อำลายุค “เฮเซ” ในญี่ปุ่น สมัยปรับจักรพรรดินิยมทางทหาร-การเมืองสู่ร่วมปันทุกข์-สุขของปชช.

จักรพรรดิ-จักรพรรดินีญี่ปุ่น ขณะเสด็จออกจากสนามบินฮาเนดะ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 (AFP PHOTO / KAZUHIRO NOGI)

การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิฮิโรฮิโตในวันที่ 7 เดือนมกราคม 1989 เป็นการสิ้นสุดรัชสมัยโชวะ (Showa) ซึ่งมีความยาวนานถึง 64 ปี ภาพพจน์ของจักรวรรดินิยมทางทหารและความรุนแรงได้ผ่อนคลายลง เจ้าชายอะกิฮิโตได้ขึ้นครองเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 125 ของประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 รัชสมัยของจักรพรรดิองค์ใหม่คือรัชสมัย “เฮเซ”

รัชสมัยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1989 เป็นต้นไป คําว่า “เฮเซ” หมายถึงสันติภาพทั้งในโลก และบนสวรรค์ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ จักรพรรดิอะกิฮิโต ทรงเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิสมัยใหม่ พระองค์ทรงปรารถนาที่จะปรับเปลี่ยนสถาบันจักรพรรดิให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งภายในและ ภายนอกประเทศ พระองค์เป็นจักรพรรดิองค์แรกที่มีโอกาสได้อภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชน

บทบาทที่จํากัดทางการเมืองดังกล่าวนี้มีหลายคนเห็นว่าเป็นบทบาทดั้งเดิมของจักรพรรดิญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ ในอดีตจักรพรรดิมิได้เป็น “ผู้ปกครอง” ที่แท้จริง หากเป็นเพียงสัญลักษณ์ภายใต้อํานาจจริงๆ ของกลุ่มการเมืองของตระกูลต่างๆ ในวัง

ถึงแม้จักรพรรดิจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นเทพอย่างที่เคยเชื่อกันมาในอดีตก็ตาม ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นจํานวนหนึ่งที่มีต่อองค์จักรพรรดิก็ยังคงเหมือนเดิม แม้การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิโชวะและการสถาปนาจักรพรรดิใหม่จะเป็นการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย แต่ก็สะท้อนความเชื่อที่มีต่อสถาบันจักรพรรดิว่ายังมีอยู่อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น

นักวิชาการกลุ่มหนึ่งและนักการเมืองพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนบทบาทและความรับผิดชอบของอดีตจักรพรรดิฮิโรฮิโตในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งคัดค้านการประกอบพิธีศพของจักรพรรดิฮิโรฮิโตและพิธีสถาปนาจักรพรรดิใหม่ด้วยพิธีกรรมทางศาสนาชินโต เพราะเกรงว่าจะเป็นการนําไปสู่การรื้อฟื้นจักรพรรดิให้กลับเป็นเทพเจ้า และทําให้เกิดการหันกลับไปใช้ประเพณีเก่ามาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมทางการเมืองให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง

องค์จักรพรรดิอะกิฮิโตเคยทรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โยมิอูริชิมบุนว่า จักรพรรดิไม่อยู่ในฐานะที่จะทําการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามประเพณีที่ผ่านมา จักรพรรดิอยู่ในฐานะเข้าร่วมแบ่งปันความทุกข์และความสุขของประชาชน

สมัยเฮเซเป็นสมัยที่ญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยนี้เห็นความจําเป็นที่จะต้องปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ของญี่ปุ่นใหม่…



หมายเหตุ
: คัดย่อเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี” โดย ยุพา คลังสุวรรณ สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547