ปูนปั้น ภูมิปัญญาของช่างไทย

ลวดลายปูนปั้นแบบพื้นบ้านล้านนาที่วิหารวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2542)

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ชื่นชมศิลปกรรมไทยมัก ให้ความสนใจความงามมากกว่าสิ่งอื่น ทั้งที่งานศิลปกรรมไทยหลายประเภท มีกรรมวิธีการสร้างสรรค์ที่แยบยล เช่น งานประติมากรรมปูนปั้นที่มีอยู่มากมายตามพุทธสถานต่างๆ โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นที่ตกแต่งพุทธสถาปัตย์ ประเภทเจดีย์ ปรางค์ โบสถ์ และวิหาร ลวดลายปูนปั้นของไทยในยุคสมัยต่างๆ นั้น นอกจากคุณค่าทางสุนทรียภาพแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของช่างอย่างน่าสนใจยิ่ง

สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของช่างไทยในศิลปะปูนปั้น คือ ความชาญฉลาดในการใช้วัตถุดิบที่หยั่งรู้คุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบได้อย่างดี แล้วนำมาใช้อย่างเหมาะสม

“ปูนขาว” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปูนปั้นนั้น สันนิษฐานว่า มีผู้ผลิตใช้ในงานก่อสร้างในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สร้างด้วยหินและอิฐนั้นมีปูนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา สิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนามักใช้ “ปูนปั้น” ประดับตกแต่งอย่างแพร่หลายและใช้กันต่อมาจนปัจจุบัน

การทำปูนปั้นนั้นใช้ “ปูนขาว” (lime Cao) ซึ่งทำจากหินปูน (limestone CaCo2) เป็นวัตถุดิบหลัก ผสมกับส่วนประกอบอื่นอีกสองสามชนิดเพื่อให้ได้ปูนที่มีคุณสมบัติตามต้องการ

ปูนขาว เป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติพิเศษและมีวงจรการแปรรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เกิดการแปรสภาพกลับไปกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่การนำหินปูนมาเผาให้ร้อนจนปราศจากน้ำ มีน้ำหนักเบาและร่วน เมื่อใช้น้ำพรมจะร่วงเป็นผง จากนั้นนำไปร่อนให้ได้ผงปูนที่ละเอียดพร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์

ช่างไทยใช้ประโยชน์จากการแปรสภาพของปูนขาวมาทำปูนปั้น ด้วยกรรมวิธีง่ายๆ โดยเติมน้ำเข้าไปในเนื้อปูน เพื่อให้จับกันเป็นก้อนนิ่มๆ คล้ายดินเหนียว โดยผสมวัตถุดิบบางชนิดเข้าไป แล้วโขลกหรือตำให้ปูนเหนียวเหมาะกับการปั้นเป็นประติมากรรมต่างๆ จากนั้นจึงปล่อยให้น้ำละเหยออกไปจนแห้ง ปูนขาวจะกลายเป็นหินปูนที่แข็งและคงทนเช่นเดียวกับหินปูนธรรมชาติ

ช่างไทยเรียนรู้คุณสมบัติพิเศษของปูนขาวได้อย่างไร คงมิใช่จากการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการสังเกตและทดลองสืบต่อกันเรื่อยมา

การนำปูนขาวมาทำเป็น “ปูนตำ” เพื่อใช้สร้างงานประติมากรรมต่างๆ เช่น ปั้นเป็นลวดลายตกแต่งผนัง ตกแต่งหน้าบันโบสถ์ วิหาร ตกแต่งฐาน ปรางค์ และเจดีย์ ของช่างไทยมีกรรมวิธีและมีส่วนผสมที่คล้ายคลึงกันแทบทุกสกุลช่าง

การผสมปูนตำใช้วัตถุดิบหลัก 4 อย่าง คือ ปูนขาว ทราย กาว และ เส้นใย (fiber) วัตถุดิบเหล่านี้มีคุณสมบัติต่างกันดังนี้

ปูนขาว เป็นวัตถุดิบหลักในการทำปูนตำที่ช่วยยึดอณูของวัตถุดิบอื่นๆ เข้าด้วยกัน และแปรสภาพจากของแข็งให้นิ่มด้วยน้ำ

ทราย ช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งและคงทน

เส้นใย ช่วยให้เกิดการยึดระหว่างอณูของวัตถุดิบต่างๆ เส้นใยที่นำมาใช้จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ เส้นใยจากปอ สา ฝ้าย กก เส้นไหม และขนสัตว์ เป็นต้น

กาว ใช้เป็นตัวประสานวัตถุดิบต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่างปั้นจะใช้กาวหรือของเหลวที่มีความเหนียวแตกต่างกันไป เช่น กาว หนังสัตว์ น้ำมันยาง น้ำมันสน น้ำมันทั่งอิ้ว น้ำตาล น้ำอ้อย ฯลฯ บางท้องถิ่นอาจจะใส่ข้าวเหนียวเปียกและกล้วยเข้าไปด้วย

การผสมวัตถุดิบเหล่านี้เข้าด้วยกันโดยทั่วไปมักใช้การตำ จึงเรียก “ปูนตำ” หรืออาจเรียกอย่างอื่นอีก เช่น ปูนโขลก ปูนทิ่ม หรืออาจจะผสมด้วยกรรมวิธีอื่นที่ช่วยให้วัตถุดิบผสมกันได้ดี สมัยโบราณจะใช้การโขลกหรือการตำทั้งสิ้น

การทำปูนตำแบบโบราณมีขั้นตอนดังนี้

1. เตรียมปูนหรือหมักปูน นำปูนขาวที่ร่อนเอาสิ่งปนเปื้อนออกแล้วหมักไว้ในตุ่มหรือภาชนะอื่นประมาณ 10-15 วัน รินน้ำปูนใสออก แล้วผึ่งปูนทิ้งไว้ให้แห้งหรือหมาด

2. เตรียมทรายละเอียด โดยล้างน้ำให้สะอาด แห้งแล้วใช้ตะแกรงร่อน เอาสิ่งปนเปื้อนออก

3. เตรียมเส้นใยที่ต้องการใช้เป็นส่วนผสม โดยฉีกหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ย่อยสลายเป็นอณูเล็กๆ ได้ง่าย

4. เตรียมกาว น้ำมัน และวัตถุดิบที่จะใช้เป็นตัวยึดให้พร้อม

เมื่อเตรียมวัตถุดิบต่างๆ พร้อมแล้ว นำมาผสมกัน โดยให้ปูนขาวมีปริมาณมากที่สุด ทราย เส้นใย และกาว ลดหลั่นกันลงไป เช่น ปูนขาว 5 ส่วน ทราย 2 ส่วน เส้นใย 1 ส่วน และกาว 2 ส่วน คลุกเคล้าวัตถุดิบเหล่านี้ให้เข้ากัน แล้วนำไปโขลกหรือตำในครก (ปัจจุบันใช้เครื่องผสม) จนกว่าวัตถุดิบจะเป็นเนื้อเดียวกันและเหนียวพอที่จะนำไปปั้นเป็นงานศิลปกรรมต่างๆ

สัดส่วนของส่วนผสมต่างๆ อาจต่างกันตามความนิยมของแต่ละสกุลช่าง โดยเฉพาะสกุลช่างเพชรบุรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำปูนปั้นมาแต่โบราณนั้น มีกรรมวิธีและสัดส่วนการผสมวัตถุดิบที่แตกต่างไปจากสกุลช่างอื่นบ้าง เช่น ใช้กระดาษสาแช่น้ำเป็นเส้นใย ใช้น้ำตาลโตนดหรือน้ำอ้อยในตัวเชื่อม สัดส่วนของวัตถุดิบจะขึ้นอยู่กับช่างหรือกลุ่มช่างซึ่งมีเคล็ดลับเฉพาะของตน ส่วนกรรมวิธีผสมวัตถุดิบที่ใช้การโขลกเช่นเดียวกับการทำปูนตำทั่วไป แต่อาจจะใช้เวลาหมักปูนสัดส่วนของส่วนผสม และขั้นตอนการผสมวัตถุดิบ เฉพาะของช่างชาวเพชรบุรี

ช่างชาวเพชรบุรีได้รับการยกย่องว่า มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการทำประติมากรรมปูนปั้น ประเภทลวดลายมาแต่โบราณ ดังปรากฏลวดลายปูนปั้นตามหน้าบันโบสถ์ วิหารต่างๆ ในเมืองเพชรบุรีที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน แสดงว่าช่างชาวเพชรบุรีมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานปูนปั้นเป็นเลิศ และมีกรรม วิธีในการทำปูนตำสำหรับทำปูนปั้นให้มีความคงทนเป็นพิเศษ

ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าการทำปูนตำเพื่อใช้ปั้นลวดลายและประติมากรรมของช่างไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของคนไทยที่น่าศึกษายิ่ง

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 20 กรกฎาคม 2565