ทำไม “เกลื้อน” ในมุมชาวใต้ยุคก่อนคือความงาม ยกโฉมสะคราญ “แม่แก้มเกลื้อน”

ภาพประกอบเนื้อหา

ปัจจุบันพอพูดถึงเกลื้อนแล้ว ย่อมเป็นที่สะอิดสะเอียนไม่มีผู้ใดอยากเป็น เพราะเกลื้อนเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ใครเป็นแล้วเสน่ห์บุคลิกย่อมลดน้อยลง ยิ่งหนุ่มสาวที่รักสวยรักงามก็ย่อมมีความกลัดกลุ้มเป็นกำลัง จึงรีบเสาะหาหยูกยารักษา มิฉะนั้นจะลุกลามใหญ่โต

ตรงกันข้ามกับชาวใต้สมัยอดีต ถ้าพูดถึงเกลื้อนแล้ว ย่อมเป็นที่พิสมัยคือทุกคนต้องมีเกลื้อนเป็นอาภรณ์แห่งผิวหนัง ยิ่งหญิงสาวมีเกลื้อนเป็นดอกดวงที่แก้มแล้วนับว่าสะคราญโฉมอย่างยิ่ง และเรียกเธอว่า “แม่แก้มเกลื้อน” ผู้ชายสมัยนั้นไม่นิยมสวมเสื้อ จึงอวดเกลื้อนบริเวณอกดูเป็นแถบดุจสร้อยสังวาล หรือเป็นพวงดอกไม้ดูสวยงาม จึงเรียกเกลื้อนนั้นว่า “เกลื้อนมาลา” หรือ “เกลื้อนทอง”

รุ่งอรุณแห่งหนุ่มสาว

เกลื้อนคือสัญญลักษณ์ของวัยเริ่มหนุ่มสาว ทำนองเดียวกับการที่เด็กหนุ่มพูดแตกพาน หรือเด็กสาวมีฐานเต้านมแข็ง เพราะฉะนั้นชาวใต้สมัยก่อน เมื่อเริ่มตกเกลื้อน ก็เริ่มรู้จักแต่งเนื้อแต่งตัว ที่เป็นหนุ่มก็รู้จักเกี้ยวสาว ที่เป็นสาวก็เตรียมฟังข่าวชายมาสู่ขอ ผู้เขียนจำบทกลอนสั้นๆ ที่แสดงความหวังของหนุ่มชาวใต้สมัยก่อนดังนี้ “จะหาเมียสักคนอย่าปนเพื่อน เอาที่เกลื้อนลายๆ คล้ายดอกไม้” นี้แสดงว่าเกลื้อนเป็นค่านิยมสำคัญอย่างหนึ่งในสมัยนั้น

หลักฐานจากกาพย์กลอน

กาพย์กลอนมุขปาฐะ เช่นเพลงกล่อมเด็กชาวใต้มีจำนวนมากที่ยกย่องชมเชยผู้มีเกลื้อน ดังตัวอย่างเพลงต่อไปนี้

(1)
สาวน้อยเหอ
แม่สาวน้อยแก้มเกลื้อน
อยู่สวยหวาเพื่อน
บ่าวบ่าวขวนกันมาหน้าปรอ
ถ้าเป็นดอกไม้ดอกไล่
สาวจะหักให้คนละช่อ
บ่าวบ่าวชวนกันมาหน้าปรอ
ใจสาวมีช่อเดียว

(2)
ดอกเรด
แลและอี้กลายเป็นปอ
เขาว่าอี้มาขอ
แตกเกลื้อนกลางคออยู่ห่างห่าง
นั่งลงตรงนี้
ผูกรักสักทีตะเหวอนาง
แตกเกลื้อนกลางคออยู่ห่างห่าง
แลนางไม่วางตา

(3)
ลูกสาวใครเหอ
สาวเดินมาน่าอาด
แลช่างเดินช่างนาด
ดูสาบาดตาชาย
พิศวงสงสัยนางน้องแก้ว
จะมีคู่เสียแล้วไสหมึงหนา
ลําเอวกับลำอก
ซึ่งตกแต่เกลื้อนพุมมาลา
จะมีคู่เสียแล้วไสหมงหนา
หน้าน้องเหมือนวงเดือน

กาพย์กลอนอันปรากฏในวรรณกรรมลายลักษณ์ ชมโฉมหญิงสาวงามด้วยเกลื้อนตัวอย่างดังนี้

(1)
“นางผองนั่งแอบเพื่อน
หน้าตกเกลื้อนงามดีจริง
นั่งแค่นางทองมิ่ง
แกะบายศรีดีเหลือใจ”
(คัดจากเรื่องพระวรวงศ์)

(2)
“กันนังตั้งเต่ง
กําดัดครัดเคร่ง
บังผ้าหน้าชม
เลือกเล่นเส้นสาย
เกลื้อนพรายรอบนม
ลักขณาสะสม
สนมนำยาตรา”
(คัดจากเรื่องพระรถเมรี)

(3)
“อรชรอ้อนแอ้น
ราคาห้าแสน
สุวรรณพรรณราย
แขนคือวงคช
ชดช้อยห้อยกราย
ตกเกลื้อนดอกไม้
ชายเห็นเป็นฝัน”
(คัดจากเรื่องวันคาร)

จะเห็นว่าเกลื้อนดอกไม้ เกลื้อนมาลาหรือเกลื้อนทอง อาจปรากฏบริเวณแก้ม คอ ทรวงอก รอบเต้านม หรือแขน ล้วนเป็นเสน่ห์ชวนมอง

ความจริงเกลื้อนที่ชาวใต้สมัยนั้นนิยมชมชอบ ไม่ใช่โรคผิวหนังอย่างกลากเกลื้อนปัจจุบัน กล่าวคือ มีลักษณะเป็นดวงขาวแนบอยู่ในผิวเนื้อแต่ไม่เป็นขุย และไม่มีอาการคันแต่อย่างไร ขึ้นอยู่ไม่นานก็หายไป ด้วยเหตุนี้จึงมีการปลูกเกลื้อนกันหลายวิธี ตัวอย่างที่ผู้เขียนฟังจากคุณดิเรก พรตเสน ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าถึงวิธีปลูกเกลื้อนด้วยการใช้ใบพลูไปถูที่เกลื้อนของเพื่อน แล้วเอามาถูที่ผิวเนื้อของตน ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันก็มีเกลื้อนสมความตั้งใจ ผู้เขียนเข้าใจว่า เนื้อเยื่อของใบพลูคงมีสารพิเศษสามารถดูดซับ และซึมซาบเข้าสู่เซลผิวหนังได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงนิยมใช้ใบพลูปลูกเกลื้อน

ชาวใต้ในอดีตถือว่าเกลื้อนเป็นความงามไม่ใช่ของน่าชังแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนถึงความรักสวยรักงามได้ในแง่หนึ่ง ค่านิยมอันนี้ชาวใต้อาจได้รับ แบบอย่างจากชาวต่างชาติ หรือจากมโนห์รายอดศิลปินสมัยนั้น อย่างไรก็ตามค่านิยมย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงเกลื้อนมาลาหรือเกลื้อนดอกไม้ดังกล่าว ก็ย่อมเป็นเรื่องขบขันสำหรับเรายุคนี้อย่างแน่นอน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562