กระแสโหยหาอดีต-ย้อนยุคโชวะมาแรงในญี่ปุ่น บ.ดังผลิตพัดลมจิ๋วแบบโบราณทำวัยรุ่นกรี๊ด

พัดลม
ภาพผลิตภัณฑ์พัดลมขนาดจิ๋วของบริษัท TAKARA หนึ่งในสินค้าใหม่ในกระแสย้อนยุค (ภาพจาก https://www.takaratomy-arts.co.jp/specials/showa)

พัดลม เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนยุคสมัยได้อีกทาง เช่นที่ชาวญี่ปุ่นสัมผัสกับบรรยากาศรัชสมัยเรวะเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 อันถือเป็นการขึ้นยุคใหม่ของญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศยุคเก่าก่อนจะยังไม่จางหายไป แถมยังกลายเป็นกระแสความนิยมแบบย้อนยุคอีกต่างหาก ปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจพอสะท้อนความโหยหาอดีตได้บ้าง น่าจะเป็นกระแสฮือฮาในพัดลมไฟฟ้ายุคโชวะซึ่งถูกย่อส่วนมาเป็นของเล่นหรือของตกแต่งขนาดจิ๋ว ที่กลายเป็นสินค้าที่ทำให้คนหนุ่มสาวรำลึกถึงยุคเก่าก่อนไปแล้ว

รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2019 บอกเล่าเรื่องกระแสย้อนยุคซึ่งปรากฏขึ้นหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเมนูในร้านกาแฟชื่อดัง หรือสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีที่ตกแต่งให้เป็นแนวย้อนยุคไปสู่ยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) แม้แต่บริษัท Takara Tomy ผู้ผลิตของเล่นชื่อดังของญี่ปุ่นก็เข้าร่วมกับเขาด้วย โดยผลิตพัดลมไฟฟ้าย้อนยุคขนาดจิ๋ว พัดลมขนาดย่อส่วนนี้มีหน้าตาสุดคลาสสิกแบบที่บ้านเรือนในยุคโชวะเคยใช้งานกัน (ชมสินค้าที่ Amazon)

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นกันบ้าง คงต้องบอกว่า ของตกแต่งหรือกระแสสิ่งของย่อส่วนขนาดจิ๋ว (miniature) ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว แต่สิ่งที่ “พัดลม” ขนาดจิ๋วนี้ทำให้เกิดกระแสเพิ่มเติมขึ้นมาคือ กระแสในโลกไซเบอร์ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากต่างเข้ามาบอกเล่าความทรงจำว่าเคยพบเห็นพัดลมแบบนี้ในบ้านของปู่ย่าตายาย หรือพบเห็นในภัตตาคารยุคเก่าแก่อย่างในสมัยโชวะ

ผลิตภัณฑ์ขนาดจิ๋วชิ้นใหม่ที่เข้าร่วมกระแสย้อนยุคในญี่ปุ่นครั้งนี้มีขนาดประมาณ 17 เซนติเมตร สามารถปรับระดับความแรงของพัดลมได้ 2 ระดับ มีระบบตั้งเวลาทำงาน สามารถต่อสายแบบ USB ได้ พัดลมไฟฟ้านี้เป็นหนึ่งในไลน์สินค้ายุคโชวะของบริษัทดัง ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ขนาดจิ๋วย้อนยุคโชวะที่มีทั้งโทรทัศน์โบราณ เครื่องเล่นแผ่นเสียง และเครื่องเสียงโบราณ (คลิปชมภาพเพิ่มเติมจากเว็บไซต์บริษัท TAKARA ที่นี่)

ภาพสินค้าย่อส่วนสไตล์ย้อนยุคโชวะของบริษัท TAKARA (ภาพจาก https://www.takaratomy-arts.co.jp/specials/showa/)

ขณะที่กลยุทธ์เรื่อง “ย้อนอดีต” ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดของบริษัทต่างๆ มายาวนานแล้วเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่า รอบปีที่ผ่านมา กระแสโหยหาอดีต (ช่วงนี้เป็นยุคโชวะ) จะกลับมาได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

บทความวิเคราะห์เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเว็บไซต์ Japan Times โดยไมเคิล ฮอฟฟ์แมน (Michael Hoffman) อ้างอิงแนวคิดของอิวาน คราสเตฟ (Ivan Krastev) นักวิชาการบัลเกเรียนซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “อาซาฮี ชิมบุน” (Asahi Shimbun) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อิวานตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์เมื่อ 50 ปีก่อน (หมายถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) ว่า การรังเกียจสถานภาพ “ปัจจุบัน” (หมายถึงในสมัยนั้น) นำมาซึ่งความหวังสำหรับอนาคต แต่สำหรับอาการตะขิดตะขวงกับสถานภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ (ยุคปัจจุบัน) นำมาซึ่ง “การโหยหาอดีต”

สำหรับยุคโชวะของญี่ปุ่นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยช่วงต้น ค.ศ. 1926 เจ้าชายฮิโรฮิโต เป็นผู้สืบราชสมบัติของจักรพรรดิไทโช หลังจากที่พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต

ไม่นานนัก ญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่าญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น การเพิ่มจำนวนของประชากรรุ่นใหม่เริ่มท้าทายค่านิยมประเพณีดั้งเดิมแบบเก่าในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในชนบท คนรุ่นใหม่เริ่มเลือกคู่ครองของตนเองแทนการจัดหาโดยผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงแสดงออกมากขึ้น มีผู้ชื่นชอบการเต้นรำ กีฬา และภาพยนตร์ของตะวันตก

ในช่วง ค.ศ. 1930 เรียกได้ว่าเป็นช่วงวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร สืบเนื่องมาจากปัญหาภายในว่าด้วยเรื่องการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมือง ขณะที่บรรยากาศภายนอกก็มีความขัดแย้งกับจีน รัฐบาลพลเรือนแต่ละสมัยก็ขาดเสถียรภาพ มีช่วงระยะเวลาบริหารค่อนข้างสั้น ยุพา คลังสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกศึกษาบรรยายว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลพลเรือนเท่านั้น รัฐบาลทหารก็แทบไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน แนวคิดแบบชาตินิยม คลั่งชาติ และลัทธิทหารนิยม ผลักดันญี่ปุ่นให้เข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมญี่ปุ่นก็เปลี่ยนโฉมไปอีกครา การปฏิรูปที่ดินส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมการเกษตร ประชากรเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองและวัฒนธรรมมากขึ้น การศึกษาไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น ระบบการบริหารในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ลูกจ้างเริ่มมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น มีสหภาพแรงงานคอยช่วยเหลือ เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว แดนซามูไรสามารถผลิตและขายสินค้าและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการและการผลิต ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับตาหรือแม้แต่ต้องศึกษาแนวคิดการบริหารแบบญี่ปุ่น และท้ายที่สุดก็อาจกล่าวได้ว่า ก้าวตามทันฝั่งตะวันตกได้ กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจรุดหน้าและมั่นคง

ยุคสมัยโชวะกินเวลายาวนาน 64 ปี สิ้นสุดที่การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิฮิโรฮิโต ญี่ปุ่นเปลี่ยนยุคมาสู่ยุคสมัยเฮเซ (ค.ศ. 1989-2019) อันเป็นยุคของจักรพรรดิอะกิฮิโต ซึ่งถูกมองว่าเป็นจักรพรรดิสมัยใหม่ ก่อนพระองค์สละราชสมบัติเมื่อเดือนพ.ค. 2019 และก้าวเข้าสู่รัชสมัยเรวะ ในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

HOFFMAN, MICHAEL. “Is disgust with the status quo now feeding nostalgia for the past?”. Japan Times. Online. Published 1 JUN 2019. Access 4 JUN 2019. <https://www.japantimes.co.jp/news/2019/06/01/national/media-national/disgust-status-quo-now-feeding-nostalgia-past/>

“Miniature Retro Showa Era Fans Become Nostalgic Delight In Japan”. Grape. Online. Published 30 MAY 2019. Access 4 JUN 2019. <https://grapee.jp/en/116435>

ยุพา คลังสุวรรณ. ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งแรก. 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2562