พุทธศิลป์อีสาน กับนัยของอุดมการณ์ สังคมการเมือง และรัฐชาติ

ลวดลายแบบนูนสูงบริเวณสีหน้าหรือหน้าบันและรูปด้านข้าง ที่มีการตกแต่งใช้รูปพานรัฐธรรมนูญเป็นส่วนประกอบสำคัญของ สิมสกุลช่างญวน วัดโพธิ์ชัยนางัว ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนมซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2487

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนผ่าน ว่าด้วยการจัดระเบียบความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างปรุงปรับโลกทรรศน์ ทัศนคติ ให้แก่ผู้คนในสังคมภายใต้อุดมการณ์แนวคิดทางการเมือง ซึ่งมีนิยามความเชื่อที่แตกต่างกันทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยมต่างพยายามเข้ามาพลัดเปลี่ยนช่วงชิงอำนาจในการสถาปนานิยามสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายที่ตนเองเชื่อชอบและศรัทธา ให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งแห่งอำนาจและผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายยอมรับกันได้ ทั้งหมดก็เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้อุดมการณ์กรอบแนวคิดต่างๆ

โดยเฉพาะแนวคิดในเรื่องความเสมอภาค ซึ่งถูกผลิตสร้างใช้เป็นเครื่องมือหรือสัญญะแห่งวาทกรรมที่ทรงพลัง ของกลุ่มชุมชนทางสังคมที่มีรสนิยมความเชื่อเดียวกัน ซึ่งมีพัฒนาการ ที่น่าสนใจโดยหลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ 2475 รวมถึงเหตุการณ์สืบเนื่อง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติ ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในจำนวนการปฏิวัติ ที่มีไม่มากครั้งนักของประวัติศาสตร์สยาม รวมทั้งของประวัติศาสตร์ประเทศไทยในระยะถัดมา

เนื่องด้วยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อลักษณะของรัฐ การจัดการปกครอง ระบบราชการ และความคิดทางการเมืองซึ่งเชิดชูกฎหมายและชาติขึ้นเหนือตัวบุคคล (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2553 : 427) มีการใช้ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎรได้สถาปนาอุปลักษณ์สำคัญที่ถูกผลิตสร้างเป็นสื่อสัญลักษณ์นั้นก็คือ รูปพานรัฐธรรมนูญเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์แนวคิดแห่งอุดมการณ์การเมืองแบบใหม่ ซึ่งมีการผลิตสร้างจัดทำแบบพานรัฐธรรมนูญจำลองมีการจัดส่งไปติดตั้งตามหน่วยงานราชการสำคัญในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เป็นตัวแทนภาพแห่งการแปลงการปกครองใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลาง–

ธรรมาสน์เตี้ยหรือตั่งปั่นปาติโมกข์แบบมีพนักพิงด้านหลัง ที่มีการเขียนรูป พานเทินรัฐธรรมนูญ ณ  สิม วัดอุตมผลาราม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีสร้างในปี พ.ศ. 2482

สิ่งที่ถือเป็นผลผลิตสำคัญหนึ่งของยุคคณะราษฎร คือการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยมีการจัดงานครั้งแรก ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่10 ธันวาคม 2475 โดยมีการจัดงานกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยเฉพาะในส่วนกลางมีกิจกรรมที่สำคัญคือการประกวดนางสาวสยามที่เริ่มจัดตั้งแต่ปี 2477 และมีการแก้ไขชื่อเรียกตามนโยบายรัฐนิยม ในปี 2482 มาเป็นการประกวดนางสาวไทย และอีกกิจกรรมที่สำคัญคือการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ

สีหน้า สิมสกุลช่างญวนวัดนาคำใหญ่ เมืองอุบลราชธานี กับการสื่อความหมายผ่านรูปลวดลายปูนปั้นนูนต่ำเขียนสีเป็นรูปช้างสามเศียรเทินพานรัฐธรรมนูญ สร้างเมื่อปีพ.ศ.2503

ทั้งนี้แม้เป้าประสงค์สำคัญในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญจะมีสาระสำคัญคือ ความสำคัญของระบอบการปกครองใหม่ที่เน้นย้ำคุณค่าความสำคัญของการใช้ระบอบรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ของหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้สถาปนาขึ้น โดยเป็นกิจกรรมที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งในแง่วัฒนธรรมความบันเทิงเช่นการประกวดนางสาวสยามหรือนางสาวไทยและเรียนรู้รสนิยมทางศิลปะใหม่ๆ ผ่านการเสพงานศิลปกรรม ในพื้นที่สาธารณ์ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองผ่านตัวรัฐธรรมนูญ ผ่านกิจกรรมการประกวดเรียงความ เป็นต้น บทความนี้จะยกกรณีศึกษาในบริบทพื้นที่อีสาน โดยแยกประเด็นการวิเคราะห์โดยสังเขป ตามรูปสัญญะที่แสดงออกในสิ่งปลูกสร้างในพุทธศาสนาเป็นหลัก

พานรัฐธรรมนูญ ถูกผลิตสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญญะแห่งความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตรซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทยทั้งกระแสหลักและกระแสรอง รัฐนิยมดังกล่าวทำให้มีการรณรงค์ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย อย่างกว้างขวางจึงมีการผลิตสร้างตราสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญให้ไปอยู่ตามผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ฉลากกินแบ่งรัฐบาล เข็มกลัด ชุดแก้วกาแฟ ชุดจานชาม แสตมป์ เข็มกลัด ขวดเครื่องดื่มฯลฯ ตลอดจนถึงสิ่งที่เรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตรที่สร้างในปี พ.ศ.2482 (ซึ่งอนุสาวรีย์ลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย)

และโดยเฉพาะการทำให้อุปลักษณ์แห่งความเป็นประชาธิปไตยนี้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องให้ความเคารพบูชากราบไหว้ จนเป็นที่มาของการนำรูปสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้ในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งในส่วนประธานที่เรียกว่าสีหน้าหรือหน้าบันตามวัดวาอารามต่างๆ  เช่นตัวอย่างที่ยกมาศึกษาได้แก่ ศาสนาคารหลักในวัดของอีสานไม่ว่าจะเป็น สิม หอแจก หรือแม้แต่ธรรมาสน์ที่ใช้เป็นที่นั่งแสดงธรรมของพระสงฆ์ ก็ล้วนแล้วแต่มีการนำรูปพานรัฐธรรมนูญมาตกแต่งอยู่ในองค์ประกอบที่สำคัญเช่นหน้าบันหรือสีหน้าในภาษาช่างพื้นถิ่นอีสาน จากแต่เดิมจะนิยมใช้รูปเทพพนม ครุฑพ่าห์ หรือช้างเอราวัณสามเศียร

รูปช้างเอราวัณสามเศียร อาจตีความว่าหมายถึง ส่วนหนึ่งของตราแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้สื่อแทนความเป็นสยามประเทศในสมัยนั้นที่มี สยามเหนือ สยามกลาง และ สยามใต้  ดั่งที่ปรากฏอยู่ทั่วไปตามธนบัตรและเงินเหรียญบาทสมัยปี 2459 โดยในบริบทอีสานไม่นิยมทำรูปพระอินทร์และอีกนัยยะทางความเชื่อ ชื่อเอราวัณ ยังหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง สัญญะแห่งความอุดมมงคล อีกทั้งช้างเป็นโลกบาลรักษาทิศตะวันออก

ครุฑพ่าห์ ในส่วนตกแต่งฮังผึ้ง สิมเก่าแถบ อำเภอกันทรารมณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ทั้งนี้ยังมีความนิยมทำรูปตรา “พระครุฑพ่าห์” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นตราแผ่นดินแบบใหม่สมัยรัชกาลที่๖ ตามบริบททางการเมือง ตามนัยยะจากการสูญเสียประเทศราชทั้ง ลาว เขมรและมลายู จึงต้องเปลี่ยนแปลงตราแผ่นดินโดยใช้รูป “พระครุฑพ่าห์” เพื่อให้เหมาะกับกาลสมัย

รวมถึงตราเสมาธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา และเป็นตราหน่วยงานที่กำกับดูแลคือกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการและที่สำคัญนิยมเขียนบันทึกบอกข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง ถึงประวัติการสร้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่นปีเริ่มสร้างและปีแล้วเสร็จ เจ้าศรัทธาหรือแม้แต่ตัวช่างที่รังสรรค์ผลงาน  ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการจดบันทึกอย่างเป็นทางการยุคแรกๆในบริบทงานช่างทางศาสนาอีสานในโลกทัศน์ใหม่

แม้รูปสัญญะต่างๆ จะถูกตีความในสิ่งที่เป็นผลผลิตจากรสนิยมความเชื่อแห่งอดีตสมัย ที่ผลิตสร้างขึ้นภายใต้บริบททางสังคมการเมืองในยุคการเปลี่ยนผ่านการปกครองแห่งวันวาน ที่ไม่อาจมีความหมายคงที่แต่ด้วยข้อมูลภาคสนามตามท้องถิ่นต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยความคิดหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ร่วมทางการเมืองหนึ่งที่ช่างและชาวบ้านพื้นถิ่นอีสานแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากนโยบายรัฐนิยม รัฐชาติ และราชานิยมสะท้อนผ่านงานช่างพุทธศิลป์

เพื่อยืนยันว่าพวกเขารับรู้และเข้าใจโดยมีพลังทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าผู้คนในศูนย์กลางอำนาจการเมืองอื่นๆบนพื้นฐานแนวคิดแห่งสิทธิความเท่าเทียม


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2562