ศิลปะงานช่างคนกุลาอีสาน…ทำไมถึงเป็นไทใหญ่…!?

พ่อ ๆ…เจอแล้ว…เรื่องเกี่ยวกับคำว่า กุลา ที่พ่อให้แม่หาข้อมูลให้น่ะเป็นข้อมูลของ จิตร ภูมิศักดิ์ เขาเขียนอธิบายไว้ในหนังสือข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม อธิบายว่า กุลา เป็นภาษาปากตลาด ที่คนพม่าใช้เรียก คนอินเดีย ซึ่งมีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยาม แต่คนอินเดียเขาก็ไม่ยอมรับว่าเป็นชื่อแทนตัวตนเขา เพียงแต่เขาบอกว่ามันเป็นชื่อรัฐหนึ่งในประเทศเขาเท่านั้นเอง

ก็คงเหมือนกับที่ไทยและลาวชอบเรียกคนเขมรว่าขอมนั่นแหละ ซึ่งเขาก็ไม่ยอมรับเช่นกัน เพราะเขาเรียกตัวเองว่า “เขมร” กลายเป็นเราเองต่างหากที่ถูกคนอื่น ๆ เรียกว่าขอม (กะหลอม)…เออ ๆ ตลกดีเหมือนกันนะพ่อ แต่เอ้…ไป ๆ มา ๆ กลับกลายเป็นชื่อเรียกที่คนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว และไทย ใช้เรียกแทนคนพม่าเสียเอง เขามีตัวอย่างด้วยนะพ่อ…เช่น ในลาว เรียกว่า กุหล่า หมายถึง คนที่มาจากพม่าเหนือ ส่วนในเขมรใช้คำว่า กุฬา ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่อยู่ในพม่า

ส่วนไทยเราโดยเฉพาะในภาคกลาง สมัยอยุธยา ใช้เรียกชื่อการละเล่นในวังว่า กุลาตีไม้ และก็มีบทกลอนที่เรียก คุลาซ่อนลูก ส่วนในพจนานุกรมบอกว่า หมายถึง ชนชาติต้องสู้หรือไทใหญ่ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า นอกจากนี้นะพ่อ เขายังบอกด้วยว่ากุลาเป็นเสียงที่กร่อนมาจากชื่อรัฐเบงกอลของอินเดีย หรือบังกลา และกลายมาเป็นบังกลาเทศในปัจจุบัน

แต่ถ้าเป็นเอกสารโบราณเขาจะใช้คำว่า “กุลา” เรียกแขกฝรั่งผิวขาวว่า กุลาขาว และแขกที่มีผิวสีดำว่า กุลาดำ…แต่เอ้…พ่อเคยได้ยิน พ่อใหญ่เบิ้ม บ้านธาตุ แกว่าคำว่า กุลา มีมานานแล้วก่อนพวกพ่อค้าเร่ที่เราว่าเขาเป็นไทใหญ่จะเข้ามาซะอีก ว่ากันว่าเป็นร้อยเป็นพันปีโน้น และแกยังบอกอีกว่ากุลาในความหมายเดิมของคนอีสานเป็นคำในเชิงยกย่องพวกพ่อค้าเร่ที่มาจากที่อื่นที่มีโภคทรัพย์ร่ำรวยจากการค้าขายและด้วยความรู้ทางโลกและทางธรรม และที่สำคัญเขาว่ามีคาถาอาคมที่เก่งกล้าด้วย จึงทำให้สามารถเดินรอนแรมทางไกลถึงไหนต่อไหนโดยไม่กลัวภยันอันตราย

โดยเฉพาะเรื่องความอึดในการเดินทางไกลด้วยการเดินเท้าเป็นหลักทำให้เกิดเป็นที่มาของนิทานเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้…น่ะแม่ ภายในร้านลาบเป็ดริมทาง ครูสิมและพ่อใหญ่เบิ้ม บ้านธาตุ ปราชญ์ชาวบ้านผู้เป็นกัลยาณมิตร มิตรต่างวัยที่คุ้นเคย กำลังสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเก่า ๆ กันอย่างออกรสชาติที่แซ่บพอ ๆ กันกับอู๋ปลาและลาบแปง ที่วางอยู่บนโต๊ะ…เออๆ…เอ็งจะเรียกว่า…ต้องสู้…ต่องซู่…หรือไม่สู้…ก็ช่างเอ็งเหอะ แต่ข้าว่า ไทใหญ่ ว่ะ…เสียงพ่อใหญ่เบิ้ม บ้านธาตุ กำลังถกเถียงเอาจริงเอาจังกับครูสิม ในประเด็นเรื่องที่ไปที่มาของคนกุลาอีสาน ซึ่งกลายเป็นเสมือนกับแกล้มของอาหารมื้อเที่ยงในวันหยุดวันนี้…

ทำไมพ่อใหญ่เบิ้มจึงมั่นใจนักล่ะว่า คนกุลาในอีสานเราเป็นพวกไทใหญ่ล่ะ มีเหตุผลอะไรรึ…ครูสิมถามหาคำตอบข้อข้องใจ…อ้าว.ว. จะหลักฐานอะไรอีกล่ะ…พ่อใหญ่เบิ้มตอบ…ก็ข้าเนี้ยคุ้นเคยกับคนที่บ้านนั้นมานานแล้ว เขาเคยเป็นช่างทำทองที่บ้านนั้นมาก่อน ไม่งั้นข้าไม่กล้าเถียงเอาชนะกับเอ็งหรอก…เขาว่าคนกุลาในเมืองอุบลฯ เรานี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเลยนะ ก็ที่บ้านโนนใหญ่ แถว ๆ เขื่องใน เรานั้นแหละ…เอ็งเคยไปดูมาหรือยัง และเขายังบอกข้าว่าเขาเป็นกุลาไทใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากวัดวาอาฮามที่เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ มีการแสดงรำมองเซิง และการบวชลูกแก้ว หรือก็คือบวชสามเณรนั่นแหละ

และในสมัยหนุ่ม ๆ ข้าเคยติดตามคนกุลาไปทำเหมืองพลอยไพลิน ที่จันทบุรีอยู่พักใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นก็มีแต่คนกุลาซึ่งเป็นพวกไทใหญ่ทั้งนั้นล่ะ เอ็งจะเชื่อหรือไม่เชื่อตามใจเอ็งเถอะ…แต่ข้าทันเห็นวัดนั้นอยู่ ซึ่งไม่เหมือนกับวัดแบบอีสานเรา ตอนหลังเขาว่าพังและรื้อสร้างใหม่แล้ว และถ้าอยากรู้ประวัติอย่างระเอียดต้องไปคุยกับ ปู่ใบ อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งสว่าง ซึ่งเป็นวัดแรกและวัดเดียวของคนกุลาเขาที่นั้น ณ บ้านโนนใหญ่…เสียงปู่ใบกำลังอธิบายให้ความกระจ่างกับครูสิมและพ่อใหญ่เบิ้ม…กุลาเข้ามาอยู่ที่บ้านนี้ประมาณปี พ.ศ. 2395 แรกๆ ก็มาค้าขายจากการเป็นพ่อค้าเร่ซึ่งคนท้องถิ่นแถวอีสานเรียกเราว่ากุลา จนมาได้ลูกได้เมียเป็นคนบ้านนี้ นิยมใช้นามสกุลว่าต่องสู้ และขยายครัวเรือนขึ้นเรื่อย ๆ และได้สร้างวัดแบบศิลปะกุลาไทใหญ่ประมาณปี 2395 เห็นจะได้

ช่างก็มีทั้งพระและชาวกุลาเองไปเอาไม้จากดงทางปากเซ ลูกแก้ว หอ เสาช่อฟ้าบนหอสูงต่าง ๆ ที่เป็นมุกติดประดับเอามาจากโคราช ส่วนพระพุทธรูปก็นำกันมาจากพม่านิยมเป็นพระหินอ่อน เดี๋ยวนี้ถูกลักขโมยเหลืออยู่องค์เดียวแล้วและก็นิมนต์พระสงฆ์จากพม่ามาจำพรรษา สมัยโน้นน่ะช่วงงานบุญจะมีการละเล่น ฟันดาบ รำมวย ร่ายรำด้วยกลองมองเซิง กลองก้นยาว โดยเฉพาะการบวชสามเณรหรือบวชลูกแก้วการแต่งตัว ส่างลองจะมีเอกลัษณ์แบบประเพณีของไทใหญ่ ปู่ใบบ่นต่อ…เดี๋ยวนี้ก็ถูกกลืนเป็นไทยลาวอีสานหมดแล้ววัดก็ผุพังไปตามอายุขัย…ที่เห็นอยู่เป็นของใหม่ไม่เหลือเค้าโครงเดิมหรอก…ครูสิมแย้งปู่ใบเมื่อกี้ผมเข้ามายังเห็นลูกหลายคนกุลา เขียนท้ายรถกระบะว่า กุลาน้ำสาม แสดงว่าเค้ายังมีสำนึกความเป็นกุลาอยู่นะสิ

ปู่ใบ…เออก็อาจจะมีบ้างละแต่น้อยเพราะไม่มีการสืบต่อประเพณีเดิม ๆ เอาไว้ปู่ใบกล่าว…ก็ยังนี้ละ พ่อใหญ่เบิ้มเสริมจะไปหวังอะไรมากกับระบบการศึกษา ก็ระบบการศึกษาเรามันมีแต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติซึ่งไอ้พวกนี้มันดูถูกท้องถิ่นมันต้องการให้เราลืมกำพืด ก็ไม่ต้องไปด่าเด็กมักหรอก ก็ไอ้พวกผู้ใหญ่ที่หมาเลียตูดไม่ถึง…ทั้งนั้นล่ะ ไอ้พวกมือถือสากปากถือศีลที่เป็นต้นคิดว่ามั้ย…!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2562