ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คำศัพท์ “เฮงซวย” มาจากไหน?
การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันหรือในวาระอื่นๆ มีทั้งที่เป็นคำไทยแท้ และคำที่หยิบยืมมาจากภาษาอื่น ไม่ว่าจะเป็นเขมร บาลี สันสกฤต หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ซึ่งในบรรดาคำที่หยิบยืมมาจากภาษาจีน นักวิชาการยอมรับกันว่า หยิบยืมมาจากจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนมากกว่าที่อื่น และคำหนึ่งในกลุ่มนั้นก็คือ “เฮงซวย”
ด้วยลักษณะการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผสมปนเปกันไปในหลายยุคสมัย สำหรับประเทศไทยก็มีชาวจีนเดินทางเข้ามามาก จากการศึกษาของ พรพรรณ จันทโรนานนท์ พบว่า ชาวจีนในประเทศไทย คือชาวจีนที่อพยพมาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ชาวจีนเหล่านี้ได้แก่ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ (ฮากกา) ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ รวม 5 กลุ่มภาษาใหญ่
พวกที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสิน (พ.ศ. 2310-2325) จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2393-2411) ชาวจีนอพยพในช่วงนี้จะเป็นชาวจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ เพราะพระเจ้าตากสินทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว
ชาวจีนรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาในไทยจะเข้ามากับเรือสินค้า และส่วนมากเป็นชาวจีนที่อาศัยทำกินอยู่ในดินแดนทางใต้แถบชายทะเลมาก่อน ต่อมาเมืองกวางโจวมีเมืองท่าใหม่แถบชายทะเลทางใต้ ยิ่งทำให้ดินแดนทางใต้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เช่น เมืองท่าจางหลิน ที่ซัวเถา จึงทำให้ชาวจีนกลุ่มภาษาต่างๆ อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น (เกาะไหหลำเดิมอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล ในปี ค.ศ. 1988 (周敏 ; 1995 : 8-9)
ในกลุ่มคำที่เกี่ยวกับความเชื่อ มีคำที่คนไทยน่าจะได้ยินบ่อยอันดับต้นๆ อย่าง “เฮงซวย” 兴衰 เป็นภาษาพูดติดปาก ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายว่าหมายถึง เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น “คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย”
ในคำอธิบายฉบับราชบัณฑิตยสถาน กำกับที่มาของคำว่า ในภาษาจีน คำว่า “เฮง” แปลว่า โชคดี “ซวย” แปลว่า เคราะห์ร้าย เฮงซวย ว่า ไม่แน่นอน”
ขณะที่ พิชณี โสตถิโยธิน บรรยายในบทความเรื่อง “คำยืมภาษาจีนแต้จิ๋วในภาษาไทย: ปรากฏการณ์ที่วงศัพท์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมาย” ในวารสารจีนศึกษา ฉบับที่ 5 ปีที่ 5 พ.ศ. 2555 ว่า คำว่า เฮงซวย ภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึง “โชคไม่ดี” จัดว่าอยู่ในวงศัพท์ความเชื่อ และเป็นวงศัพท์คุณลักษณะ พิชณี อธิบายว่า “เมื่อภาษาไทยยืมมาใช้ เกิดการย้ายที่ความหมายจากวงศัพท์ความเชื่อ ไปยังวงศัพท์คุณลักษณะ”
อิทธิพลของชาวจีน (แต้จิ๋ว) นอกจากภาษาแล้ว พรพรรณ จันทโรนานนท์ ยังอธิบายว่า ชาวจีนแต้จิ๋ว ยังนำความรู้เรื่องการทำน้ำตาลทรายเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การทำสวนผักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน การทอผ้าด้วยกี่กระตุกของชาวจีนแคะ (ฮากกา) (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย; 2538 : 27-28)
อ่านเพิ่มเติม :
- ไม้ตรี ไม้จัตวา : อิทธิพลภาษาจีนในภาษาไทย
- เช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษผิดตัว ไม่ใช่แค่ปัญหาภาษาจีน แต่เป็นเพราะอะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คำภาษาจีนในภาษาไทย (๑). สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ออนไลน์. เข้าถึง 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562. https://bit.ly/3tUnSgF
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2538). “จีน-ไทย’ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร,” ใน เอเชียปริทัศน์ 16(1) มกราคม-เมษายน.
พิชณี โสตถิโยธิน. “คำยืมภาษาจีนแต้จิ๋วในภาษาไทย: ปรากฏการณ์ที่วงศัพท์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมาย”. วารสารจีนศึกษา ฉบับที่ 5 ปีที่ 5 พ.ศ. 2555. เอกสารออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562, น. 143.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. (2550). “ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2562