“กรงตาแมว” เครื่องดักจับ “หนู” ภูมิปัญญาชาวบ้าน-ชาวทุ่งล่าเนื้อสดทําอาหาร

กรงตาแมวเป็นเครื่องมือดักหนู ใช้กระดานหกเป็นกลไกหลักในการทํางาน จับได้หนูมีชีวิตโดยจับได้ครั้งละหลายตัวในเวลาอันรวดเร็ว และคัดเลือกหนูขนาดที่ต้องการ กรงตาแมวเป็นเครื่องมือที่แสดงชั้นเชิงงานช่างพื้นบ้านอย่างโดดเด่น

นอกจากเรียกกรงตาแมว ยังเรียกกล่องตาแมวหรือกรอกตาแมว ซึ่งตั้งชื่อจากคุณลักษณะของเครื่องมือที่เป็น “กรง” หรือ “กล่อง” ใช้ดักหนู และมีทางเข้าเป็นช่องกลมคล้ายตา มีแผ่นไม้กลมขยับคล้ายดวงตากลอกกลิ้งไปมา กล่องไม้ ช่องกลม และแผ่นไม้กลมเปรียบได้กับตัวแมวและนัยน์ตาแมว ซึ่งแมวจับหนูกินเป็นอาหาร

กรงตาแมวเป็นกล่องไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ด้านบนทําฝาไม้ปิด โดยทํารางเลื่อนดึงเข้าดึงออกได้ กล่องไม้มีฝากั้นแบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องด้านหน้า (กลไกดักหนู) และห้องด้านใน (ห้องกักหนู)

ห้องด้านหน้าเป็นทางเข้า มีขนาดเล็กกว่าห้องด้านในที่ใช้กักหนู ที่ห้องด้านหน้าซึ่งเป็น กลไกดักหนูนี้ เจาะช่องปากทางเข้าเป็นช่องกลม ๆ 2 ช่อง ภายในห้องด้านหน้านี้กั้นห้องแบ่งครึ่งอีกเพื่อกักหนูที่เดินผ่านช่องกลมเข้ามา ไม้แผ่นหน้าที่เจาะช่องวงกลมต้องทํา 2 ชิ้น ตีคู่กันมีช่องว่างระหว่างกัน ใช้เป็นที่วางไม้วงกลมซึ่งทําหน้าที่เหมือนฝาประตู ไม้วงกลมทํางานสัมพันธ์กับกระดานหกเพราะเชื่อมโยงอยู่กับกระดานหก โดยจะกลิ้งไปอยู่กับด้านที่ต่ำ

ส่วนห้องด้านในเป็นที่ใส่เหยื่อ “ล่อ” หนู และกักขังหนู ข้างฝาห้องส่วนนี้เจาะเหมือนช่องหน้าต่าง ใช้เหล็กเส้นเล็ก ๆ กันทําเป็นซี่กรง เมื่อใส่เหยื่อทําให้หนูเห็นเหยื่อได้กลิ่นเหยื่อชัดเจน และช่องหน้าต่างนี้ยังเป็นช่องระบายลมเมื่อมีหนูเข้าไปติดเครื่องมือด้วย

ระหว่างห้องด้านหน้าและห้องด้านในมีฝากั้น โดยฝากั้นนี้เจาะช่องเป็นประตูเล็ก ๆ ประตูทําเป็นซี่กรง วางประกบกับฝากั้นของห้องด้านใน เมื่อหนูผ่านประตูซี่กรงเข้าไปห้องด้านในแล้วจะดันประตูออกมาไม่ได้ เพราะซี่กรงใหญ่กว่าช่องประตู พูดง่าย ๆ ก็คือประตูซี่กรงทําหน้าที่คล้าย “งา” ที่พบในเครื่องมือจับสัตว์จํานวนมาก โดยที่สัตว์จะผ่านเข้าไปแล้วกลับออกมาไม่ได้

โดยธรรมชาติหนูจะเดินเลาะผนัง ถ้าเป็นหนูบ้านจะเดินเลาะตามฝาบ้าน ถ้าเป็นหนูนาจะเดินเลาะตามคันนา หนูจะเดินตามทางซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นแนวเป็นทางเฉพาะของหนู สำหรับทางตามทุ่งนาเรียกว่า “ทางเตียน” หนูมักจะเดินเลาะซ้ายเลาะขวาตามทางเตียนไปเรื่อย ๆ คล้าย ๆ เดินสลับฟันปลา เมื่อชาวบ้านตั้งใจดักหนูนาจึงนําเครื่องมือดักวางข้างทาง ไม่นิยมวางปลายทาง เมื่อหนูเลาะเล็มอาหารตามข้างทางจะเข้าไปในเครื่องมือในที่สุด

เครื่องมือดักหนูมีหลากหลายชนิด สําหรับกรงตาแมวนอกจากกําจัดหนูบ้านแล้ว ชาวบ้านบางคนยังใช้ดักหนูนาด้วย เพราะเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ทุบทําลายหนูเหมือนเครื่องมือดักหนูอีกหลายชนิด กรงตาแมวจึงดักได้หนูเป็น ได้เนื้อสดทําอาหาร

กรงตาแมว

การใช้กรงตาแมวให้ได้ผลดี นอกจากวางข้างทางเตียนซึ่งเป็นแหล่งที่มีหนูชุกชุมแล้ว ยังควรใช้ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่ว เศษอาหาร โรยไว้หน้าปากทางเข้าและในห้องด้านใน เมื่อหนูเดินผ่านช่องวงกลมเข้าไปเหยียบไม้กระดานหก กระดานฝั่งนั้นจะต่ำลง ทําให้แผ่นไม้กลมกลิ้งลงมาเป็นประตูปิดบังหนูไว้ หนูจะเดินวนไปวนมา มักใช้หัวดันตามผนังห้อง และจะเดินไปที่ประตูซี่กรงที่ “อ่อยเหยื่อ” ไว้ โดยจะดันประตูเข้าไปได้แต่ไม่อาจดันกลับออกมาได้

หนูมักส่งเสียงร้อง มีผลให้หนูตัวอื่นตามเข้ามาเรื่อย ๆ โดยจะเข้าช่องวงกลมที่เปิดไว้ หนูจึงเข้าตามช่องวงกลมที่ทํางานสลับกัน จนได้หนูสัก 4 หรือ 5 ตัวเต็มห้องกักจึงเลิกดัก เพราะได้เนื้อพอเพียงสําหรับแกงหม้อหนึ่ง

กรงตาแมวจับหนูมีชีวิตได้ครั้งละหลายตัว ในขณะที่เครื่องมืออื่นมักดักได้ครั้งละตัว หากใช้งานในบ้านเรือนสามารถทําช่องวงกลมทางเข้าค่อนข้างใหญ่เพื่อดักหนูตัวใหญ่ได้ แต่หากใช้ตามท้องทุ่งเพื่อดักกินโดยตรง มักทําช่องวงกลมขนาดไม่ใหญ่นัก เพื่อไม่ให้หนูตัวใหญ่ซึ่งเป็นหนูแก่ผ่านเข้าไปได้ ชาวบ้านเลือกที่จะไม่กินหนูแก่ บ้างว่าหนังก็เหนียว เนื้อที่เหนียวเกินกว่าจะแกงกิน บ้างก็ว่า “แก่เกินแกง” ซึ่งคงรวม ถึงสัตว์อื่นที่เกินวัยที่จะนํามากิน หรืออาจรวมถึงพืชผลที่แก่คาต้นด้วย เช่น “แก่มะพร้าว เฒ่ามะละกอ” ก็ไม่นิยมกิน

ที่น่าสนใจคือห้องส่วนหน้าจะมีขนาดสั้นกว่าหางหนู กล่าวคือหางหนูมักยื่นยาวออกมานอกช่องประตูวงกลม เมื่อน้ำหนักตัวของหนูกดแผ่นกระดานหกต่ำลง ไม้วงกลมจึงกลิ้งลงมากระแทกหางหนู หนูจึงกระโจนผ่านประตู กรงเหล็กเข้าไปในห้องกักโดยทันที

กรงตาแมวเป็นตัวอย่างเครื่องมือที่สะท้อนความตั้งใจ ความคาดหวังในสัมฤทธิผลของช่างชาวบ้าน ใช้ทั้งประสบการณ์ชาวทุ่ง และทักษะเชิงช่างตอบสนองความต้องการอย่างถึงที่สุด


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2563