ตำนานโบราณ “ผีดิบ-ซอมบี้” ฉบับจีน สู่หนังฮ่องกง ฤๅสาบสูญหลัง “ซอมบี้ฮอลลีวูด” บุก?

(ซ้าย) โปสเตอร์ซีรีส์ Kingdom ภาพจาก Facebook / Netflix (ขวา) ผีดิบจากภาพยนตร์ Mr. Vampire

ตำนานและความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล มาถึงยุคแห่งเทคโนโลยีก็ยังปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องเหล่าที่คลาสสิกยังถูกหยิบมาแปรรูปนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ แทบทุกปี อาทิ Dracula และปฏิเสธได้ยากว่า ความเชื่อที่ถูกนำมาผลิตซ้ำบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ซอมบี้ ผีดิบ หรือซากของร่างกายมนุษย์ที่ยังมี “ชีวิต” อยู่

ความนิยมเกี่ยวกับผีดิบสะท้อนผ่านกระแสตอบรับของสื่อบันเทิงร่วมสมัยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่ละปีล้วนมีแฟนรอคอยติดตามผลงานผีดิบแบบตะวันตก ในเดือนมีนาคม 2020 ก็ยังมีซีรีส์ Kingdom ซีซั่น 2 ที่เพิ่งปล่อยสตรีมมิงใน Netflix แบบหมาดๆ ลักษณะผีดิบในซีรีส์ย้อนยุคนี้ก็มีคุณสมบัติแบบ “ซอมบี้ตะวันตก” แต่หากพูดถึง “ผีดิบ” ในเอเชียแบบดั้งเดิม ในจีนก็มีตำนานเรื่องเล่าอันบอกเล่า “ผีดิบ” อีกแบบ

ความเชื่อเกี่ยวกับ “ผีดิบ” เป็นอีกหนึ่งความเชื่อซึ่งปรากฏในแถบตะวันออกเช่นกัน ศัพท์จีนกลางที่เรียกผีดิบนั้น การสืบค้นของนักเขียนหลายแห่งเชื่อกันว่าใช้คำว่า “เจียงซือ” หรือ “เจียงชี” (僵尸) นักเขียนจากสื่อตะวันตกแปลแบบตรงตัวว่า “ศพอันแข็งทื่อ” (stiff corpse) ขณะที่ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า Kyonshi นิยามของสิ่งเร้นลับชนิดนี้แตกต่างกันออกไป บางแห่งบอกว่าเดิมทีนั้น ก่อนที่จะถูกสื่อบันเทิงหยิบมาแต่งแต้มเติมสีสัน มันทั้งไม่ใช่ซอมบี้ (เนื่องจากไม่ได้กินเลือดเนื้อสิ่งมีชีวิต) ไม่ใช่ผีดูดเลือด และไม่ได้ดื่มเลือด ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้ว มันสูบกิน “พลังชีวิต” หรือปราณ (qi)

ลักษณะเด่นดั้งเดิมของเจ้าสิ่งเร้นลับนี้คือ มันไม่เดิน ไม่เคลื่อนไหวแบบเซไปมา และไม่คืบคลานแบบน่าสยดสยอง มันกระโดด หากจินตนาการว่า ผีดูดเลือดที่กระโดดไปมา วัยรุ่นอาจคิดว่ามันออกจะน่าขำขัน แต่ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้ว การกระโดดของมันสามารถเคลื่อนที่อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

นักประวัติศาสตร์จากตะวันตกสืบค้นหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าสิ่งเร้นลับนี้แล้วพบว่า สิ่งเร้นลับนี้ไปปรากฏในเรื่องเล่าที่มีฉากหลังในยุคก่อนหน้าการรวมประเทศของจีนโดยจิ๋นซีฮ่องเต้กับราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นราชวงศ์แรกของจีนที่มีรวมชนชาติและรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า เจ้าเจียงซือนี้ ปรากฏขึ้นก่อนหน้าที่หยิงเจิ้ง (ฉินสื่อหวง ปฐมจักรพรรดิของจีน หรือจิ๋นซีฮ่องเต้) จะถือกำเนิด

ขณะที่บันทึกของ “จี หยาน” (Ji Yan) นักเขียน นักปรัชญา ในสมัยราชวงศ์จิ๋นมีปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับเจียงซือในหนังสือ Yuewei Caotang Biji (閱微草堂筆記) หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ซากศพคืนชีพแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือซากศพเก่าที่ไม่เสื่อมสลาย สองคือเป็นซากศพของผู้เสียชีวิตได้ไม่นานกลับคืนชีพขึ้นมา

ลักษณะของผีดิบแบบดั้งเดิมของจีน กับซอมบี้แบบตะวันตก ยิ่งเลือนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลหลายแหล่งจากสื่อฝั่งตะวันตกเชื่อกันว่า เดิมทีแล้ว ผีดิบดั้งเดิมแบบจีนมีส่วนคล้ายผีดิบแบบตะวันตก กล่าวคือ สามารถเคลื่อนไหวได้เฉพาะยามราตรี

หากวิเคราะห์จากสายตาของยุคปัจจุบัน ความเชื่อเหล่านี้อาจเป็นภาพสะท้อนความหวาดหวั่นต่อความตาย และสิ่งที่มองไม่เห็นที่มาพร้อมกับความมืด หรือแม้แต่ตัวความมืดเองที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสหลายชนิด ผีดิบเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตายโหง ฆ่าตัวตาย การฝังที่ไม่ถูกต้อง หรือการฝังที่ไม่ทันเวลา

บางรายเชื่อกันว่า ต้นตอของเรื่องผีดิบในจีนมาจากเรื่องเล่าท้องถิ่นว่าด้วยการว่าจ้างนักบวชเต๋าให้ทำพิธีคืนชีพคนตายให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาและสอนให้มันกระโดดกลับมาสู่บ้าน เนื่องจากญาติของผู้ตายไม่มีเงินพอว่าจ้างรถไปรับศพในที่ห่างไกล นักบวชจะทำพิธีตอนกลางคืนและสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งให้คนที่อยู่ใกล้เคียงหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีความเชื่อว่าการเผชิญหน้าหรือมองไปหานั้นจะนำมาซึ่งเคราะห์ร้าย

อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่า เจียงซือมีข้อแตกต่างจากซอมบี้ตะวันตก อาทิ มันไม่สามารถแหวกหลุมศพของตัวเองขึ้นมาได้ แต่การลุกขึ้นมานั้นเป็นผลจากความเพิกเฉยมากกว่า พวกที่ถูกละเลยไม่ได้รับการฝังหรือการดูแลอย่างเหมาะสมกลายเป็นเจียงซือ เมื่อถึงเวลาค่ำคืน ในความเชื่อและเรื่องเล่าใช้คำอธิบายกันว่า พวกมันดูดซับพลังงานจากแสงจันทร์หรือดวงดาว เมื่อถึงเวลากลางวันก็ต้องหาที่หลบซ่อน ที่สำคัญคือ เจียงซือ เคลื่อนที่โดยการกระโดด

ภายใต้การหยิบยกมาฉายภาพผ่านสื่อ ผีดิบจีนมักปรากฏตัวในเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานยุคราชวงศ์ชิง เชื่อกันว่าที่มาของเรื่องนี้มีหลายสาเหตุ อาทิ บันทึกเกี่ยวกับ “ผีดิบ” ยุคแรกๆ มาจากยุคสมัยราชวงศ์ชิง เช่น บันทึกของ Yuan Mei และ Ji Xiaolan ซึ่งต่างมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ และมีเอ่ยถึงเจียงซือ (jiangshi) ไว้ด้วย

อัปเดต : แก้ไขข้อมูลล่าสุดเรื่องชุดของผีดิบจีนเป็นชุดของราชวงศ์ชิง เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565

เมื่อสื่ออย่างผู้กำกับแห่งวงการหนังฮ่องกงเริ่มหยิบเรื่องราวในความเชื่อมาปลุกปั้นเป็นสื่อบันเทิงในยุค 80s ถึงต้น 90s เจ้าผีดิบชนิดนี้ก็เริ่มถูกเสริมแต่งขึ้น บางครั้งมันก็ถูกนิยามในเนื้อหาภาพยนตร์ว่าเป็น “ผีดูดเลือด” (แวมไพร์-Vampire) แน่นอนว่า ลักษณะแบบนี้ดูมีสีสัน มีมิติมากกว่าผีที่สูบกิน “พลังชีวิต” ยิ่งเมื่อพิจารณาจากอิทธิพลหนังสยองขวัญจากฮอลลีวูดที่สิ่งดูดเลือดทั้งหลายได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างยาวนานจนถูกผลิตซ้ำแทบนับไม่ถ้วน

ภาพยนตร์ที่ฉายภาพเจียงซือ และได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงแรก ย่อมมีชื่อเรื่อง Mr. Vampire (1985) ภาพยนตร์ฮ่องกงที่มีภาคต่อออกมา รวมกันแล้วเป็นหนังชุดที่มีถึง 5 ภาคกันเลย ผีดิบที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนผีดิบจีนแบบดั้งเดิมส่วนหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอกที่เน่าเปื่อย เคลื่อนที่ด้วยการกระโดด และกัดคน

หลังจากเรื่องนี้เป็นต้นไป ภาพยนตร์ผีดิบก็มักผสมอิทธิพลแวมไพร์แบบตะวันตกเข้ามา ผู้ชมอาจเริ่มเห็นว่า เวลาต่อมา ผีดิบจีนในภาพยนตร์จะดื่มเลือดคน แต่สิ่งที่ยังเหลือเป็นเอกลักษณ์อันแตกต่างคือ ผีดิบจีนยังกระโดด(แบบช้าๆ) แขนเหยียดตรงไปข้างหน้าในลักษณะขนานกับพื้น ขณะที่แวมไพร์มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนมนุษย์และเคลื่อนที่เหมือนหรือได้เหนือกว่ามนุษย์

รายละเอียดอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรก เจียงซือ ไม่ได้ต้องการกินเลือดแบบแวมไพร์ และไม่ได้กระหายสมองหรือร่างกายมนุษย์แบบซอมบี้ตะวันตก สิ่งที่มันต้องการคือ “พลังชีวิต”

ภายหลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์ซอมบี้ทั้งจากตะวันตกและญี่ปุ่น กระแสซอมบี้แบบตะวันตกเริ่มเข้ามาเบียดบังความนิยมผีดิบแบบจีนในแวดวงหนังฮ่องกงที่อาจดูแปลกประหลาดผสมโทนหนังแบบตลก/สยองขวัญปนเปกันไป แต่ยังมีบางเรื่องที่แหวกม่านออกมาให้เห็นบ้าง อาทิ Rigor Mortis เมื่อปี 2013 ซึ่งถือเป็นผลงานรำลึกหรือแสดงความเคารพยุคหนังผีดิบจีนก็ว่าได้ หรือเรื่อง The Chinese Zombie War (2013) เกี่ยวกับนักบวชเต๋าต่อสู้กับกองทัพเจียงซือในป่าก็ฮิตในฮ่องกงด้วย


อ้างอิง:

Valusek, Erin. “Jiangshi: The terrifying Chinese hopping vampires”. History 101. Online. Update 6 MAR 2020. Access 13 MAR 2020. <https://www.history101.com/jiangshi-chinese-hopping-vampires/>

WITTMEYER, ALICIA P.Q. “Whatever Happened to Asian Hopping Zombies?”. Foreign Policy. Online. Published 31 OCT 2013. Access 13 MAR 2020. <https://foreignpolicy.com/2013/10/31/whatever-happened-to-asian-hopping-zombies/>

Ireland, Tom. “The History of Chinese Zombies”. The World of Chinese. Online. Published 14 JULY 2011. Access 13 OCT 2020. <http://www.theworldofchinese.com/2011/07/night-of-the-hopping-mad/>

Mok, Laramie. “Halloween special: what are Chinese hopping zombies? Meet jiangshi, the undead horror film villains made famous in cult 80s Hong Kong movie Mr Vampire”. South China Morning Post. Published 29 OCT 2020. Access 3 FEB 2022. <https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3107548/halloween-special-what-are-chinese-hopping-zombies-meet>

https://en.wikipedia.org/wiki/Jiangshi

https://en.wikipedia.org/wiki/Ji_Yun


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2563