“พระอุลตร้าแมน” กับคำถาม ศิลปินแสดงออกได้แค่ไหน? ศาสนิกยอมรับได้เพียงใด?

ภาพประกอบเนื้อหา - เพจ "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ" โพสต์ภาพ พระอุลตร้าแมน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 (ภาพจาก www.facebook.com/paivan01/posts/747330192365995)

ในโลกความเป็นจริงใช่ว่าทุกคนจะคิดตรงกันกับเรา บ่อยครั้งที่อะไรก็ตามไปข้องแวะกับเรื่องความเชื่อทางศาสนาย่อมกลายเป็นประเด็นใหญ่

กรณีภาพเขียน “พระพุทธอุลตร้าแมน” (ผมตั้งชื่อเพื่อความสะดวก) เป็นกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวในหน้าสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์ หากพิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของผู้วาดก็ถือว่าเป็นการแปลความหมายใหม่ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายดูหมิ่น ดังบทสัมภาษณ์ว่า “การวาดภาพดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้” (คัดข้อความจาก workpointnews.com)

Advertisement

ภาพนี้ทำให้พุทธศาสนิกชนหลายคนไม่พึงพอใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สบายใจ จนต้องปลดภาพเจ้าปัญหาออกไปจากงาน และเชิญผู้วาดภาพไปขอขมาพระพุทธรูปและเจ้าคณะในฐานะตัวแทนพระสงฆ์

ทุกอย่างในโลกมองได้จากหลายมุม ความคิดคนเราก็เหมือนกัน เมื่อมองต่างมุม เมื่อคิดต่างมุม การแสดงออกก็ต่างกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนต่างความคิดจะกระทบกระทั่งกัน

ในมุมมองหนึ่ง ศิลปินย่อมสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสะท้อนความคิด ในมุมนี้จึงมีสิทธิ์เสรีที่จะแสดงออกความรู้สึกนึกคิดออกมา ไม่ควรมีสิ่งใดขวางกั้น แม้กระทั่งสิทธิ์เสรีในการแปลความหมายใหม่ต่อพระพุทธรูป หากไม่ใช่เจตนาดูหมิ่นดูแคลนก็ไม่ควรมีปัญหาใด ๆ

แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง เมื่อพระพุทธรูปเป็นรูปแทนองค์พระพุทธศาสดา เป็นที่สักการบูชาของผู้คนมากมาย มีคติความเชื่อหรือกติกาสังคมควบคุมการสรรค์สร้าง ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งที่คิดจะแผลงเป็นแบบใดก็ได้ ในมุมนี้ย่อมเป็นสิ่งเข้าใจได้ที่พุทธศาสนิกชนหลายท่านจะเกิดความไม่พอใจ ไม่สบายใจ

ด้วยมุมที่ต่างกันนี้ปัญหาจึงเกิดขึ้น คำถามสำคัญคือ “เมื่อเรื่องมันอ่อนไหว แล้วศิลปินจะแสดงออกได้แค่ไหน แล้วศาสนิกจะยอมรับได้เพียงใด”

คำตอบต่อเรื่องนี้ย่อมไม่สำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน คำตอบนี้ของผมจึงเป็นเพียงความเห็นของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่คาดหวังว่าการปะทะทางความคิดแบบสองขั้วนี้จะน้อยลง (น้อยลงในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าฟากความคิดใดจะต้องถอย แต่สามารถถอยได้ทั้งคู่ หรืออยู่ในจุดยืนของตนได้ทั้งคู่ โดยเอาหัวใจของคนคิดต่างมาใส่ในหัวใจเรา)

ในฟากผ่ายศิลปิน อาจพึงระลึกเสมอว่าการข้องเกี่ยวกับพระศาสดาของศาสนาใด ๆ ก็ตาม ควรจะไตร่ตรองถึงความรู้สึกของผู้มีจิตศรัทธาด้วย หรือหากศิลปินสร้างด้วยจิตศรัทธาแล้วก็ต้องระวังว่าผู้เสพย์งานศิลป์อาจแปลความหมายไปในทางอื่นได้ (อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้วาดก็เข้าใจได้ว่ามีศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้า จึงเปรียบสถานภาพของพระองค์เป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน แต่คนส่วนใหญ่กลับดูภาพแล้วรู้สึกว่าเป็นการดูแคลน) ศิลปินอาจตั้งคำถามกันเองในกลุ่มก็ได้ ว่าแท้จริงแล้วเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องทำนองแบบนี้ควรมีข้อจำกัดหรือไม่ เพียงใด หรือจะยืนยันในเสรีภาพการแสดงออกก็ย่อมมีสิทธิ์

ในฟากฝ่ายศาสนิก การยอมรับในความเห็นอื่นอาจเป็นสิ่งที่ดีในกรณีนี้ การยอมรับความเห็นอื่นไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย และไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่ใจ เมื่อฟังเจตนาดีของผู้วาดแล้วก็อาจวางหัวใจไว้ว่า เป็นการแปลความของคนอีกรุ่นหนึ่งที่แสดงออกต่างไปจากรุ่นก่อน หากเห็นว่า “พระพุทธอุลตร้าแมน” แสดงออกต่างออกไปมากเกิน ก็สามารถอธิบายด้วยเหตุด้วยผลอันสมควร เพราะศาสนิกย่อมมีสิทธิ์รักษาความเชื่อของตนเช่นกัน เมื่อมีสิ่งอันใดกระทบความเชื่อเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ออกมา แต่ไม่มีสิทธิ์ไปด่าว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง และไม่มีสิทธิ์ห้ามคนคิดต่าง

ในกรณี “พระพุทธอุลตร้าแมน” ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นอันแตกต่างกัน ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย การให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอยไม่ใช่ทางออกในระยะยาว การก่นด่าฝ่ายเห็นต่างยิ่งไม่ใช่ทางออก การที่เราจะก้าวไปพร้อม ๆ กันได้โดยตลอดนั้น น่าจะต้องเอาหัวใจของคนคิดต่างมาใส่ในหัวใจเรา นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้