ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
รู้จักอักษร “อริยกะ” อักษรที่ รัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์อักษรนี้คืออะไร ทำไมชื่ออริยกะ ?
อักษร “อริยกะ” คืออะไร?
อักษร “อริยกะ” เป็นรูปแบบตัวอักษรประเภทหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในขณะทรงพระผนวชเป็น “พระวชิรญาณเถระ” ทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้เขียนหรือพิมพ์ภาษาบาลีแทนตัวอักษรขอมที่ใช้กันมาแต่เดิม รวมทั้งทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้เขียนภาษาไทยด้วย (อาจเป็นความต้องการใช้แทนอักษรไทยด้วยก็ได้)
อาจถือได้ว่าการประดิษฐ์ “อักษรอริยกะ” เป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับการตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย”
ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะเมื่อใด
ช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะนั้นไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานกันว่าน่าจะทรงประดิษฐ์ขึ้นหลังจากได้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว เพราะในเวลานั้นมีผู้มาถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นจำนวนมาก
และเพื่อให้การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นไปโดยสะดวก จึงน่าจะทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นสำหรับใช้แทน “อักษรขอม” ที่แต่เดิมถือเป็น “อักษรศักดิ์สิทธิ์” สำหรับเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นภาษาบาลี (เรียกว่า “อักษรขอมบาลี”) และภาษาไทย (เรียกว่า “อักษรขอมไทย”)
รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีความรู้ด้านการพิมพ์ ทรงรู้ปัญหาในการหล่อและการเรียงพิมพ์ ด้วยเหตุที่ทรงรู้ภาษาอังกฤษและภาษาละตินจึงน่าจะทรงดัดแปลงอักษรไทยและวิธีการเขียนโดยอาศัยแบบอย่างจาก “อักษรโรมัน” เป็นแม่แบบ
อักษร “อริยกะ” มาจากไหน?
เมื่อพิจารณารูปแบบอักษรอริยกะแล้วจะพบว่าอักษรอริยกะเป็นอักษรที่ได้อิทธิพลรูปแบบตัวอักษรจากอักษร “โรมัน” เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เห็นได้จากรูปแบบตัวอักษรและในลักษณะที่มีการแบ่งอักษรอริยกะเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. อักษรอริยกะตัวพิมพ์
2. อักษรอริยกะตัวเขียน
อักษรอริยกะทั้งสองกลุ่มแม้จะเป็นอักษรอริยกะเช่นเดียวกัน แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ลักษณะเช่นนี้พบได้ในรูปแบบตัวอักษร “โรมัน”
นอกจากอิทธิพลทางด้านรูปอักษรแล้ว ในด้านระบบการเขียนหรืออักขรวิธีของอักษรอริยกะปรากฏอิทธิพลอักขรวิธีการเขียนของอักษรโรมันเข้าไปประสมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดวางรูป “สระ”
ทั้งนี้เพราะลักษณะการวางรูปสระในระบบการเขียนของอุษาคเนย์ เช่น อักษรขอม หรืออักษรไทย นิยมวางสระไว้ทั้งด้านหน้า ด้านบน ด้านล่าง และด้านหลังพยัญชนะ ซึ่งจะเกิดปัญหามากสำหรับการเขียนหรือการพิมพ์
ในระบบการเขียน “อักษรขอม” แล้วยิ่งมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะระบบอักษรที่มีทั้ง “พยัญชนะตัวเต็ม” และ “พยัญชนะตัวเชิง”
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้น จึงน่าจะทรงพยายามที่จะตัดความยุ่งยากในระบบการเขียนในอักษรขอมและอักษรไทยออกไปทั้งหมด และใช้ตามระบบการเขียนอักษร “โรมัน” ซึ่งง่ายกว่า ทั้งในด้านการเรียงพยัญชนะและสระ (ซึ่งเขียนเรียงไว้หลังพยัญชนะทั้งหมด)
ดังนั้น “อักษรอริยกะ” จึงเป็นอักษรที่ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบตัวอักษรและอิทธิพลทางด้านอักขรวิธีในการเขียนจาก “อักษรโรมัน” นั่นเอง
ทำไมต้องเป็นอักษร “อริยกะ”
ทำไมต้องเป็นอักษรอริยกะนี่เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา เพราะนอกจากเรื่องการปรับระบบการเขียนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะยากหากจะให้สังคมไทยในเวลานั้นยอมรับรูปแบบอักษรชนิดนี้แทน “อักษรขอม” ที่ใช้กันมานับพันปี) อักษรชนิดนี้จะแฝงจุดหมายบางอย่างบางประการหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากสภาพสังคมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เราอาจสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างกับการจัดการ “พระพุทธศาสนา” ในสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเถระผู้ใหญ่แปล “พระธรรมวินัย” อย่างต่อเนื่องเพื่อเทศน์ถวาย และโปรดให้ “จาร” พระไตรปิฎกด้วย “อักษรขอม” ถวายพระอารามต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนฯ ฯลฯ
พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กลับทรงประดิษฐ์ “อักษรอริยกะ” เพื่อ “พิมพ์” พระธรรมวินัยเผยแพร่แทนการ “จาร” บนใบลาน เช่นเดียวกับที่มิชชันนารี “พิมพ์” คัมภีร์ไบเบิลสอนศาสนาคริสต์ กรณีนี้อาจเป็นหนึ่งในกระบวนการปรับ “พระพุทธศาสนา” ให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้นก็ได้
การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ขึ้นแล้วพระราชทานนามว่า “อักษรอริยะ” อาจเนื่องมาจากต้องการแสดงให้เห็นว่าอักษรประเภทนี้เป็นอักษรของ “ผู้เป็นอารยชน” ซึ่งอาจมีความหมายเป็นนัยยะที่แสดงถึงการปรับตัวเข้าหาความเป็น “อริยะ” หรือ “อารยะ” (อาจหมายถึงประเทศตะวันตก)
ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นใช้ นอกจากจะเพื่อความสะดวกในการศึกษาเล่าเรียนแทนอักษรขอมแล้ว (ซึ่งโดยความเป็นจริงอาจยุ่งยากกว่าเพราะต้องปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด) ยังอาจมีนัยยะถึงการปรับเปลี่ยนเข้าหาความเป็นอารยะ (ความเป็นตะวันตก) อีกด้วย
ความแพร่หลายและความเสื่อมของอักษร “อริยกะ”
หลักฐานเกี่ยวกับความแพร่หลายของอักษรอริยกะมีไม่มากนัก ทราบเพียงว่ามีการนำมาใช้พิมพ์บทสวดมนต์บ้าง พิมพ์หนังสือปาฏิโมกข์บ้าง และพิมพ์หนังสืออื่นๆ บ้าง และใช้แทนหนังสือใบลานที่เคยแพร่หลายมาแต่เดิม แต่ความแพร่หลายนี้ก็จำกัดวงอยู่เฉพาะในวัดบวรนิเวศวิหารเท่านั้น
จารึกอักษรอริยกะที่มีใช้ให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนในปัจจุบันคือ จารึกวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งเป็นจารึกข้อความบนแผ่นหินอ่อนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงการสร้างวัดราชประดิษฐ์ ข้อความที่จารึกด้วยอักษรอริยกะ คือข้อความในบรรทัดที่ 1 เป็นอักษรอริยกะ ภาษาบาลี เช่นเดียวกับบรรทัดที่ 40-42 ที่จารึกต่อจากข้อความอักษรขอมภาษาบาลี และในข้อความตอนท้ายบรรทัดที่ 77-78 ของจารึกก็จารึกด้วยอักษรอริยกะเช่นเดียวกัน
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว การใช้อักษรอริยกะก็เสื่อมไปในที่สุด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมีรูปร่างและระบบอักขรวิธีแตกต่างจากอักษรไทยมากจึงไม่ได้รับความนิยมและค่อยๆ เลิกใช้ไป
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้นำรูปอักษรไทยมาใช้เขียนภาษาบาลีได้ ความจำเป็นที่จะใช้อักษรอริยกะเขียนแทนอักษรขอมก็หมดลงในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังเหตุสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยครั้งแรก ไม่มีอักษร “ฃ-ฅ”
- สืบราก “อักษรไทย” จากอินเดียใต้ ณ จุดประชุมพลวานรของพระราม
อ้างอิง :
กำธร สถิรกุล. ลายสือไทย 700 ปี. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2526.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. คาถาชาดกแลแบบอักษรอริยกะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2514.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2560