พุทธเหมือนกัน ไฉนบางกรณีมี “วันวิสาขบูชา” คนละวันกัน-คนละความหมาย?

พระพุทธเจ้า ประสูติ
“พระพุทธเจ้าประสูติ” จิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสองภายในศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี

วันวิสาขบูชา ครูสอนให้ท่องมาแต่เด็กๆ ว่า “ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา เป็นที่พระพุทธเจ้า ประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน” แต่เอาเข้าจริง แล้วในบรรดาประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน “วันวิสาขาบูชา” กลับมีความหมายไม่ตรงกัน และกลับไม่ใช่วันเดียวกันอีกด้วย

นั่นเพราะศาสนาพุทธมีหลายนิกาย อย่างเถรวาทกับมหายาน วันวิสาขบูขาก็ไม่ใช่วันเดียวกันแล้ว

Advertisement

เว็บไซต์วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หัวเรื่อง นานาสาระเกี่ยวกับพุทธศาสนา บันทึกไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2542 สหประชาชาติประกาศให้ “วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก ครั้งนั้น (19 พ.ค. 2542) ที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า การจัดงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชาในประเทศไทยปีนี้ว่า เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในสองฝ่าย คือ การที่พระพุทธศาสนาทั้ง 2 ฝ่าย มหายาน เช่น จีน ญี่ปุ่น และเถรวาท เช่น ไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา ได้ร่วมกันจัดงานเป็นปีแรก

เหตุที่มหายาน-เถรวาทจึงจัดงานวิสาขบูชาคนละวัน เพราะนับ “วันประสูติ” ไม่ตรงกัน

“พระพุทธเจ้าประสูติ” จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดไชยทิศ กรุงเทพมหานคร

กล่าวคือ สำหรับเถรวาท วันประสูติ, วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ส่วนมหายานนั้น หนังสือ บทสวดทำวัตรเช้า-เย็น จีนนิกาย ในหัวข้อ“กำหนดปฏิทินวันสำคัญทางพระพุทธศานาของพระพุทธเจ้า, พระโพธิสัตว์, บูรพาจารย์ และงานพิธีประจำปี วัดโพธิ์แมนคุณาราม” ระบุว่า วันประสูติของพระพุทธเจ้า คือ วัน 8 ค่ำ เดือน 4, วันตรัสรู้ คือ วัน 8 ค่ำ เดือน 12 และวันปรินิพพาน คือ วัน 15 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งนับตามปฏิทินจันทรคติของจีน นั่นยังแสดงให้เห็นว่า “วันวิสาขบูชา” สำหรับฝ่ายมหายานนั้นเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการตรัสรู้และปรินิพพานแต่อย่างใด

นี่ คือความแตกต่างที่เกิดจากต่างนิกาย “เถรวาท-มหายาน”

หากในพุทธเถรวาทด้วยกันก็ยังมีความแตกต่างอีกด้วย เช่น ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน สำหรับประเทศไทยวันวิสาขบูชาก็เลื่อนไป เป็นวันเพ็ญเดือน 7 แทน แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ไม่ได้ถือคติเช่นนั้น และยังคงจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนก็ตาม

ส่วนกิจกรรมวันวิสาขบูชาที่เข้มแข็งนี้ เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 บันทึกว่า พระองค์ทรงมีพระราชปุจฉาถามกับคณะสงฆ์ว่า

“บริจาคทานรักษาศีลเจริญภาวนา ซึ่งได้บำเพ็ญมาเป็นนิจกาลนั้น ยังหาเต็มพระราชศรัทธาไม่ มีพระทัยปรารถนาจะใคร่ทรงบำเพ็ญพระรารชกุศล ให้มีผลวิเศษประเสริฐยิ่งที่พระองค์มิได้ทรงกระทำ เพื่อจะให้แปลกประหลาด จึงมีพระปุจฉาถามสมเด็จพระสังฆราช แลพระราชาคณะผูใหญ่ผู้น้อยถวายพระพรว่า

แต่ก่อนสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า กระทำสักการบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบุรณมี คือ วันเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันวิสาขนักขัตฤฏษ์ มาหยัญพิธีบูชาใหญ่ มีผลอานิสงส์มาก ยิ่งกว่าตรุษสงกรานต์ เหตุว่าเป็นวันสมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าประสูติได้ตรัสรู้ ปรินิพพาน…”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระบรมราชโองการให้ วันขึ้น 14 ค่ำ, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันพิธีวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงรักษาอุโบสถศีล 3 วัน, ปล่อยสัตว์ 3 วัน, ห้ามไม่ให้ผู้ใดฆ่าสัตว์เพสุราเมรัยใน 3 วัน, ถวายประทีปตั้งโคมเครื่องสักการบูชา 3 วัน, เกณฑ์ประโคมเวียนเทียนพระพุทธเจ้า 3 วัน ฯลฯ

นี่คือ “ความเหมือนที่แตกต่าง” ใน “วันวิสาขบูชา

 


ข้อมูลจาก

http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana42.htm  สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562

เศรษฐพงษ์ จงสงวน แปลและอธิบายความ. บทสวดทำวัตรเช้า-เย็น จีนนิกาย, สำนักพิมพ์ต้นน้ำ  2557

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เล่ม 2, องค์การค้าคุรุสภา 2505


แก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 พฤษภาคม 2562