เผยแพร่ |
---|
คำว่า “พระบรมราชโองการ” หมายถึง คำสั่งราชการของพระมหากษัตริย์ หลายคนคิดว่าเป็นคำที่ใช้กันมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ที่จริงแล้วเพิ่งมาเริ่มใช้ในรัชสมัย “พระจอมเกล้า” (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2411) โดยมีความเกี่ยวพันกับ “พระปิ่นเกล้า” ซึ่งก่อนหน้านี้คำว่า “ตรัส” ของพระมหากษัตริย์ จะใช้คําว่า “พระราชโองการ” เท่านั้น ไม่มีคำว่า “บรม” นำหน้า
ที่มาของคำว่า “พระบรมราชโองการ” ต้องย้อนความไปว่า รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2404) โดยให้มีพระราชอิสริยยศเทียบ “พระมหากษัตริย์” หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ที่ฝรั่งเรียกว่า “Second King”
การสถาปนา “พระปิ่นเกล้า” ครั้งนี้ มีความพิเศษแตกต่างจากการสถาปนาพระมหาอุปราชหรือวังหน้า ตามโบราณราชประเพณีเช่นแต่ก่อนมา ทั้งในอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)
“นามวังน่าซึ่งเคยเรียกในราชการว่า ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า ‘พระบวรราชวัง’ พระราชพิธีอุปราชาภิเศกให้เรียกว่า ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเศก’ พระนามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตรแบบเดิมว่า ‘พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ พระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’
แลขานคำรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯ เคยใช้ว่า ‘พระบัณฑูร’ โปรดให้เปลี่ยนเป็น ‘พระบวรราชโองการ’ เติมคำ ‘บรม’ เป็นฝ่ายวังหลวง แลคำ ‘บวร’ เป็นฝ่ายวังน่าเป็นคู่กัน“
การเติม “บรม” หรือ “บวร” เข้าไปในคำว่า “พระราชโองการ” คงเป็นพระบรมราชกุศโลบายในรัชกาลที่ 4 เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่าง และไม่ให้สับสนระหว่าง “พระเจ้าแผ่นดินวังหลวง” และ “พระเจ้าแผ่นดินวังหน้า” คำว่าพระบรมราชโองการจึงเพิ่งเริ่มใช้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2394 เป็นต้นมา
การที่รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนคำตรัสของพระมหากษัตริย์ จากพระราชโองการ เป็นพระบรมราชโองการ คงด้วยพระราชประสงค์เพื่อแยกพระบรมราชอิสริยยศอัน “เทียบเท่า” แต่ “ไม่เท่าเทียม” กัน ระหว่าง “กษัตริย์วังหลวง” กับ “กษัตริย์วังหน้า” นั่นเอง
นอกจากนี้ คงเป็นเหตุที่ทำให้ทรงสถาปนา พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ (องค์ใหม่) ขึ้นแทน พระราชลัญจกรมหาโองการ หรือมหาอุณาโลม (องค์เดิม) เพื่อทรงย้ำพระราชดำริดังกล่าวให้เป็นที่ชัดเจนในพระราชลัญจกร ซึ่งจะต้องใช้ประทับกำกับในเอกสาร อันเป็น “คำสั่ง” ของพระมหากษัตริย์ ด้วยการระบุคำว่า “พระบรมราชโองการ” เป็นตัวอักษรลงในพระราชลัญจกร จากเดิมที่เป็นเครื่องหมายอุณาโลม เช่น ในพระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์เดิม)
รัชกาลที่ 4 ยังทรงใช้อักษรขอม เพื่อให้คำว่าพระบรมราชโองการดูศักดิ์สิทธิ์ เป็นประกาศิต แต่ก็ยังทรงรักษาสาระสำคัญของพระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์เดิม) ที่ประกอบด้วยเครื่องหมายอุณาโลมเอาไว้ด้วย ดังเห็นได้จากอักขระ 3 ตัว ที่อยู่ด้านบนของคำว่า “พระบรมราชโองการ” ซึ่งประกอบกันเป็นคำว่า “โอมฺ” ซึ่งเทียบได้กับเครื่องหมาย “อุณาโลม”
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในพระราชหัตถเลขาบางองค์ของรัชกาลที่ 4 ก็ทรงใช้เครื่องหมายอุณาโลมเป็นเครื่องหมายขึ้นต้นบรรทัดด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสืออริยกะ 3 ตัวในพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ เป็นการนำคำว่า “โอมฺ” อันแทนด้วยเครื่องหมายอุณาโลม ซึ่งใช้เป็นพระราชลัญจกรมหาโองการหรือมหาอุณาโลม (องค์เดิม) มาใช้ในรูปแบบของหนังสืออริยกะ
ทั้งนี้ เพื่อให้พระราชลัญจกรเหล่านี้มีความหมายเป็นประกาศิต ประดุจ “โองการ” ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นสมมติเทพ
ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ ทรงวิจารณ์ไว้ว่า “อักขระ โอม นั้น ไม่มีทางเถียงว่าจะไม่ใช่ทางไสย ไม่ได้ใช้ในทางพระพุทธศาสนา และอักขระนั้นเองทำให้พระราชลัญจกรนั้นได้ชื่อว่า มหาโองการ และตรงกับคำที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า พระบรมราชโองการ”
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “อริยกะ” อักษรที่รัชกาลที่ 4 “ทรงประดิษฐ์” อักษรนี้คืออะไร ทำไมชื่ออริยกะ ?
- ก่อนพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ทรงกราบทูล “ความลับ” เรื่องใดถวายรัชกาลที่ 4 ?
อ้างอิง :
พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัส พระจอมเกล้า, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562