ทำไมถึงห้ามแสดง “หนังตะลุง” ในงานแต่ง-งานศพ?

ตัวหนังคณะหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ (หนังอรรถโฆษิต)

ทำไมถึงห้ามแสดง “หนังตะลุง” ในงานแต่ง-งานศพ?

ศิลปะพื้นเมืองโดยส่วนใหญ่จะมีวิถีอยู่คู่กับความเชื่อต่าง ๆ “หนังตะลุง” ที่เป็นศิลปะการแสดง ภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน โดยศิลปินหนังตะลุงมีความเชื่อที่เป็น “ข้อปฏิบัติ” ยึดถือกันมาช้านาน หากกระทำอย่างผิดแผกไปแล้วจะเกิดสิ่งไม่ดีหรือเภทภัยเข้าสู่ตัว และผิดหลักที่มีมาแต่โบราณกาล

Advertisement

สิ่งที่ศิลปินหนังตะลุง “ต้องปฏิบัติ” อย่างเคร่งครัด คือ การไหว้ครูอาจารย์ ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และไหว้แม่พระธรณี ก่อนทำการแสดงแต่ละครั้ง หากไม่ไหว้ก็อาจเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อได้ ข้อปฏิบัตินี้ยังรวมถึงการห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย ตามความเชื่อว่าหากลอดจะทำให้ศิลปินป่วยไข้ได้เช่นเดียวกัน

ความเชื่อที่เป็นข้อปฏิบัติอื่น ๆ มีอีกเช่น ห้ามเล่นหนังตะลุงใน “งานแต่ง” เพราะถือว่างานวิวาห์ของคู่บ่าวสาวเป็นการแสดงหนังสด จะทำให้หนังตะลุงเปรียบเสมือนหนังแห้ง อันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรมาแต่โบราณ ถือเป็นอัปมงคล อีกทั้งห้ามเล่นหนังตะลุงใน “งานศพ” เพราะจะทำให้หนังตะลุงมีกลิ่นศพติดอยู่ และจะไม่มีคนจ้างงานอีกต่อไป รวมถึงการห้ามทานข้าวที่ตกพื้น และห้ามรับประทานอาหารหากพูดไว้ว่าจะไม่รับประทาน เชื่อว่าหากเปลี่ยนใจมารับประทานภายหลัง ในอนาคตจะถูกเจ้าภาพยกเลิกงานแสดง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ศิลปินหนังตะลุงพึงปฏิบัติทั้งสิ้น

ข้อปฏิบัติที่สืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณเหล่านี้ เปรียบเสมือน “กุศโลบาย” หรือกุศลอันดี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ฝังรากไว้กับความเชื่อเหล่านี้ กล่าวคือ ข้อปฏิบัตินี้มีนัยยะสำคัญและเหตุผลของตัวมันเอง ข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดอย่างการไหว้ครูบาอาจารย์ เจ้าที่เจ้าทาง หรือพระแม่ธรณี ก็เป็นการปลูกฝังความมีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพ อ่อนน้อมต่อบุคคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ศิลปินประสบแต่ความสุขความเจริญ หรือการห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วยก็เพื่อป้องกันยางกล้วยตกใส่เสื้อผ้า ทำให้ซักล้างยาก

การห้ามแสดง หนังตะลุง ในงานแต่ง-งานศพ ก็เป็นความต้องการที่จะให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานเหล่านี้ ได้มุ่งให้ความสนใจกับงานอย่างเต็มที่ ไม่มัวแต่ดูการแสดง ส่วนการห้ามรับประทานข้าวตกพื้น ก็เป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากอาหารที่ตกพื้น และการห้ามรับประทานอาหาร หากพูดไว้ว่าจะไม่รับประทาน ก็เป็นการปลูกฝังให้รู้จักรักษาสัจจะ ไม่ตระบัดสัตย์ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม: 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บุษกร บิณฑสันต์. (2554). ดนตรีภาคใต้ ศิลปิน การถ่ายทอดความรู้ พิธีกรรมและความเชื่อ. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2562