ผ่าชีวิตราชาเพลงแปลง “นคร มงคลายน” ผู้ร้องเพลงโฆษณา “ถ่านไฟฉายตรากบ-ยาทัมใจ”

นคร มงคลายน
(ขวา) นคร มงคลายน ในวัยใกล้ 70 ปี (ซ้าย) ปกเทปเพลงสไตล์ครูนคร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2537)

ในวงการลูกทุ่งใช่จะมีสุดยอดแต่เฉพาะราชาเพลงรําวง เบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) ราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงแหล่ พร ภิรมย์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ราชินีเพลงลูกทุ่ง ผ่องศรี วรนุช, พุ่มพวง ดวงจันทร์ หากยังมีราชาเพลงแปลงอีกด้วย เขาผู้นั้นก็คือ “นคร มงคลายน”

คนรุ่นหลังอาจไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้นามนี้ แต่คนรุ่นก่อนที่ชื่นชอบเพลงตลาดซึ่งต่อมากลายเป็นเพลงลูกทุ่งย่อมต้องได้ยินกิตติศัพท์ของชายผู้นี้ และหลายคนอาจเป็นแฟนเพลงชนิดที่เขาเล่นที่ไหนต้องตามไปดูที่นั่น

นคร มงคลายน แท้จริงแล้วมิได้มีความสามารถเฉพาะการร้องเท่านั้น การแต่งเพลง การเต้น การรำ นคร มงคลายน มีอยู่ในตัวอย่างครบเครื่อง พร้อมเสมอที่จะสร้างความหฤหรรษ์บันเทิงกับแฟน ๆ ผู้ชม

“ผมเกิดมาเพื่อร้องรําทําเพลง บางคนเขาก็ร้องอย่างเดียวเพราะรําไม่เป็น แต่ผมร้องได้ รําได้ แต่งเพลงก็ ได้ หรือเล่นดนตรีผมก็ทําได้ คนดูเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน ไม่ใช่พวกชอบชักดิ้นชักงอเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าชักดิ้นชักงอเขาก็ชักไม่ได้เท่าผม เพราะผมเป็นแชมป์ร็อคแอนด์โรลแห่งประเทศไทยเสียด้วย เกิดเป็นคนจับฉ่ายอะไรได้ทั้งนั้น เมื่อไม่มีตลก ผมก็ยืนเล่นตลกได้”

นคร มงคลายน เป็นศิลปินลูกทุ่งที่หากินมารุ่นราวคราวเดียวกับพยงค์ มุกดา อายุอานามก็ใกล้เคียงกัน ร่วม 70 เข้าไปแล้ว (อายุเมื่อปี 2537-กองบก.ออนไลน์) พูดถึงความสามารถเฉพาะตัวสมัยก่อนยากจะหาใครมาทัดเทียม หรือแม้แต่สมัยนี้จะหาศิลปินที่มีทุกอย่างอยู่ในตัวใช่จะหาได้ง่าย ๆ

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน ช่วงที่โรงหนังในกรุงเทพฯ นิยมนําวงดนตรีมาแสดงสลับฉากกับการฉายหนังเพื่อดึงคนดูให้เข้ามาชมกันมาก ๆ นคร มงคลายน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้

โรงหนังเฉลิมบุรีกับนคร มงคลายนเป็นของคู่กันเลยทีเดียว เช่นเดียวกับ พยงค์ มุกดา, สมยศ ทัศนพันธ์ ก็ผูกขาดแสดงอยู่ที่นี่เป็นประจํา

ทั้งสามคนนี้หากินด้วยกัน แม้จะต่างวงต่างคณะแต่มาเล่นบนเวทีเดียวกัน ห้วงเวลาเดียวกัน

นคร มงคลายน เล่าให้ฟังว่าพยงค์ สมยศและตน ตกลงกันว่า เวลาเจ้าของหนังมาเจอใครก่อน ก็ให้นักร้องคนนั้นรับงานแสดง เช่น เจอพยงค์ก็ให้พยงค์รับงาน เวลาประกาศก็บอกว่า เป็นคณะพยงค์ มุกดา นําโดย พยงค์ นคร สมยศ

ถ้าเผื่อเจ้าของหนังเจอสมยศก่อน สมยศก็รับงาน เป็นคณะสมยศ นําโดย สมยศ นคร พยงค์

ถ้าเจ้าของหนังมาเจอนคร นครก็รับงาน เป็นคณะนคร นําโดย นคร พยงค์ สมยศ

แสดงเสร็จก็จ่ายค่าตัวแบ่งกัน

“พวกเราผลัดกันเป็นหัวหน้า พอใครเป็นหัวหน้าคณะอีกสองคนมาเป็นลูกน้อง แล้วใช้นักร้องของคณะนั้น เช่น คณะของผมก็ใช้ลูกศิษย์ผม แล้วก็พยงค์ สมยศมารวม คณะสมยศเขาก็ใช้ลูกศิษย์เขา เช่น พีระ ตรีบุปผา ชาญชัย บัวบังศร แล้วมีผมกับพยงค์ไปร่วม ส่วนคณะพยงค์ก็มีลูกศิษย์ พยงค์ เช่น ผ่องศรี วรนุช สมศรี ม่วงศรเขียว ศรีสอางค์ ตรีเนตร นักร้องกองทัพเรือแล้วมีผมกับสมยศไปร่วม”

ผลัดกันเป็นหัวหน้าแล้วแต่เจ้าของหนังติดต่อใคร ก่อนนี่คือวิธีการหากินของสามเกลอเมื่อครั้งกระโน้น เพราะ ฉะนั้นเรื่องไม่มีงานแสดงจึงไม่มี

ขณะที่ใครต่อใครเขาร้องเพลงเอาความไพเราะของน้ำเสียงเป็นจุดเด่น แต่ นคร มงคลายน ฉีกแนวแปลกแตก ต่างออกไปเป็นเอกลักษณ์ฉพาะตัวเพื่อไม่ให้ซ้ำคนอื่น

“ตามโรงหนัง ผมจะร้องแต่เพลงตลก เพราะมันจะได้เปลี่ยนบรรยากาศ”

การร้องเพลงตลกของนคร มงคลายนก็คือ เมื่อนักร้องเพื่อนร่วมทีมร้องจบ นคร มงคลายน จะปรากฎแล้วร้อง เพลงแปลงทันที แต่งเนื้อขึ้นมาใหม่โดยยึดทํานองเดิมของเพลงนั้นไว้ เช่น ชาญ เย็นแข ร้องเพลงค่าน้ำนม

“ครวญคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้ จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่า แม่จ๋า ลูกซึ้งในค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน…”

เมื่อค่าน้ำนมต้นตํารับของจริงจบ ค่าน้ำนมแปลงของ นคร มงคลายน ก็กังวานขึ้น “ครวญคิดพินิจยิ่งเพลีย กระป๋องนมของเมีย บางทีก็มีกลิ่นฉุน” เรียกเสียงฮาลั่น โรงหนัง

นคร มงคลายนเล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้ สุเทพ วงศ์กําแหง ร้องเพลงนางใจ “เธอเป็นนางใจของใครมาก่อน คนทั่วทั้งนคร เขาก็รู้ทั่วไป…” พอสุเทพร้องจบ ตนเองก็แปลงทันที “เธอเคยเดินโชว์กับนิโกรมาก่อน คนทั่วทั้งอุดร เขาก็รู้ทั่วไป ฉันพบเธอทั่วเมืองเหนือและเมืองใต้ พม่า จีน ฝรั่ง ไทย เคยได้กับแม่ทุกคน” และร้องไปจนจบเพลง

หรือสุเทพร้องเพลงจงรัก “โปรดอย่าถาม ว่าฉันเป็น ใครเมื่อในอดีต” นคร มงคลายนก็จับมาแปลงเสียใหม่ เช่นร้องว่า “โปรดอย่าถาม ว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต ฉันบอกก็ได้ อดีตฉันเป็นแมงดา…”

ร้องอย่างนี้ใครไม่ฮาก็เส้นแข็งเต็มทนแล้ว

“ลักษณะของผมจะร้องแปลงทันทีเมื่อเจ้าตัวร้องจบ จะได้รู้ว่าเราแปลงมาจากเพลงไหน ไม่ใช่จบไปแล้ว เลิกไป แล้ว เราโผล่มาทีหลัง ออกมาเป็นแผ่นเสียงทีหลัง อย่างนี้ผมไม่ทํา ผมต้องต่อกันเดี๋ยวนั้นให้รู้ว่าแปลงจากนักร้อง พอสมยศร้องจบเพลงขวัญอ่อน เอ้า นครร้อง ขวัญอ่อน ดวงฤดีพี่แทบขาดรอน โธ่เอ๋ยขวัญอ่อน นี่สมยศร้อง ผมจะร้อง ..ดวงฤดีพี่แทบขาดกลาง โธ่เอ๋ยขาถ่าง กลางแล้วก็เลยเขว”

ไม่เพียงแต่เพลงไทยเท่านั้นที่ นคร มงคลายนแปลงเพลงของเขาเพื่อสร้างอรรถรสไปอีกแนวหนึ่ง แม้เพลงฝรั่งก็ แปลงมาเป็นเนื้อไทย “อย่างเพลง ยัวร์ ชีทติ้ง ฮาร์ท…จิงกา เบล ๆ ผมก็มาร้องเป็นโจงกระเบน ๆ”

ด้วยปฏิภาณที่ว่องไวมีความรู้ทางด้านกาพย์กลอน สามารถแปลงเพลงได้เดี๋ยวนั้น เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลง อย่างมาก ทําให้นคร มงคลายน ได้รับฉายาว่า “ราชาเพลงแปลง”

เมื่อเป็น “ราชาเพลงแปลง” นคร มงคลายนจึงถูกหมายตาจากบรรดาเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าหลายยี่ห้อมาติดต่อขอให้แต่งและร้องเพลงโฆษณาสินค้าในรูปของสปอตโฆษณา ออกทางวิทยุ พร้อมกับเสนอผลตอบแทนให้เป็นค่ามันสมอง และค่าเหนื่อย

คนรุ่นเก่าที่อายุเลย 40 ขึ้นไป ต้องเคยได้ยินสปอตโฆษณาแนะนําให้คนไปเรียนสอนขับรถยนต์ที่ส.สะพานมอญ เสียงร้องในวิทยุที่ได้ยินนั้นคือเสียงของนคร มงคลายน เขาล่ะ เนื้อเพลงก็มาจากฝีมือการประพันธ์ของนครเช่นกัน

“อยากจะขับรถต้องเรียนเสียก่อน ส.สะพานมอญ สอนให้ได้ผล หากท่านจะคิดเรื่องฟิตเครื่องยนต์ ขอเชิญทุกคนเรียนที่ ส.สะพานมอญ เชี่ยวชาญการขับรถ รู้กฎของการจราจร แก้ไขเครื่องได้แน่นอน สอนลัดรู้เร็วหนักหนา อยากเป็นช่างฟิตมีชีวิตก้าวหน้า ขอเชิญท่านมาเรียนที่ ส.สะพานมอญ อยากเรียนขับรถไปที่ ส.สะพานมอญ ปี๊น…ปี๊น  อยากเรียนเครื่องยนต์ไปที่ ส.สะพานมอญ ปี๊น…ปี๊น…บึ้นนนน…บึ้นนน…”

นคร มงคลายน ร้องเพลงโฆษณาให้ฟังพร้อมกับทําเสียงปี๊น…ปี๊น แล้วบอกว่า เมื่อครั้งอัดเสียงโฆษณาชิ้นนี้ต้อง นํารถมอเตอร์ไซค์เข้าไปในห้องอัดด้วย เพราะตอนท้ายของเพลงจะมีเสียงเร่งเครื่องยนต์ ความจริงต้องนํารถยนต์เข้าไปแต่เข้าห้องอัดไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นรถมอเตอร์ไซค์เนื่องจากคันเล็กกว่า

เพลงสปอตโฆษณาที่อัดยากที่สุดได้แก่ ถ่านไฟฉายตรากบ

ความยากอยู่ตรงเวลาที่จะต้องให้อยู่ใน 60 วินาทีพอดี

“ผมอัดทีแรกใช้เวลา 60 วินาที เกินไป 1 วินาที ทางสถานีเขาจํากัดว่า ต้อง 60 วิ ถ้าเกินไปเขาคิดเงินเหมือนกับโรงนวด ถ้าเกิน 1ชั่วโมง เขาคิดอีก 1 ชั่วโมง เขาเข้มงวดไม่ให้เกิน 60 วิ เจ้าของห้างถ่านไฟฉายตรากบก็ไม่ยอมขาดทุน 58 วิไม่ได้ เพราะขาดไป 2 วิ ต้อง 60 เป๊ะ สถานีเขาเข้มงวดกู กูก็เข้มงวดกับมึง ผมคนอัดก็เดือดร้อนสิ ต้องร้อง 60 วิ ผมร้องยังไงก็ไม่ได้ 60 วิเสียที ร้องกันอยู่หลายเที่ยว”

นคร มงคลายนเล่าว่า “การร้องอัดเสียงสมัยก่อนไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ดนตรีอัดก่อนแล้วมาใส่เสียงนักร้องทีหลัง นักร้องจะใส่หูฟังเสียงดนตรี ร้องไม่ดีร้องใหม่ สมัยก่อนนักร้อง นักดนตรีอัดพร้อมกัน นักร้องร้อง 3 – 4 ทีนักดนตรีก็เป่าจนคอแหบคอแห้ง ได้ 61 วิ บางทีมันเร็วเกินไปได้ 59 วิ เจ้าของห้างบอกไม่ได้ ต้อง 60 วิขาดทุนสถานีมัน ผมก็ร้องจน 60 วิพอดี เพลงนี้ใช้เวลาอัดมากที่สุด”

“ต้นตระกูลผมแต่ปางบรรพ์ หลังย่ำสายัณห์ดวงตะวันเลี่ยงหลบ จะเดินทางเยื้องย่างไปไหน จําเป็นต้องใช้จุดไต้จุดคบ ปัจจุบันเห็นจะไม่ดี ขึ้นจุดไต้ซี ถ้ามีใครพบ อาจจะอายขายหน้าอักโข เขาต้องฮาต้องโห่ว่าผมโง่บัดซบ ยุคนี้มันต้องทันสมัย เพื่อนผมทั่วไป ใช้ถ่านไฟตรากบ ทั้งวิทยุและกระบอกไฟฉาย คุณภาพมากมายสะดวกสบายครันครบ ถ่านก็มีหลายอย่างวางกอง เขากลับรับรองว่าต้องแพ้ตรากบ เหตุและผลเขาน่าฟังครับ ขอให้ลองสดับนะท่านที่เคารพ”

จากนั้นก็ตามด้วยเสียงพูดโฆษณาสรรพคุณถ่านไฟฉาย ยี่ห้อตรากบที่พูดด้วยความเร็ว เพราะมีเวลาแค่ 60 วินาที

ปรากฏว่าผลจากโฆษณาชิ้นนี้ทําให้ตรากบครองตลาดถ่านไฟฉายเมืองไทยในยุคนั้น สปอตโฆษณาที่ลือลั่นวงการอีกอันหนึ่งเห็นจะเป็น ยาทัมใจ ของบริษัท โอสถสภา (เต๊ก เฮงหยู)

“ทัมใจๆๆๆๆๆๆยาชั้นดี ปวดหัว ปวดฟัน ปวดนั่น ปวดนี้…”

ความจริงทีแรกไม่ใช่เนื้ออย่างนี้ หลังจาก นคร มงคลายนได้รับการติดต่อว่าจ้างจากนายห้าง สวัสดิ์ โอสถานุ เคราะห์ และจาก ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ลูกชายซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทให้แต่งเพลงโฆษณายาทัมใจก็แต่งขึ้นมาได้เพลงหนึ่ง นําไปให้นายห้างสวัสดิ์และลูกชายฟังที่บริษัท ปรากฏว่าเป็นที่พอใจจึงตกลงนัดหมายว่าอีกสองวันจะไปอัดเสียงที่บริษัทแผ่นเสียงศรีกรุง

“พอคืนวันนั้นผมก็ไปเที่ยว ดูดนตรีฟิลิปปินส์ เขา เล่นเพลงคูบาร์ เซโร่ คุมบาๆๆๆๆเชโร่ ผมก็มานั่งนึก เอ๊ะ ทัมใจๆๆๆๆๆๆมันเข้าท่าดีนี่หว่า ผมได้ไอเดียก็เลยกลับบ้าน คืนนั้นผมก็แต่งเพลงทัมใจจนเสร็จ พอไปห้องอัดเสียง ผมร้องเพลงนี้ให้คุณสุรัตน์ฟัง คุณสุรัตน์ถามว่า นี่ไม่ใช่เพลงนั้นเหรอ ผมบอกไม่ใช่ แล้วเพลงนี้ดีกว่าไหมล่ะ โอ้ย..ดีกว่าเยอะเลย เพลงที่แต่งไว้เป็นอาทิตย์สู้เพลงที่แต่งคิดคืนนั้นไม่ได้ มันเป็นยังงี้”

เมื่อสปอตโฆษณายาทัมใจถูกนําไปเปิดทางสถานีวิทยุ ทางผู้จัดนึกสนุกอยากเล่นกับผู้ฟังเพื่อส่งเสริมการขายจึงจัดให้ผู้ฟังทายว่า เพลงทัมใจมีคําว่า “ทัมใจ” ทั้งหมดกี่คํา ใครตอบถูกจะมีรางวัลสมนาคุณให้

“คนก็เลยฟังกันใหญ่ ส่งชิ้นส่วนยาทัมใจไปตอบปัญหา มีคนนั่งนับจนได้ว่า มีคํา “ทัมใจ” อยู่ 23คํา นาทีเดียวพูดยาทัมใจ 23 หน คนตอบถูกเป็นพะเนิน ตั้งรางวัลไว้ 1 หมื่น ไม่รู้เขาแบ่งคนละกี่บาท เจ้าของบริษัทพอใจมาก ใน 1 นาที่พูดชื่อสินค้าได้ถึง 23 หน”

นอกจากนคร มงคลายนจะเก่งในการแต่งและร้อง เพลงสปอตโฆษณาสินค้าแล้ว ยังเยี่ยมยอดในเรื่องแต่งเพลง เป็นที่ระลึกให้กับจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย

เพลงบางปะกงที่ยังฮิตติดหูแฟนเพลงและสร้างความหลงใหลให้กับชาวบางปะกงมาจนทุกวันนี้ ก็มาจากฝีมือการประพันธ์ของราชาเพลงแปลงท่านนี้ ใช้เวลาแต่งแค่คืนเดียว

สาเหตุที่นคร มงคลายนแต่งเพลงบางปะกงเนื่องมาจากเมื่อคราวไปเปิดทําการแสดงในโรงหนังแห่งหนึ่งของอําเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา วันแรกมีคนมาชมกันแน่นเพราะคนคอยมาหลายวัน แต่พอวันต่อ ๆ มาคนชักน้อยลง ๆ

“ผมไปเล่นที่ฉะเชิงเทรา คิดว่าพรุ่งนี้อยากให้คนมาดูกันแน่น ผมก็เลยประกาศว่า รู้สึกดีใจที่ชาวบางปะกง ชาว แปดริ้วมาให้เกียรติผม มาต้อนรับผม เพราะฉะนั้น ผมจะตอบแทนบุญคุณพี่น้องด้วยการแต่งเพลงให้ชาวบางปะกงเป็นที่ระลึกหนึ่งเพลง พรุ่งนี้ขอให้พี่น้องมาฟังดูว่าจะชื่นชอบไหม”

เลิกการแสดง กลับถึงโรงแรมก็นั่งแต่งเพลงกลางดึก คืนนั้นทีนที

“สมัยนั้นฉะเชิงเทราใช้ไฟตรง ไฟดีซี ไม่เหมือนไฟสลับ ไฟตรงมันมืด ในห้องที่โรงแรมแขวนหลอดไฟฟ้ารูป ร่างเหมือนกับไข่ไก่ไว้ลูกนึง สมัยนั้นผมหนุ่ม ตายังดี เขียนริมแม่น้ำ โรงแรมนั้นยังอยู่ ผมแต่งริมฝั่งบางปะกงจริงๆ พอคืนรุ่งขึ้นคนมากันแน่นเลย อยากฟังเพลงที่ผมแต่งเพื่อชาวแปดริ้ว เมื่อผมออกไปร้อง บรรดาผู้ชมต่างปรบมือด้วยความ ชอบใจ”

ในช่วงที่ ร.ต.กิตติ ประทุมแก้ว เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มาติดต่อขออนุญาตนําเพลงบางปะกง ไปเป็นเพลงประจําจังหวัด ซึ่งนคร มงคลายน ไม่เพียงแต่ไม่ขัดข้อง หากยังรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูง พร้อมกันนั้นได้จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณที่โรงแรมบางปะกงโดย พล.อ.อ.ประหยัด ดิษยะศริน เป็นผู้มอบ

เมื่อกโลบายดึงคนดูด้วยวิธีแต่งเพลงเป็นศักดิ์ศรีแห่งจังหวัดฉะเชิงเทราได้ผล นคร มงคลายน ก็เลยนําไปใช้ที่ อื่น ๆ

“ผมไปเล่นที่นครนายก ผมก็บอกว่า พรุ่งนี้ผมจะแต่งเพลงให้ชาวนครนายก 1 เพลง คืนนั้นผมแต่งเพลงน้ำตก สาลิกา พอรุ่งขึ้นก็ร้องเพลงตามที่สัญญา ต่อมาผมไปแสดงที่จังหวัดสงขลา ผมเอา 3 วันเลย วันแรกคนมาแน่นตึง ผมประกาศ พรุ่งนี้ผมจะแต่งเพลงเป็นที่ระลึกสําหรับพี่น้องชาวสงขลา ก็แต่งเพลงคืนหนึ่งเดือนหงาย ริมหาดทรายชายทะเลสงขลา สุเทพ วงศ์กําแหง ร้อง คืนที่สามต้องจบแล้ว หาอะไรหลอกดีล่ะ ผมประกาศจะแต่งเพลงแหลมสนให้ชาวสงขลาอีกเพลงนึง แหลมสนเมื่อคราจวนค่ำ…วันที่สามแน่นอีก เจ้าของโรงหนังถาม นคร พรุ่งนี้แต่งเพลงอะไรอีก เขาพูดเล่น เพราะความจริงวันที่สี่เป็นหนังเรื่องใหญ่เข้า”

นคร มงคลายน เผยว่า “วิธีการนี้ได้ผลจึงใช้เรื่อยไป เล่นที่ภูเก็ตก็มีเพลงหาดสุรินทร์ ฟังเสียงคลื่นและลมครวญ คร ริมฝั่งชายน้ำหาดสุรินทร์ หัวหินไม่สิ้นทรายธานินทร์ อินทรเทพ ขับร้อง”

ชีวิตศิลปินของนคร มงคลายน ให้ความสุขความบันเทิงกับผู้ชมมานับไม่ถ้วน หนึ่งในจํานวนนั้นมี พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

“ผมร้องเพลงที่โรงหนังเฉลิมบุรี แฟนประจําที่ไปดูทุกโปรแกรมจนผมจําหน้าได้คือ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ท่านดูผมตั้งแต่ท่านเป็นร้อยโท ท่านเป็นนายพัน ผมก็ยังเป็นนายนคร ท่านเป็น พล.ต.อ.ประเสริฐ ผมก็ยังนายนครอยู่เหมือนเดิม”

ทุกวันนี้ นคร มงคลายน มีชีวิตอยู่ตามอัตภาพ แม้วัยจะใกล้เลข 7 เข้าไปทุกที่แล้ว แต่สุขภาพยังแข็งแรง ความ ทรงจําครั้งอดีตยังไม่ลืมเลือน ที่สําคัญเป็นผู้มีอารมณ์แจ่ม ใส ร่าเริง ไม่ทิ้งนิสัยตลกโปกฮาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ใครได้สนทนาด้วยรับรองต้องครื้นเครงทุกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ราชาเพลงแปลง นคร มงคลายน เล่าเรื่องขําขํา-เฮฮา ครั้งอัดเสียงโฆษณาวิทยุ”  เขียนโดย เลิศชาย คชยุทธ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2563