เผยแพร่ |
---|
แข่ลีซอ หรือ ชาวลีซอ เป็นชนเผ่าหนึ่งของชนชาติโล-โล อย่างเดียวกันกับอะข่า (ก้อ) และลาฮู (มูเซอ) มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางต้นแม่น้ำสาละวิน ในเขตของมณฑลยูนนานตอนตะวันตกเฉียงเหนือ หรือทางทิศตะวันตก และตอนเหนือของรัฐกะฉิ่นแห่งสหภาพพม่า
สำหรับชาวลีซอในประเทศไทย อพยพเข้ามาจากเขตเชียงตุงและเมืองปั่น ซึ่งพบได้มากในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และมีอยู่ในเขตอำเภอแม่แตง, อำเภอพร้าว, อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮองสอน อำเภอแม่จัน, อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อำเภอแจ้ห่ม, อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ส่วนจังหวัดอื่นไม่ปรากฏมีชาวลีซออพยพไปอยู่
ชาวลีซอนั้นมีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประจำเผ่าอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น เครื่องแต่งกายประจำเผ่า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิต โดยเฉพาะการเที่ยวสาวและพิธีแต่งงานในแบบดั้งเดิมของชาวลีซอ
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ผู้เขียนหนังสือ “ชาวเขาในไทย” บรรยายวิธีการเที่ยวสาวและพิธีแต่งงานของชาวลีซอตามธรรมเนียมดั้งเดิมว่า หนุ่มสาวชาวลีซอมีวิธีการเที่ยวสาวต่างกับชาวเขาเผ่าอื่นตรงที่ว่า ชาวลีซอนิยมแสดงความรักกัน ณ ครกกระเดื่องตำข้าวกลางลานบ้าน หลังจากรับประทานอาหารค่ำแล้ว หญิงสาวสะพายกระบุงข้าวมาตำข้าวรอคอยชายหนุ่ม เสียงสากกระทบกับครกทำให้ชายหนุ่มอยู่ไม่สุข เขาจะหยิบเอาพิณ 3 สาย หรือที่เรียกว่า “ซือบือ” ขึ้นดีด เดินตรงมาหา บางคนร้องเพลงเกี้ยวหญิงสาว ดังเนื้อเพลงบทหนึ่งว่า
“ท่ามกลางแสงอันริบหรี่ของดวงดาว ข้าได้ผัดแป้งแต่งกายรีบมาหาเจ้า ยามดึกอย่างนี้ คนแก่เขานอนกอดกันหลับสบายอยู่ภายในบ้าน ไม่ได้ยินเสียงพิณที่ข้าดีด และเสียงครกที่เจ้าตำ ซึ่งดังพอได้ยินไปถึงสวรรค์หรอก เจ้าเป็นสาวเปรียบประดุจดอกไม้ซื้อเว้บานส่งกลิ่นหอมไปไกล หากไม่มีแมลงไต่ตอมเสียเลยก็หมดค่า
ดอกไม้เดียวไม่ใช่สําหรับแมลงตัวเดียว แมลงตัว เดียวย่อมดมกลิ่นดอกไม้ได้หลายๆ ดอกหวาดอะไรกับปลายขนไก่และปุยฝ้ายที่แตะแก้ม เพราะมันเป็นความสุขสุดยอดของมนุษย์ชายหญิง จงกระเถิบให้ข้าช่วยเจ้าตําข้าวเคียงข้างกับเจ้า เถอะ เมื่อเจ้าแต่งงานมีสามีไปแล้วจะได้ไม่รู้สึกเสียใจภายหลัง”
ถ้าหญิงสาวไม่ชอบชายหนุ่มผู้มาเกี้ยวพาราสี ณ ที่ตําข้าวด้วยก็จะพูดจาโต้ตอบพอเป็นพิธี แต่ไม่ยอมให้ชายหนุ่มกอดสัมผัสตนในขณะตําข้าว หากหญิงสาวชอบพอรักใคร่ก็จะปล่อยให้ชายหนุ่มช่วยตําข้าวกอดสัมผัสด้วย บางทีจะจูงมือไปแสวงหาความสุขร่วมกันตามป่าไม้รอบหมู่บ้านหรือตามยุ้งข้าว
นอกจากนี้ หนุ่มสาวยังมีโอกาสสนทนาในเวลาหญิงสาวไปไร่ร้องเพลงเกี้ยวโต้ตอบกัน ถึงได้เสียกันแล้วไม่แต่งงานก็ได้ ถ้าตกลงปลงใจจะร่วมทุกข์สุขเป็นสามีภรรยาตลอดไป ชายหนุ่มจะถอดกําไลแขนให้หญิงสาวคล้ายเป็นการหมั้น แล้วนัดพาหญิงสาวหนีไปอยู่บ้านของตนราว 3-4 คืน แล้วจึงให้บิดาและผู้ใหญ่ไปสู่ขอ
หากบิดามารดาฝ่ายหญิงบางรายทําเป็นเล่นตัวไม่ยอมยกบุตรสาวให้ ชายหนุ่มอาจต้องส่งเถ้าแก่หรือบิดาฝ่ายชายไปเจรจาสู่ขอตกลงการแลกเปลี่ยนต่างๆ สำหรับหญิงสาว เถ้าแก่หรือผู้ไปสู่ขอต้องนําเอากระทงใส่ดอกไม้, ธูป, เทียนขี้ผึ้งกับสุรา 1 ขวด เนื้อหมูหนักราว 5-6 กิโลกรัมกับเงินเหรียญ 3 ถึง 7 รูปี บางแห่งถึง 10 รูปี เงินจํานวนนี้แบ่งออกเป็นค่าน้ำนม 7 รูปี ค่าเถ้าแก่ผู้สู่ขอ 3 รูปี ส่วนเนื้อหมูนั้นฝ่ายชายต้องตัดเอาหัวหมูมอบให้เถ้าแก่ผู้ทําหน้าที่สู่ขอ
สำหรับพิธีแต่งงานของชนเผ่าลีซอนั้น เรียกว่า “อุดู้แถ่” หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “กินฟ้า” ก่อนวันแต่งงาน 1 วัน ฝ่ายชายจัดหาหมูตัวใหญ่ฆ่าเตรียมทําอาหารเลี้ยงชาวบ้าน
ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายหญิงจะฆ่าหมูตัวใหญ่ที่ตนเลี้ยงเตรียมไว้ฆ่าในพิธีแต่งงานเหมือนกัน โดยวันแรกฝ่ายเจ้าสาวเลี้ยงชาวบ้าน วันต่อมาถึงเป็นหน้าที่เจ้าบ่าวเลี้ยง
ทั้งนี้ ภายในงาน ชาวบ้านจะเล่นดนตรีดีดพิณ “ซือบือ” กับเป่าแคนน้ำเต้า พร้อมกับเต้นรำกระทืบเท้าจนฝุ่นตลบ เลี้ยงสุราข้าวโพด และอาหารตั้งแต่กลางวันจนถึงกลางคืน หนุ่มสาวชาวบ้านต่างรินสุราให้แก่กัน ผู้เฒ่าทําพิธีผูกเส้นด้ายข้อมือพร้อมกับกล่าวคําอวยพร
ขนบธรรมเนียมการแต่งงานนี้มีข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งคือ ถ้าครอบครัวใดมีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชายหนุ่มต้องไปอยู่บ้านหญิงหลังจากแต่งงานเพื่อสืบแซ่สกุลฝ่ายหญิง ในกรณีนี้ ฝ่ายชายไม่ต้องเสียเงินในการแต่งงาน คล้ายกับเป็นการแลกเปลี่ยนที่ฝ่ายชายยินยอมมาอยู่ทางฝ่ายตน
แต่เมื่อสามีตายลง หญิงผู้เป็นภรรยาต้องรับใช้บิดามารดาฝ่ายสามีตลอดไป ถ้าต้องการแต่งงานใหม่ ชายผู้ชอบพอรักใคร่จะต้องนำเงินมาสู่ขอเป็นเงินมากกว่าการแต่งงานของหญิงในครั้งแรก
อ้างอิง :
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. ชาวเขาในไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562