เปิดจิตวิญญาณโขนศิลปินวังหน้า “ถ้าตั้งใจ ไม่มีอะไรยาก” ผู้บริหารบริษัทใหญ่ยังแสดงได้

คุณอิสระ ขาวละเอียด

“โขน” ในภาพจำของคนจำนวนไม่น้อยอาจอยู่ในสถานะนาฏกรรมอันล้ำค่าที่เป็นการแสดงชั้นสูง แต่เส้นทางตลอดหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า “โขน” มีพัฒนาการและเริ่มจัดแสดงให้ผู้ชมเข้าถึงง่ายขึ้น หรือแม้แต่ฝั่งผู้แสดงเอง ทุกวันนี้ใครก็ตามที่มีความตั้งใจ และพยายามฝึกซ้อมมากเพียงพอย่อมสามารถร่วมแสดงได้ โดยกลุ่ม “ศิลปินวังหน้า” พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

“ศิลปินวังหน้า” ที่เอ่ยถึงเกิดจากการรวมตัวของผู้ศึกษาโขน ละคร ดุริยางค์และคีตศิลปไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของวังหน้า ประกอบด้วยกลุ่มผู้ศึกษาและทำงานเกี่ยวกับนาฏศิลป์ หรือเคยทำงานที่วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ไปจนถึงบุคคลภายนอก บุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะแขนงนี้ ทำกิจกรรมเผยแพร่ ส่งเสริมและอนุรักษ์การแสดงโขน ละครให้แพร่หลายทั้งในกลุ่มชาวไทยและต่างชาติ ที่สำคัญคือ เผยแพร่แบบไม่เก็บค่าเข้าชม โดยกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน

สำหรับการแสดงนาฏศิลป์กับวลี “ขอแค่ตั้งใจ ไม่มีอะไรยาก” ดูเหมือนเป็นประโยคสร้างแรงบันดาลใจเก๋ไก๋ ในข้อเท็จจริงแล้ว มีบทพิสูจน์ที่กลุ่มศิลปินวังหน้าทำให้เห็นได้จริง ดังเช่นคำกล่าวของคุณสุรเชษฐ์ เฟื่องฟู ผู้บุกเบิกกลุ่มศิลปินวังหน้าที่ยืนยันว่า “นาฏศิลป์ไม่ใช่ของยาก อยู่ที่ผู้ฝึกมีความตั้งใจจริงหรือเปล่า ถ้าตั้งใจจริง ทำได้…”

ข้อพิสูจน์ปรากฏชัดเจนจากการแสดงนาฏกรรมล้ำค่าอย่างโขนที่กลุ่มศิลปินวังหน้าร่วมแสดงมาอย่างต่อเนื่อง และจะมีแสดงโขนกลางแปลงที่สวยงามอีกครั้งภายในงาน International Balloon Fiesta 2020 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย (เรื่อง รามเกียรติ์) ตอน “ศึกพรหมาสตร์” แสดง 2 วัน วันละรอบ ในวันที่ 14 และ 15 กุมภาพันธ์นี้

คุณอิสระ ขาวละเอียด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จะแสดงเป็น “อินทรชิต” ตัวละครสำคัญในฝ่ายยักษ์

อินทรชิต ตัวละครสำคัญในฝ่ายยักษ์ที่จะแสดงในงานนี้ได้คุณอิสระ ขาวละเอียด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มาร่วมแสดง ในวงการรู้จักคุณอิสระ ในบทบาท “Brewmaster” (นักทำเบียร์) ฝีมือระดับนานาชาติ และยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปฝึกหัดและร่วมแสดงนาฏศิลป์รูปแบบต่างๆ ซึ่งคุณอิสระ หลงใหลตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน

คุณอิสระ จบการศึกษาด้านชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความที่มหาวิทยาลัยมีชมรมมากมาย การสัมผัสบรรยากาศชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยนานวันเข้าทำให้เริ่มอยากลองฝึกบ้าง นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการศึกษานาฏศิลป์และดนตรีไทยตั้งแต่ช่วงราวพ.ศ. 2515

ช่วงเข้าชมรมระยะแรก บทบาทที่รับกลับเป็นดูแลสวัสดิการ หาเสบียง แบกเครื่องต่างๆ เรียกได้ว่า ผ่านเส้นทางเหมือนคนทั่วไป กระทั่งวันหนึ่งฝ่ายแสดงนาฏศิลป์ขาดคน คุณอิสระ จึงอาสาเข้าทดแทน ครูอาจารย์-รุ่นพี่เห็นว่าพอมีแววเลยให้มาซ้อมต่อท่า เริ่มจากรำประกอบ และขยับมาเล่นละคร ได้เล่นทั้งราชาธิราช สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา และอีกหลายเรื่อง

หลังจากเรียนจบและเข้าทำงาน คุณอิสระ ศึกษาต่อด้าน Brewing Science (การหมักเครื่องดื่มจำพวกเหล้า/เบียร์) ที่ประเทศเยอรมนี ทำให้ไม่มีโอกาสซ้อมและแสดงระยะหนึ่ง กระทั่งกลับมาทำงานในไทยจึงเริ่มกลับมาเรียนซอสามสายที่วิทยาลัยนาฏศิลป ในพ.ศ. 2529

“ตอนที่อยู่ต่างประเทศมีโอกาสได้ดูละคร ดนตรี โอเปร่า คิดว่าทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ดนตรีไทยที่มีอยู่แล้วให้เจริญก้าวหน้าเหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น ถ้าไม่มีใครเริ่มต้นก็จะไม่ได้รับการต่อยอดให้แพร่หลาย ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ซอสามสายมีคนเรียนคนฝึกน้อย เกรงว่าสักวันหนึ่งอาจสูญหายไปเลยตัดสินใจเริ่มเรียนอีก” คุณอิสระ เล่าที่มาของการกลับมาจับเครื่องดนตรีอีกครั้ง

ช่วงที่เรียนซอสามสายไม่ได้รับเพียงแค่ความรู้เรื่องของเพลงและการบรรเลงสามสาย แต่มีโอกาสได้รู้จักบุคลากรที่ทำงานในวิทยาลัยนาฏศิลป และที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากรซึ่งมีบริเวณอยู่ติดกัน เมื่อได้พบปะสังสรรค์กันจึงนำมาสู่โอกาสรวมตัวกันจัดการแสดงประเภทโขนละครอีกครั้งเพื่ออนุรักษ์ส่งเสริมและสนับสนุนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้เจริญก้าวหน้า

งานแสดงที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือดังกล่าวปรากฏขึ้นหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นละครนอก ละครอิงประวัติศาสตร์ มาสู่การแสดงโขนในงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติซึ่งจัดที่สิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย เดิมทีนั้น แนวคิดการจัดแสดงโขนที่สิงห์ปาร์คเริ่มจากคุณอิสระ ขาวละเอียด มีโอกาสไปงาน Farm Festival on The Hill ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย แล้วเห็นว่ามีผู้ร่วมงานเข้ามาชมกิจกรรมจำนวนมาก บรรยากาศดีและสวยงาม พื้นที่เหมาะสมมากสำหรับการแสดงโขนกลางแปลง จึงเป็นจุดเริ่มต้นงานแสดงโขนกลางแปลง ณ สิงห์ปาร์ค ที่จังหวัดเชียงรายในปี 2018 ครั้งนั้นได้เสียงตอบรับอย่างดีจนจัดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ในปีนี้การแสดงโขนจะจัดขึ้นในงาน International Balloon Fiesta 2020 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ (กิจกรรมเกี่ยวกับโขนในงานนี้มีขึ้นวันที่ 13-15 ก.พ.)

โขนที่จัดแสดงในงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติเป็นแบบโขนกลางแปลง จัดในสนามที่ไม่มีฉาก บรรยากาศการแสดงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ใช้แสงและสีเสริมประกอบการแสดงบ้าง การแสดงลักษณะนี้ปรากฏขึ้นไม่มากนัก นอกเหนือจากในงาน “โขนกลางแจ้ง” เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 2 ซึ่งมักจัดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจัดต่อเนื่องหลายปี

โขน ตอน “ศึกพรหมาสตร์” ในงาน International Balloon Fiesta 2020 เป็นการทำศึกระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ โดยที่ครั้งนี้อินทรชิต ลูกของทศกัณฐ์ (แสดงโดยคุณอิสระ) ไปออกรบกับพระลักษณ์หลังจากทำพิธีชุบศรพรหมาสตร์เพื่อใช้ทำร้ายศัตรู ขณะที่ฝ่ายพระรามต้องแก้ไขสถานการณ์หลังจากตามมาที่สนามรบและพบเห็นพระลักษณ์หมดสติไป ผู้ชมจะได้เห็นการแสดงที่สวยงาม เนื้อเรื่องมีสีสันตามที่นิยมแสดงตอนยกทัพรบกันระหว่างฝ่ายพระราม (ฝ่ายพลับพลา)กับฝ่ายทศกัณฐ์ (ฝ่ายลงกา) ที่พิเศษคือ ครั้งนี้จะมีการบรรเพลงเพลงหน้าพาทย์(ที่ถือกันว่าเป็นเพลงครู)เข้ามาปรากฏในช่วงทำพิธีชุบศรด้วย

จุดเด่นประการสำคัญในโขน ตอน “ศึกพรหมาสตร์” คือ “ธรรมะ” กับ “อธรรม” สองฝ่ายที่ต่อสู้กันเสมอมา ฝ่ายอธรรมคิดกลวิธีทางต่างๆ อาทิ อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและให้บริวารแปลงกายเป็นเทวดานางฟ้ามาร่ายรำเพื่อให้อีกฝ่ายหลงกล จนพระลักษณ์และไพร่พลต้องศรจนสลบไป และพระรามตามมาแก้ให้ฟื้นในภายหลัง อีกประการคือศิลปะการใช้ภาษาในบทโขนมีความไพเราะสละสลวย มีสุนทรีย์รสยิ่ง และไม่ค่อยพบในปัจจุบัน ประกอบกับเพลงที่ก็มีความไพเราะ, คุ้นหู, ฟังง่าย และคัดสรรมาอย่างดี ผู้แสดงเล่าว่า เป็นเพลงที่ไพเราะมาก

“ผมว่าทุกอย่าง เริ่มต้นที่เราต้องตั้งใจก่อน และไม่ควรคิดถึงคำว่ายาก ถ้าเริ่มแล้วบอกว่ายาก มันก็ไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มที่ว่าใจรัก มีความตั้งใจ และลองดู ลองครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง มันก็ต้องต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกีฬา เล่นกีฬาก็ต้องฝึกซ้อมบ่อยๆ ถ้าไม่ฝึกซ้อมก็เล่นไม่ได้”

คำอธิบายข้างต้นน่าจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของคำถามสำหรับผู้ที่สงสัยว่า บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรระดับนี้จะมีต้องฝึกซ้อมอย่างไร คุณอิสระ ขาวละเอียด เล่าเบื้องหลังให้ทีมงาน “ศิลปวัฒนธรรม” ว่า  ในครั้งแรกที่เล่นโขนที่สิงห์ปาร์ค ได้แสดงฤาษีทศกัณฐ์หรือฤาษีแดง การฝึกซ้อมก็ซ้อมสัปดาห์ละ 3 วัน ใช้เวลาฝึกซ้อมหลังเลิกงาน ด้วยพื้นฐานบวกกับความตั้งใจก็สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้

หากย้อนกลับไปที่กระบวนการเตรียมการแสดงโขนลักษณะนี้ คงต้องเล่าว่า เริ่มจากครูนาฏศิลป์ประชุมหารือ เลือกตัวแสดง และจัดการฝึกซ้อม ซึ่ง “ศิลปินวังหน้า” แทบทุกคนมีพื้นฐานการแสดงนาฏศิลป์อยู่แล้ว เมื่อทราบรายละเอียดของเรื่องและบทแล้วก็แยกย้ายกันฝึก ก่อนที่จะแสดงจริงสักพักก็จะมารวมตัวกันกำหนดรายละเอียดนัดแนะการแสดงร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง การซ้อมใหญ่ในสถานที่จริงก็เป็นโอกาสที่ได้มาซักซ้อมร่วมกันด้วย

“ศิลปินวังหน้าส่วนใหญ่เรียนพื้นฐานมาตั้งแต่เป็นนักเรียน บางคนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี ปริญญาโท กลับมาแล้วก็มาทำงานด้านนี้ อาจสอนที่โรงเรียนของรัฐ เอกชน สถานสอนนาฏศิลป์โขนละคร หรืออาจสอนที่สถาบันของกรมศิลปากรเอง ทุกคนมีพื้นฐานแน่นแบบเดียวกัน”  คุณอิสระ เล่าเบื้องหลังการฝึกซ้อม

เมื่อได้แสดงโขนจริง คุณอิสระ เผยความรู้สึกครั้งนั้นโดยยอมรับว่า ตื่นเต้นบ้าง แต่ก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่มีส่วนในการนำเสนอศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์สู่สายตาผู้ชม แม้ว่าประสบการณ์บนเวทีที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนจะโชกโชน แต่คุณอิสระ ยอมรับว่า การแสดงหลายครั้งก็ยังรู้สึกตื่นเต้นปนดีใจ อย่างเช่นการแสดงครั้งก่อนเมื่อปี 2019 ซึ่งการแสดงทั้งสองรอบมีผู้ชมมากมายหลายพันคน ทำให้รู้สึกตื้นตัน ตื่นเต้น ระคนกับดีใจมาก

บรรยากาศการแสดงโขนกลางแปลงครั้งแรกที่สิงห์ปาร์ค คุณอิสระ เล่าความทรงจำย้อนหลังไปว่า นอกจากผู้ชมจำนวนมากแล้ว สังเกตเข้าไปแบบลงรายละเอียดมากขึ้นจะเห็นได้ว่ามีผู้ปกครองพาบุตรหลานไปดูเยอะ เด็กตัวเล็ก ๆ ก็ออกมาเต้นตีลังกาตามที่ตัวละครฝ่ายลิงออกท่าทาง คุณอิสระ มองว่า “เราคิดว่าเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง เพื่อให้เด็กๆ หันมาสนใจมาฝึก มาเรียนศาสตร์ด้านนี้”

“คำว่าศิลปะชั้นสูง (ที่คนมอง) ก็เป็นจริงส่วนหนึ่ง โขนมีระเบียบแบบแผนของเขาอยู่ เวลามาศึกษาเรียนรู้ มาแสดงก็ต้องพยายามรักษาระเบียบแบบแผนที่ครูอาจารย์สมัยก่อนท่านวางรากฐานไว้ แต่สิ่งที่คิดว่าน่าสนใจมาก เด็กๆ จะให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ต้องชื่นชมว่าครูอาจารย์สมัยก่อนท่านมีแนวคิด มีความสามารถในการประดิษฐ์ท่าต่างๆ ออกมาแล้วเป็นพื้นฐาน

ในสมัยปัจจุบัน ทั้งวัยรุ่น และไม่ใช่วัยรุ่น จะไปออกกำลังกายกันเยอะ โดยเฉพาะฟิตเนส ฟิตเนสเจริญรุ่งเรืองมาก ถ้าเราได้ฝึกฟิตเนสจริงๆ ฟิตเนสนี่พื้นฐานเดียวกับโขนเลย ตั้งแต่พื้นฐานที่เป็นแม่บทเลย”

คุณอิสระ ขาวละเอียด กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องแนวคิดการส่งเสริมนาฏศิลป์ไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยมองว่า มรดกในประเทศไทยมีของดีมีเอกลักษณ์มานาน แต่คนมักคิดว่าเป็นของโบราณ เชยก็เลยไม่ค่อยมีคนเข้าไปสนใจมาก แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อเห็นว่าศิลปะการแสดง “โขนของไทย” ได้รับพิจารณายอมรับจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นบัญชีในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ จึงน่าจะกลับมาพิจารณาว่า ของเราเองมีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว จะส่งเสริมสนับสนุน รักษาไว้ได้อย่างไร

การรับชมการแสดงโขนในงานต่างๆ ย่อมเป็นโอกาสดีที่จะได้ชื่นชมศิลปะ ยังจะได้รับสิ่งที่เป็นมรดกอันล้ำค่า ได้รับความรู้ถึงที่มาที่ไปว่ามีความเป็นมาอย่างไร และแน่นอนว่า การชมโขนกลางแปลงในบรรยากาศกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติที่เชียงรายยิ่งเป็นโอกาสที่ไม่ได้พบเห็นได้ง่ายนัก

คุณสุรเชษฐ์ เฟื่องฟู

ในการแสดงโขนแต่ละงาน สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือคนทำงานเบื้องหลัง การแสดงโขนในงาน International Balloon Fiesta 2020 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้ผู้กำกับโขนมากประสบการณ์อย่างคุณสุรเชษฐ์ เฟื่องฟู ซึ่งมีเส้นทางจากข้าราชการของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละครของกรมศิลปากร เข้ามาช่วยกำกับดูแลการแสดง

ประมาณ พ.ศ. 2536 คุณสุรเชษฐ์ ตั้งกลุ่มนักแสดงในชื่อ “กลุ่มศิลปินวังหน้า” รวบรวมบุคลากรจากรุ่นพี่รุ่นน้องที่ศึกษาสถาบันเดียวกันคือโรงเรียนนาฏศิลป ซึ่งต่อมายกวิทยะฐานะเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์ บริเวณวังหน้ามาทำการแสดงโดยไม่แสวงหารายได้ ทำต่อเนื่องมาถึงพ.ศ. 2557 และมีโอกาสได้พบกับคุณอิสระ ขาวละเอียด ที่รู้จักกันมานานจึงได้แจ้งเกริ่นไว้ว่า สนใจจัดละครอิงประวัติศาสตร์ให้ประชาชนชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

คุณสุรเชษฐ์ เล่าที่มาเมื่อครั้งอดีตว่า “ผมฟังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อนานมาแล้ว จำได้เลยว่า เด็กไทยขาดประวัติศาสตร์ไป ผมเลยทำละครอิงประวัติศาสตร์ขึ้นมา ทางบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เห็นด้วย จึงทำเรื่อยมา ทำเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช คุณอิสระเห็นว่าสิงห์ปาร์ค ที่เชียงราย สภาพพื้นที่สวยมาก ติดต่อเรื่องแสดงโขนที่นี่และพูดคุยรายละเอียดกัน ทำ 1 ชั่วโมง ก็มาคุยกัน ตอนนั้นผมคิดประเมินเองว่า เชียงรายไกลมาก อาจมีบางคนไม่มีโอกาสชมโขน พอมาเล่นจริงก็มีคนมาบอกว่า ‘เพิ่งเคยเห็นแบบชัดๆ’ ก็คิดว่าดีใจที่คนตอบรับเยอะมาก คนดูชอบ”

เมื่อได้เสียงตอบรับอย่างดีในปีแรก ปีต่อมา 2019 จึงเลือกจัดแสดงตอน “อินทรชิตแผลงศรนาคบาศ” ขณะที่ปีนี้แสดงตอน “อินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ หรือ ศึกพรหมาสตร์” เนื่องจากเห็นว่ายักษ์อินทรชิตมีความเก่งกาจ อีกทั้งอินทรชิตไม่เหมือนยักษ์ทั่วไป อินทรชิตมีความสวยงาม สง่างามแบบพ่อ และอ่อนช้อยแบบแม่ตามสายเลือด มีทั้งท่าทางแข็งแรง สวยงาม และดุดันปนอยู่ในนั้น

คุณสุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนให้คุณอิสระ สำหรับบทบาทการแสดงโขนยอมรับว่า คุณอิสระ มีพื้นฐานจากชมรมนาฏศิลป์ฯ และยังเคยเล่นเป็นตัวเงาะ มีพื้นฐานพอสมควรอยู่แล้ว จึงใช้เวลาฝึกเพิ่มเติมจนทำกิริยาแข็งแรงก็แข็งแรง อ่อนหวานนิ่มนวลก็รำได้

“นาฏศิลป์ไม่ใช่ของยาก อยู่ที่ผู้ฝึกจะมีความตั้งใจจริงในการฝึกหรือเปล่า ถ้าตั้งใจจริง ได้ครับ (เน้นเสียง) ที่ผมทำแบบนี้ ผมเปิดให้คนที่สนใจ ถ้าอยากเล่น คุณทำได้นะ เพราะผู้แสดงเป็นนักแสดงกิตติมศักดิ์ เป็นผู้บริหารผู้ใหญ่ยังรำได้ นับประสาอะไรกับหนุ่มสาวไม่เคยรำมาก่อน อย่าพูด รำได้ มีอย่างเดียวคือใจ ตั้งใจไหม ตั้งใจต้องทำได้ ผมเชื่อ”

ข้อมูลกระบวนการฝึกซ้อมที่น่าสนใจอีกอย่างซึ่งคุณสุรเชษฐ์ เล่าเบื้องหลังให้ทีมงานฟังคือ ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีมีอุปกรณ์บันทึกภาพทันสมัย ลูกศิษย์ที่เรียกประชุม เมื่อมารับท่าไป เด็กไม่ต้องรำท่า เด็กบันทึกภาพที่ครูทำท่าให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะพวกเขามีพื้นฐานมาแล้ว มีแค่ท่าทางที่ครูเป็นผู้ปรับ ถ้ายาก ครูก็จะลงไปปรับให้อีกครั้ง

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องกระบวนการแล้ว สิ่งที่คุณสุรเชษฐ์ ปรับแต่งอีกประการคือ การแสดงให้ผู้ชมเข้าถึงง่าย สืบเนื่องมาจากภาพจำที่คนทั่วไปมองโขนละครไทยว่า ถ้าจะไปดูคงต้องเปิดตำราเสริมก่อนเพื่อให้ดูรู้เรื่อง แต่คนสมัยใหม่ชอบอะไรที่รวดเร็วฉับไว การแสดงโขนจึงต้องปรับให้กระชับแต่ต้องไม่ทิ้งจารีตและประเพณีโขนที่เคยเป็นมา

“โขนจะมีคำพากย์คำเจรจาซึ่งเป็นแม่ของการแสดงโขน ตามตำราโขนกลางแปลงสมัยก่อน ตามตำรา เล่นที่กลางสนาม จะมีแต่บทพากย์บทเจรจา จะไม่มีบทร้อง มาสมัยหลายสิบปีมานี้ กรมศิลปากรได้ปรับปรุง ใส่บทร้องเข้าไป การแสดงที่สิงห์ปาร์คก็เช่นกัน เป็นโขนกลางแปลงก็จริงแต่มีปรับ และมีบทร้อง เราจัดตอนให้กระชับรัดกุม ให้คนดูได้เข้าใจง่ายๆ คำพากย์เจรจาก็ไม่ต้องใช้ศัพท์สูงมาก คือ พูด ‘ชั้นจะไป-เธอจะมา’ ให้ง่ายขึ้น คนจะเข้าใจ ซึ่งผมคิดว่า คนจะเข้าใจมากขึ้น…”

อีกหนึ่งประเด็นที่คุณสุรเชษฐ์ กล่าวถึงในแง่การฝึกหัดและจัดแสดงโขนตามมุมมองส่วนตัวนั้น สิ่งที่ต้องการประการหนึ่งคืออยากให้คนดูเข้าใจลึกซึ้งข้างในเข้าไป กระชับ และไม่ทิ้งจารีต การรำสวยงาม ซึ่งการตั้งใจฟังบทร้องก็ไม่ยากมาก โขนที่ทำอยู่ จะปูพื้นฐานเรื่องความเป็นมาก่อนเข้าแสดงในแต่ละตอนโดยใช้เทคโนโลยีแสงและเสียงมาเล่าเรื่อง ใช้ภาพประกอบบนจอเล่าเรื่องความเป็นมา ใช้ถ้อยคำเพียง 4 บรรทัดพร้อมภาพประกอบ อีกทั้งยังมีการบรรยายแจ้งเกริ่นเรื่องราวให้ผู้ชมทราบความเป็นมาด้วย

“โขนไทยเราไปแสดงทุกที่ คนดูให้ความนิยมเพราะสวยงาม เครื่องแบบสวยอลังการ ถามว่ากระแสเป็นอย่างไร โขนก็มีกลุ่มคนที่ดู นิสิตนักศึกษาก็สนใจมาดู มาถาม บางคนก็สนใจอยากเรียน เราก็ยินดีตลอด ต่อไปคนจะเข้าใจดียิ่งขึ้น หลายหน่วยงานให้การสนับสนุน ลงมาเล่นกันเลย คนดูก็ชื่นชม แต่ตัวของผมจะใช้เทคโนโลยีที่ดึงดูด ให้คนดูติดตาได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล บริษัท หรือเอกชน ถ้าให้ความสนับสนุนและลงมาเอง เป็นสิ่งที่ดี เด็กเห็นจะกระตือรือร้น เห็นแล้ว โอโห เป็นผู้บริหาร เป็นข้าราชการระดับนี้เล่นเองเลยเหรอ ผมว่าเขาจะตื่นตัว คนพวกนั้นอาจเป็นไอดอลของใครก็ได้ บางทีเราอาจอยากเป็นเหมือนที่พวกท่านเป็น ก็เป็นไปได้ ผมว่าดี อยากให้มีมากกว่านี้ด้วยซ้ำ” คุณสุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการแสดงโขนโดยกลุ่มศิลปินวังหน้าครั้งล่าสุด ดังที่กล่าวแล้วว่าจะแสดงในตอน “ศึกพรหมาสตร์” โดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงาน International Balloon Fiesta 2020 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย จะมีพิธีซ้อมใหญ่วันที่ 13 ก.พ. เวลา 18.00-19.00 น. จากนั้นจะแสดงโขนกลางแปลง 2 วัน วันละรอบ แสดงวันที่ 14 และ 15 ก.พ. ในเวลาเดียวกับการซ้อมใหญ่ สามารถคลิกดูข้อมูลและรายละเอียดอื่นๆ จากเฟซบุ๊กเพจ “Singha Park Chiang Rai สิงห์ปาร์ค เชียงราย”