เปิดหลักฐานการค้นพบ “ส้วม” เก่าที่สุดในไทย เป็นส้วมแบบไหน?

ส้วม
ส้วม

การทำธุระหนักหรือเบาในอดีต คนไทยมักใช้สถานที่ตามธรรมชาติ เช่นตามชายป่า ชายทุ่ง มีข้อมูลพบว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 บางบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำลําคลอง หัวหน้าครอบครัวยังถ่ายใส่กระโถนแล้วให้บ่าวไพร่ไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง แต่หากค้นหลักฐานทางวิชาการแล้ว เชื่อว่า “ส้วม” ที่เก่าที่สุดเป็น “ส้วมพระ” สมัยสุโขทัย

ข้อมูลทางวิชาการและทางโบราณคดีในไทยชี้ให้เห็นว่ามีการจัดระบบระเบียบการขับถ่ายด้วยการสร้างสถานที่เฉพาะหรือ “ห้องส้วม” มานานอย่างน้อย 700 ปีก่อนแล้ว (เป็นอย่างน้อย) เพียงแต่จํากัดอยู่ในกลุ่มคนจํานวนหนึ่งเท่านั้น

ข้อมูลเหล่านี้มาจาก ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอธิบายถึงส้วมเก่าแก่ที่สุดในสยามไว้ในหนังสือ “มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม” ว่า ส้วมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในไทยเป็นส้วมสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือราว 700 ปีมาแล้ว

ส้วมสมัยสุโขทัยและ ส้วม ที่ว่าจำกัดอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าว คือ ส้วมพระ ของพระสงฆ์ เรียกว่า “วัจจกุฎี” หรือ “เร็จกุฎี” หรือ “ถาน” หลักฐานชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้างของวัจจกุฎีที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ แผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เขียง” ซึ่งใช้วางไว้เหนือหลุมรับอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น และเขียงไม้ 1 แผ่น

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายว่าเขียงทั้ง 3 แผ่น (จากสมัยสุโขทัย) มีลักษณะเหมือนกันคือ มีรูขนาดใหญ่เจาะทะลุ นักวิชาการคาดว่าใช้สําหรับปล่อยให้อุจจาระผ่านลงไปยังหลุมด้านล่าง ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ การแยกรางให้ปัสสาวะกับอุจจาระเช่นนี้ คาดว่าเพื่อแยกไม่ให้ปนกันเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์

วัจจกุฎีที่พบไม่ได้มีแค่เขียงหินเช่นเดียวกับที่พบในสุโขทัย แต่ยังพบร่องรอยของห้องส้วมและบ่อเกรอะหลงเหลืออยู่ในบริเวณวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง หรือราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 อีกด้วย

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ระบุว่า จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าการสร้างส้วมในอดีตนั้นจํากัดสร้างกันเฉพาะแต่ในวัดเท่านั้น

กรณีนี้นักวิชาการอธิบายว่า การสร้างวัจจกุฎีหรือห้องส้วมสําหรับพระสงฆ์เป็นไปตามข้อกําหนดของพระวินัย ไม่ได้สร้างขึ้นตามอําเภอใจของพระสงฆ์ ในพระวินัยปิฎกระบุลักษณะของวัจจกุฎีที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ใช้ รวมถึงกําหนดข้อห้ามไว้หลายข้อ โดยข้อปฏิบัติและรายละเอียดในการขับถ่ายยังกลายเป็นข้อกําหนดรูปลักษณ์ของวัจจกุฎีและเขียงสําหรับขับถ่าย

เหตุที่มีข้อกำหนดให้พระสงฆ์ใช้วัจจกุฎีในการขับถ่ายสืบเนื่องมาจากแต่เดิมพระภิกษุต่างพากันปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง ทําให้อารามสกปรกและมีกลิ่นเหม็น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้สงฆ์ปัสสาวะในที่ใดที่หนึ่ง และอนุญาตให้ใช้หม้อมีฝาปิดรับปัสสาวะ แต่การนั่งปัสสาวะลงในหม้อค่อนข้างยากลําบาก พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้ใช้เขียงหรือแผ่นรองรับเท้าเพื่อถ่ายปัสสาวะ

ส่วนการถ่ายอุจจาระ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทําหลุมสําหรับถ่ายอุจจาระ และเพื่อป้องกันไม่ให้ปากหลุมพัง จึงทรงอนุญาตให้กรุผนังและปากหลุมด้วยอิฐ หิน ไม้ อันเป็นที่มาของการกรุหลุมถ่ายอุจจาระด้วยอิฐหรือศิลาแลง และให้ทําเขียงรองรับเท้าเหนือปากหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้พลัดตกลงไปในหลุม นั่นเป็นที่มาของการสร้างเขียงศิลาแลงวางบนยกพื้นสูงนั่นเอง

สำหรับส้วมของคนทั่วไป ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ บรรยายว่า ไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยเฉกเช่นส้วมของพระภิกษุ คาดว่าชาวบ้านนิยมถ่ายทุกข์กันตามป่าตามทุ่งหรือถ่ายลงแม่น้ำคูคลอง จนภายหลัง ชาวบ้านทั่วไปจึงค่อยๆ สร้างส้วมกันบ้าง ซึ่งโดยเดิมแล้ว คนทั่วไปมักนิยมเรียกว่า “เว็จ” ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “วัจจกุฎี” อันมาจากวัจจกุฎีของพระสงฆ์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562