devaloka) (ที่อยู่ของเทวดา)

เมื่อพิธีกรรมทั้งสองเสร็จสมบูรณ์แล้ว ลมหายใจครั้งสุดท้ายได้พรากร่างกาย และจิตวิญญาณออกจากกัน ครอบครัวจะเป็นผู้จัดการกับศพเริ่มจากจะหันศีรษะของผู้ตายไปทางทิศเหนือ ญาติจะห่อร่างกายด้วยผ้าสีสำหรับสตรีส่วนบุรุษจะใช้ผ้าขาวแล้วนำศพวางบนไม้ไผ่เจ็ดซีกไม่มีโลงศพวางพวงดอกดาวเรืองและเดินไปตามท้องถนนหรือผูกวางไว้เป็นรถ

ญาติของผู้ตายจะว่าจ้างผู้อื่นหามหรือช่วยกันหามไปยังฆาตเผาศพและกล่าวบทสวดมนต์ตลอดเส้นทางว่า “ราม นาม สัจจ แฮ” (Ram Nam Satya Hai) แปลว่า ชื่อพระรามองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นความจริง สิ่งอื่นตายหมด (The name of Ram is truth) เมื่อศพถึงฆาตแล้วผู้จัดการในพิธีเผาศพหากเรียกในศัพท์ภาษาไทยเรียกว่า สัปเหร่อ สำหรับชาวฮินดูแล้วเรียกว่า โดม ราชา (Dom Raja)

ถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดสำหรับพิธีนี้เพราะทำหน้าที่เก็บรักษาไฟศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากตำนานที่กล่าวถึง กาลุ โดม (Kalu Dom) ผู้เป็นบ่าวรับใช้ของพระราชาพระนามว่า หริศจันทร์ (King of Harishchandra) แห่งราชวงศ์สูรยะ ซึ่งได้พระราชทานตำแหน่งผู้จุดไฟเพื่อใช้เผาศพแก่กาลุ โดม (Kalu Dom) ความเชื่อในครั้งนั้นได้สืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน

ผู้ที่มีความประสงค์ใช้ไฟต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่โดม ราชา (Dom Raja) ปัจจุบันตำแหน่งโดม ราชา (Dom Raja) อยู่ภายใต้การดูแลของวรรณะพราหมณ์ตระกูลเจาดารี (Choudhary) ชาวอินเดียจึงมีความเชื่อที่ว่าไฟที่ได้รับจากโดม ราชา (Dom Raja) จะทำให้ผู้ตายเข้าสู่โมกษะอีกวิธีหนึ่งด้วย

ก่อนพิธีกรรมเผาศพจะเริ่มต้นขึ้น ศพผู้ตายเมื่อมาถึงจะถูกนำไปจุ่มลงในแม่น้ำคงคาอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะนำกองฟืนซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้มะม่วงซึ่งเตรียมไว้มาจัดวางบนแผ่นปูนแล้วจึงนำศพมาตั้งวางไว้

พิธีกรรมจุดไฟเผาโดย โดม ราชา (Dom Raja) จะทำหน้าที่สวดมนต์ในบท กรรม กันทิ (Karma kandi) และเดินรอบกองฟืนที่ศพตั้งอยู่สามรอบพร้อมทั้งจะนำไม้จันทน์, น้ำมัน, ข้าวบาเลย์, งา เป็นต้น ใส่เข้าไปในกองฟืน

พิธีขณะนี้มีด้วยกัน 2 พิธี คือ 1. พิธีทาสัง (Dasang) และ 2. พิธีอัศทังถะ (Astagandha) ในพิธีทาสังเป็นการให้ 10 อย่าง ได้แก่ ข้าวบาเลย์, งา, แป้งข้าวเจ้า, น้ำมัน, โภชนภัตตา และปัญจมีวะ(Panchamewa) คือ ผลไม้แห้ง 5 อย่าง เป็นต้นซึ่งจะนำใส่เข้ากองฟืนเพื่ออุทิศแก่ผู้ตายและพิธีอัศทังถะเป็นการให้ 8 อย่าง ได้แก่ ไม้จันทน์ น้ำมัน ไม้กระเพรา เป็นต้น ซึ่งการอุทิศในพิธีนี้แก่ผู้ตายไม่ได้มีรูปแบบที่แน่นอนอยู่ที่ดุลยพินิจของญาติในการปลงศพครั้งสุดท้าย

เมื่อทุกอย่างดำเนินมาพอสมควรแล้วโดม ราชา (Dom Raja) จะเป็นผู้จุดเผาตรงปากของผู้ตายเป็นอันดับแรกและบริเวณกองฟืนทั้งหมดเพื่อให้ไฟศักดิ์สิทธิ์ได้ทำหน้าที่ชำระล้างบาปผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายจากนั้นญาติของผู้ตายเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะอยู่ร่วมพิธีได้จะประกอบพิธีศราท (Shraddha) เป็นการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษด้วยข้าวบิณฑ์(Pindas) (ก้อนข้าวสุก) เพื่อให้ผู้ตายไม่ต้องเป็นเปรตเร่รอน

เมื่อได้รับข้าวแล้วจะได้ไปสู่สุคติอยู่ร่วมกับวิญญาณบรรพบุรุษ ผู้ทำศราทธ์ ถ้าเป็นลูกชายจะช่วยให้บิดาพ้นขุนนรกชื่อ “ปุตตะ” พิธีนี้จะเริ่มในวันแรกเมื่อมีผู้ตายก่อนที่จะเผาศพและวันที่ 11 นับจากวันตายจะทำพิธีใหญ่โดยญาติทั้งหญิงและชายสายบิดาและมารดาสืบขึ้นไป 3 ชั่วคนต้องมาร่วมพิธี

ญาติเหล่านี้เรียกว่า “สบิณฑ์” แปลว่า “ร่วมข้าวบิณฑ์” หลังจากนั้นทำพิธีเดือนละครั้งเอยไปตลอดไป แล้วจึงเปลี่ยนทำปีละครั้ง ถ้าหากทำพิธีเสร็จแล้วข้าวของเครื่องใช้จะต้องทิ้งในแม่น้ำหรือโคนต้นโพธิ์

พิธีเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาจึงถือเป็นอุบายให้ผู้ศึกษาสามารถบรรลุถึงธรรมได้ดีดังที่สันติ เตชอัครกุล (ตามรอยบาทพระพุทธองค์, 2549 : หน้า 274-275) เรียบเรียงว่า “คนทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นพาล เป็นบัณฑิตมั่งมีและขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินทุกชนิดที่ช่างหม้อปั้นแล้วทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ ล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น”


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล E-mail :  [email protected]

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2562