เผยแพร่ |
---|
ชงโลง หรือ โพง เป็นเครื่องวิดน้ำ โดยการโพงน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จึงมักเรียกว่า “โพง” เครื่องวิดน้ำ พื้นบ้านชนิดนี้มีใช้ทุกภาคของประเทศ รูปแบบอาจแตกต่างกันไปบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่รูปแบบหลักๆ และลักษณะการใช้งานจะเหมือนกันแทบทั้งสิ้น
ชงโลง มีสองชนิดคือ ชนิดที่สานด้วยไม้ไผ่ และชนิดที่ทำด้วยไม้จริงชงโลงทั่วไปจะมีรูปร่างคล้ายช้อน หากเป็นชงโลงไม้ไผ่มักจะสานทึบทั้งหมด เพื่อไม่ให้น้ำรั่ว ชงโลงจะมีด้ามไม้ไผ่ผูกติดอยู่กลางปากชงโลง ด้ามชงโลกจะมีทั้งยาวและสั้น หากเป็นด้ามสั้นจะใช้วิดน้ำโดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่ด้ามชงโลงค่อนไปข้างหน้า มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามโพงที่ยื่นพ้นออกไปจากตัวชงโลงค่อนไปข้างหน้า มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามโพงที่ยื่นพ้นออกไปจากตัวชงโลงเล็กน้อยวิดน้ำโดยการแกว่งชงโลงจ้วงตักน้ำแล้วสาดไปข้างหน้า
การวิดน้ำลักษณะนี้ต้องใช้แรงมากและโพงหรือวิดน้ำออกไปได้ไม่ไกล เหมาะสำหรับวิดน้ำออกจากแหล่งน้ำเล็กๆ ส่วนโพงชนิดด้ามยาว จะมีด้ามทำด้วยไม้ไผ่ยื่นออกไปจากก้นชงโลงประมาณสองศอก เพื่อใช้เป็นที่จับ ชงโลงด้ามยาวจะใช้รดน้ำผักผลไม้โดยการโพงน้ำจากร่องสวนขึ้นมารดผักหรือผลไม้ที่อยู่บนร่องสวนหรือใช้โพงน้ำออกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น โพงน้ำเข้านา หรือโพงน้ำน้ำออกจากนาซึ่งปริมาณน้ำมากนัก หากมีน้ำเกินกำลังคนมักใช้ระหัดวิดน้ำแทนการใช้ชงโลง
ชงโลง สำหรับวิดน้ำมักทำด้วยไม้จริง โดยใช้ไม้เนื้อที่มีเนื้อเหนียวแต่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้กุ่ม ไม้งิ้ว รูปร่างของชงโลงชนิดนี้คล้ายกับชงโลงไม้ไผ่ แต่มักทำด้ามยาวเพื่อให้โพงน้ำได้สะดวก ชงโลงสำหรับวิดน้ำจะมีน้ำหนักมากกว่าชงโลงไม้ไผ่ จึงไม่เหมาะที่จะใช้วิดน้ำด้วยมืออย่างชงโลงด้ามสั้นหรือชงโลงไม้ไผ่ ชาวบ้านจึงแขวนชงโลงเข้ากับสามขา ซึ่งใช้ลำไม้ไผ่สามอันปักลงดิน ทแยงกันสามจุด คล้ายขากล้องถ่ายรูป แล้วรวบปลายมัดเข้าด้วยกัน ใช้เชือกแขวนชงโลงให้ห้อยลงมาพอที่จะโพงน้ำสาดไปข้างหน้าได้สะดวก
การปักขาสามขาอาจปักคร่อมระหว่างแหล่งน้ำกับพื้นที่ซึ่งต้องการจะวิดน้ำเข้า อาจจะคร่อมระหว่างหัวคันนากับหัวคันนาหรือคร่อมระหว่างแหล่งน้ำกับร่องสวน การวิดน้ำโดยใช้ชงโลงนี้ มักวิดน้ำจากที่หนึ่งซึ่งมีระดับไม่ต่างกันนัก หรืออาจจะวิดน้ำจากแหล่งน้ำให้ไหลไปตามร่องที่ขุดไว้เพื่อให้น้ำไหลไปยังที่ซึ่งมีระดับต่ำกว่า
ช่วงนี้บ้านใครน้ำท่วม “ชงโลง” อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยวิดน้ำก็เป็นได้…
คัดข้อมูลจาก : “ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานหัตถกรรม”. โดย วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙